นายบัณฑิต มงคลวีราพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 4 ขอนแก่น (สศข.4) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) รายงานผลการติดตามสถานการณ์การผลิตยางพารา และอ้อยโรงงานของภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง ซึ่งพบว่า เนื้อที่ปลูกยางพารารวมทั้ง 4 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ และร้อยเอ็ด รวมประมาณ 230,000 ไร่ เป็นเนื้อที่กรีดได้ประมาณ 128,000 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา ร้อยละ 22 ผลผลิตที่ได้ประมาณ 23,600 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 18 และผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ 185 กิโลกรัม ลดลงจากปีที่ผ่านร้อยละ 4 ทั้งนี้ เนื่องจากประสบปัญหาฝนทิ้งช่วง และภัยแล้งในปีนี้ ทำให้ปริมาณน้ำฝนไม่เพียงพอ ส่งผลให้มีน้ำยางออกน้อย เกษตรกรจึงจำเป็นต้องปิดกรีดเร็วขึ้นกว่าทุกปี โดยเมื่อพิจารณาเป็นรายจังหวัด พบว่า
จังหวัดกาฬสินธุ์ มีเนื้อที่ปลูกยางพารามากที่สุดประมาณ 137,000 ไร่ เป็นเนื้อที่เปิดกรีดได้ประมาณ 65,000 ไร่ ผลผลิต 11,800 ตัน และผลผลิตต่อไร่ 182 กิโลกรัม รองลงมาได้แก่ จังหวัดขอนแก่น มีเนื้อที่ปลูกประมาณ 50,000 ไร่ เปิดกรีดแล้ว 38,000 ไร่ ให้ผลผลิต 6,600 ตัน และผลผลิตไร่ละ 174 กิโลกรัม ส่วนจังหวัดร้อยเอ็ด มีเนื้อที่ปลูกประมาณ 35,000 ไร่ เปิดกรีดแล้ว 21,520 ไร่ ผลผลผลิต 4,500 ตัน และผลผลิตต่อไร่ 210 กิโลกรัม และจังหวัดมหาสารคาม มีเนื้อที่ปลูกประมาณ 8,000 ไร่ เปิดกรีดแล้ว 3,880 ไร่ ผลผลิตประมาณ 770 ตัน และผลผลิตต่อไร่ 200 กิโลกรัม
นายบัณฑิต กล่าวต่อไปว่า สำหรับอ้อยโรงงานที่เกษตรกรกำลังตัดส่งโรงงาน ของจังหวัดขอนแก่น และกาฬสินธุ์ ในปีนี้ประสบปัญหาภัยแล้ง ทำให้ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ ของจังหวัดขอนแก่นเหลือเพียง 11.50 ตัน ลดลงจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 10 ส่วนจังหวัดกาฬสินธุ์ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ 11.20 ตัน ลดลงจากปีที่ผ่านมาประมาณร้อยละ 9 อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่าผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ทั้งยางพารา และอ้อยโรงงานของภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง ค่อนข้างต่ำกว่าผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ของทั้งประเทศ ซึ่งยางพาราเฉลี่ยอยู่ที่ไร่ละ 255 กิโลกรัม และอ้อยโรงงานเฉลี่ยไร่ละ 12.32 ตัน
ดังนั้น เกษตรกรผู้ที่จะลงทุนปลูกยางพาราในพื้นที่ใหม่ และอ้อยโรงงานในพื้นที่เดิม ควรพิจารณาสภาพความเหมาะสมของพื้นที่ปลูกหรือโซนนิ่ง ตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง การกำหนดเขตเหมาะสมสำหรับการปลูกข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน อ้อยโรงงานและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธุ์ 2556 ก่อนที่จะตัดสินใจลงทุนปลูกพืชเศรษฐกิจทั้ง 2 ชนิด เพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยงจากการขาดทุนในอนาคตได้ นายบัณฑิต กล่าวทิ้งทาย
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--