ร่วมเดินหน้ามาตรการรักษาเสถียรภาพราคายาง กษ. ลุยจัดทำต้นทุนยางให้เป็นเอกภาพ

ข่าวทั่วไป Friday May 3, 2013 13:31 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

เกษตรฯ เดินหน้าจัดทำต้นทุนการยางพาราให้เป็นเอกภาพและสอดคล้องกับความเป็นจริงมากที่สุด มอบ สศก. ดึงทุกหน่วยงานหารือร่วม และระดมความคิดเห็นอย่างครบมิติ เพื่อกำหนดข้อมูลต้นทุนการผลิตยางพาราให้ตรงกัน สู่การกำหนดมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ ในการรักษาเสถียรภาพราคายางได้อย่างเหมาะสม ก่อเกิดประโยชน์สูงสุดกับทุกฝ่าย

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การจัดทำต้นทุนการผลิตยางพารา” ว่า ปัจจุบันมีหลายหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ดำเนินการจัดทำต้นทุนการผลิตยางพารา ซึ่งมีหลักการ แนวคิด และวิธีการที่แตกต่างกัน ทั้งสถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร องค์การสวนยาง สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง และ สศก. ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ได้มีแนวทางเพื่อให้ข้อมูลต้นทุนการผลิตยางพาราเป็นข้อมูลเดียวกัน ดังนั้น จึงได้มอบหมาย สศก. จัดระดมความคิดเห็นเชิงวิชาการ หลักการ และแนวคิดในการจัดทำต้นทุนยางพารา โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งนักวิชาการจากสถาบันการศึกษา เข้าร่วมสัมมนาเพื่อกำหนดแนวทางการจัดทำต้นทุนการผลิตยางพาราของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้มีความเป็นเอกภาพ เกิดประโยชน์สูงสุดกับเกษตรกร ภาคการเกษตร และเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ สำหรับประเทศไทย ถือเป็นผู้ผลิตและส่งออกยางพาราเป็นอันดับหนึ่งของโลก มีศักยภาพการผลิตประมาณ 3.63 ล้านตัน หรือมากกว่าหนึ่งในสามของการผลิตยางของโลก มีอัตราการเพิ่มร้อยละ 8.25 ปริมาณผลผลิตยางดิบประมาณร้อยละ 90 ใช้เพื่อการส่งออกคิดเป็นมูลค่ากว่า 300,000 ล้านบาทต่อปี ที่เหลือประมาณร้อยละ 10 ใช้แปรรูปภายในประเทศและผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดต่างๆ ซึ่งผลผลิตข้างต้นได้จากเนื้อที่สวนยางที่สามารถเปิดกรีดได้แล้วประมาณ 13.81 ล้านไร่ ที่กระจายอยู่ในทุกภาคของประเทศ โดยมีเกษตรกรชาวสวนยางประมาณ 1.57 ล้านครัวเรือน ซึ่งภาคใต้ปลูกยางพารามากที่สุด รองลงมาได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคเหนือ ตามลำดับ ส่วนตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน มาเลเซีย ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ และยุโรป เป็นต้น

ด้านการผลิต ไทยมีต้นทุนการผลิตสูงกว่าประเทศผู้ผลิตรายใหญ่อื่นๆ เช่น อินโดนีเซีย เวียดนาม ส่วนการส่งออก มีต้นทุนสูงและมีตลาดแคบเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่งที่สำคัญ คือ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย รวมทั้งระบบตลาดที่ยังไม่เอื้อต่อการส่งออกและไม่สามารถกำหนดราคายางในตลาดโลกได้ ประกอบกับการใช้ยางเพื่อแปรรูปในประเทศยังมีข้อจำกัด และมีอัตราการขยายตัวอยู่ในระดับต่ำ ทำให้ไทยต้องพึ่งพาตลาดส่งออกเป็นหลัก และอยู่ในสถานะเสียเปรียบประเทศคู่แข่ง สำหรับต้นทุนการผลิตยางของเกษตรกรชาวสวนยางนั้น มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สาเหตุเนื่องจากประสิทธิภาพการผลิตยางของเกษตรกรต่ำและการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่ไม่เหมาะสม ดังนั้น เมื่อราคายางปรับตัวลดลง ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้ลดลง และในบางช่วงต้องประสบปัญหาการขาดทุน ซึ่งปัญหาข้างต้นเป็นสาเหตุให้เกษตรกรได้เรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือโดยการรักษาเสถียรภาพราคายาง

เลขาธิการ กล่าวทิ้งท้ายว่า อย่างไรก็ตาม ในการกำหนดมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐในการรักษาเสถียรภาพราคายางได้อย่างเหมาะสม และเกิดประโยชน์สูงสุดกับทุกฝ่าย รัฐจำเป็นต้องมีข้อมูลต้นทุนการผลิตยางพาราทีมีหลักวิชาการ และสอดคล้องกับความเป็นจริงมากที่สุด ดังนั้น การสัมมนาครั้งนี้ จะเป็นการร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเพื่อหารือข้อมูลร่วมกัน โดยหลักการจัดทำข้อมูลต้นทุนการผลิตยางพารามีหลายมิติเข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งมิติด้านเศรษฐศาสตร์ ด้านบัญชี และด้านกฎหมาย ซึ่งหน่วยงานที่มีหน้าที่ในมิติต่างๆ เหล่านี้ สามารถแลกเปลี่ยนมุมมองร่วมกันได้ ไม่ว่าจะเป็น สศก. ในด้านมุมมองมิติทางเศรษฐศาสตร์ หรือกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ในมิติด้านบัญชี และสำนักกฎหมายในมิติด้านกฎหมาย ทั้งนี้ ผลจากการสัมมนา ทาง สศก. จะ นำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ เพื่อประกอบการตัดสินใจในการกำหนดมาตรการและนโยบายด้านยางพารา ต่อไป

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ