นายอภิชาต จงสุกล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงภาพรวมราคาสินค้าเกษตรซึ่งวัดจากดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ที่ไร่นาประจำเดือนมีนาคม 2556 ซึ่งเมื่อเทียบกับเดือนมีนาคมปีที่แล้ว (ปี 2555) พบว่า ภาพรวมลดลงร้อยละ 4.05 โดยสินค้าเกษตรที่มีราคา ลดลง ได้แก่ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน หอมแดงและกระเทียม โดย ยางพารา ราคาลดลง เนื่องจากความต้องการใช้ยางที่ชะลอตัวของประเทศผู้รับซื้อยางรายใหญ่ เช่น ประเทศจีน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป จากปัญหาทางด้านเศรษฐกิจที่ยังชะลอตัว ส่วนปาล์มน้ำมัน ลดลงเนื่องจากสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบมากกว่าปีที่ผ่านมา ด้านหอมแดง ราคาลดลงเนื่องจากส่งออกไปอินโดนีเซียได้น้อย และกระเทียม ราคาลดลงเนื่องจากคุณภาพไม่ดี
สำหรับสินค้าที่มีราคาปรับตัว สูงขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% มันสำปะหลัง สับปะรดโรงงาน หอมหัวใหญ่ สุกรและไข่ไก่ โดย ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ราคาสูงขึ้น เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ส่วนมันสำปะหลัง ราคาสูงขึ้น เนื่องจากจีนมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับปีนี้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการรับจำนำมากกว่าปีที่ผ่านมาในช่วงเดียวกัน ด้านสับปะรดโรงงาน ราคาสูงขึ้น แม้ว่าเป็นช่วงต้นฤดูเก็บเกี่ยว แต่ปัญหาภัยแล้งทำให้ผลผลิตน้อยกว่าปีที่ผ่านมา สำหรับหอมหัวใหญ่ ราคาสูงขึ้น เนื่องจากผลผลิตลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของ ปีที่ผ่านมา ส่วนสุกร และไข่ไก่ ราคาสูงขึ้น เป็นผลมาจากราคาอาหารสัตว์ที่สูงขึ้น ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น (Cost Push)
เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2556 พบว่า ดัชนีราคา ภาพรวมลดลง ร้อยละ 1.09 โดยสินค้าที่ราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ ยางพารา หอมแดง กระเทียม หอมหัวใหญ่ สุกรและไข่ไก่ โดยที่ ยางพารา ราคาปรับตัวลดลงตามตลาดล่วงหน้า TOCOM SICOM และ AFET ประกอบกับราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลดลง ส่วนหอมแดง กระเทียม และหอมหัวใหญ่ ราคาลดลงเนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดมาก สำหรับสุกรและไข่ไก่ ราคาลดลงเนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดมาก ประกอบกับเป็นช่วงปิดภาคเรียน
สำหรับสินค้าที่มีราคาปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ มันสำปะหลัง สับปะรดโรงงาน และปาล์มน้ำมัน โดยมันสำปะหลัง ราคาสูงขึ้นเนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง ประกอบกับราคาส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังมีแนวโน้มสูงขึ้น จากผลผลิตประเทศคู่แข่งใกล้หมด ประกอบกับประเทศคู่ค้าโดยเฉพาะจีนมีความต้องการผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง อย่างต่อเนื่อง และสับปะรดโรงงาน ราคาสูงขึ้น เนื่องจากผลกระทบจากภาวะภัยแล้ง ทำให้มีผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยลง และปาล์มน้ำมันราคาสูงขึ้นเนื่องจากสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบของมาเลเซีย ซึ่งเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ลดลง เพราะมีผลผลิตลดลง และมีการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบกึ่งบริสุทธิ์ได้มากขึ้น ทั้งนี้ คาดว่าเดือนเมษายน 2556 ดัชนีราคาสินค้าเกษตรจะลดลงเล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมีนาคม 2556 เนื่องจากข้าวนาปรังออกสู่ตลาดมากขึ้น และยางพารายังไม่มีปัจจัยที่ส่งผลให้ราคายางปรับตัวสูงขึ้น
เลขาธิการกล่าวเพิ่มเติมถึงดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรเดือนมีนาคม 2556 เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม ปี 2555 พบว่า ภาพรวมมีผลผลิตลดลงเล็กน้อย ร้อยละ 0.54 โดยสินค้าสำคัญที่ผลผลิตลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า สับปะรดโรงงาน หอมแดง กระเทียม และหอมหัวใหญ่ สำหรับสินค้าสำคัญที่ผลผลิตปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน สุกร ไก่เนื้อและไข่ไก่ และเมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2556 พบว่า ดัชนีผลผลิตภาพรวมเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.33 โดยสินค้าสำคัญที่ผลผลิตสูงขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า สับปะรดโรงงาน หอมแดง กระเทียม มันฝรั่ง หอมหัวใหญ่ ปาล์มน้ำมัน ไก่เนื้อ และไข่ไก่ ส่วนสินค้าสำคัญที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ มันสำปะหลัง ยางพารา และสุกร
อย่างไรก็ตาม สำหรับการคาดคะเนในเดือนเมษายน 2556 คาดว่า ดัชนีผลผลิตจะสูงขึ้นเล็กน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเมษายน ปี 2555 และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมีนาคม 2556 สำหรับ สินค้าสำคัญที่ออกสู่ตลาดมาก ในเดือนเมษายน 2556 ได้แก่ ข้าวนาปรัง สับปะรดโรงงาน ทุเรียน และลิ้นจี่
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--