นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์การผลิตและการตลาดของกระเทียม หอมแดง และหอมหัวใหญ่ในเดือนเมษายน 2556 ซึ่งจากการคาดการณ์การผลิตหอมแดง ปี 2555/56 พบว่า มีเนื้อที่เพาะปลูก 102,060 ไร่ ผลผลิต 215,033 ตัน และผลผลิตต่อไร่ 2,107กิโลกรัม เมื่อเทียบกับปี 2554/55 เนื้อที่เพาะปลูกลดลงร้อยละ 3 ส่วนผลผลิต และผลผลิตต่อไร่ลดลงร้อยละ 5.7 ร้อยละ 2.8 ตามลำดับ ซึ่งเนื้อที่เพาะปลูกและผลผลิตลดลง สาเหตุจากราคาหอมแดงแห้งใหญ่คละที่เกษตรกรขายได้ในปี 2555 มีแนวโน้มลดลง เฉลี่ยที่กิโลกรัมละ 22.15 บาท เกษตรกรจึงไม่ขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้น ส่วนผลผลิตออกสู่ตลาดในเดือนมีนาคม 2556 มีปริมาณ 59,649 ตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 26 ของผลผลิตหอมแดงทั้งหมด ด้านราคาที่เกษตรกรขายได้ พบว่า ราคาหอมแดงแห้งใหญ่ 7-15 วัน ณ เดือนเมษายน 2556 เฉลี่ยที่กิโลกรัมละ 22.00 บาท เพิ่มขึ้นจากเดือนมีนาคมที่กิโลกรัมละ 15.67 บาท คิดเป็นร้อยละ 40.4 เนื่องจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ได้เจรจากับอินโดนีเซียเพื่อผ่อนคลายมาตรการนำเข้าหอมแดงจากไทยทำให้การส่งออกปรับตัวสูงขึ้นส่งผลต่อราคาภายในประเทศสูงขึ้นตาม
ทั้งนี้ จากมาตรการเข้มงวดการนำเข้าหอมแดงของอินโดนีเซีย ทำให้ช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม 2556 การส่งออกหอมแดงไปยังอินโดนีเซียมีน้อยมาก กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้งกระทรวงพาณิชย์ จึงร่วมเจรจากับอินโดนีเซียเพื่อผ่อนคลายมาตรการการนำเข้าหอมแดงจากประเทศไทย ซึ่งอินโดนีเซียก็ได้เปิดตลาดให้มีการนำเข้าหอมแดงจากไทยไปอินโดนีเซีย โดยในเดือนเมษายน 2556 สามารถส่งออกหอมแดงไปได้ประมาณ 100 ตู้คอนเทนเนอร์ ทำให้ราคาหอมแดงภายในประเทศปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่ราคาหอมแดงแห้งเกษตรกรขายได้สูงขึ้นที่กิโลกรัมละ 28 บาท และเกษตรกรได้ขายหอมแดงให้พ่อค้าไปหมดแล้ว อย่างไรก็ตาม จากการที่ราคาหอมแดงในประเทศสูงขึ้น ทำให้มีพ่อค้าส่งออกหอมแดงไปอินโดนีเซียบางรายนำหอมแดงเวียดนามซึ่งมีหัวเล็กคุณภาพต่ำ และราคาถูกกว่าหอมแดงไทย ส่งออกไปยังอินโดนีเซียในนามของประเทศไทย ดังนั้น จึงควรที่จะมีการเข้มงวดตรวจสอบมาตรฐานการส่งออกหอมแดงที่มีคุณภาพต่ำเพื่อไม่ให้เสียภาพลักษณ์หอมแดงไทยในตลาดอินโดนีเซีย
การผลิตกระเทียม ปี 2555/56 พบว่า มีเนื้อที่เพาะปลูก 80,439 ไร่ ผลผลิต 80,020 ตัน ผลผลิตต่อไร่ 994 กิโลกรัม เมื่อเทียบกับปี 2554/55 เนื้อที่เพาะปลูกลดลงร้อยละ 2.7 ส่วนผลผลิตและผลผลิตต่อไร่ลดลงร้อยละ 6.2 และร้อยละ 3.5 ตามลำดับ โดยเนื้อที่เพาะปลูกลดลงทั้งทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากราคาที่เกษตรกรขายได้ในปี 2555 อยู่ในเกณฑ์ต่ำ และราคาพันธุ์กระเทียมมีราคาสูงขึ้น เกษตรกรจำเป็นต้องใช้เงินลงทุนสูงมากในการเพาะปลูก สำหรับผลผลิตออกสู่ตลาดในเดือนเมษายน 2556 มีปริมาณ 4,283 ตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 5.3 ของผลผลิตกระเทียมทั้งหมด ทั้งนี้ ราคากระเทียมสดคละที่เกษตรกรขายได้ เดือนเมษายน 2556 เฉลี่ยที่กิโลกรัมละ 15.11 บาท เพิ่มขึ้นจากกิโลกรัมละ 10.53 บาท ของเดือนเมษายน ปี 2555 คิดเป็นร้อยละ 43.4 และเพิ่มขึ้นจากกิโลกรัมละ 14.25 บาท ณ เดือนมีนาคม 2556 ร้อยละ 6 โดยขณะนี้เกษตรกรขายผลผลิตออกสู่ตลาดไปหมดแล้ว ทำให้ราคากระเทียมปรับตัวสูงขึ้นมาก
สำหรับการผลิตหอมหัวใหญ่ ปี 2555/56 พบว่า มีเนื้อที่เพาะปลูก 12,421 ไร่ ผลผลิต 50,928 ตัน ผลผลิตต่อไร่ 4,100 กิโลกรัม เมื่อเทียบกับปี 2554/55 เนื้อที่เพาะปลูกลดลงร้อยละ 3.9 ส่วนผลผลิตและผลผลิตต่อไร่ลดลงร้อยละ 6.1 และร้อยละ 2.2 ตามลำดับ สาเหตุที่เนื้อที่เพาะปลูกและผลลิตลดลง เนื่องจากราคาหอมหัวใหญ่ที่เกษตรกรขายได้ในปี 2555 มีราคาตกต่ำ และเกษตรกรใช้เมล็ดพันธุ์นอกระบบมาปลูกจึงได้ผลผลิตที่ไม่มีคุณภาพตามที่ตลาดต้องการ โดยผลผลิตออกสู่ตลาดในเดือนมีนาคม 2556 ปริมาณ 25,323 ตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 47.6 ของผลผลิตหอมหัวใหญ่ทั้งหมด ด้านราคาหอมหัวใหญ่เบอร์ 1 ที่เกษตรกรขายได้ เดือนเมษายน 2556 เฉลี่ยกิโลกรัมละ 9.83 บาท ราคาเพิ่มขึ้นจากกิโลกรัมละ 8.16 บาท ของเดือนมีนาคม 2556 ร้อยละ 20.4 เนื่องจากเกษตรกรขายผลผลิตไปเกือบหมดแล้ว มีเฉพาะบางรายที่ยังเก็บผลผลิตเพื่อเก็งกำไรราคา
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--