ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ข้าว

ข่าวทั่วไป Monday May 20, 2013 14:45 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การตลาด

โครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/56 ครั้งที่ 2

1) มติ ครม. วันที่ 31 มี.ค. 56 รับทราบกรอบ ชนิดปริมาณ ระยะเวลา วิธีการ หลักเกณฑ์ และเงื่อนไขโครงการจำนำข้าวเปลือกปีการผลิต 2555/56 ครั้งที่ 2 และอนุมัติกรอบวงเงินและแหล่งเงินทุนหมุนเวียนรับจำนำข้าวเปลือก จำนวน 7 ล้านตัน เป็นจำนวนเงิน 105,000 ล้านบาท

2) ชนิดและราคารับจำนำข้าวเปลือก ปี 2555/56 ครั้งที่ 2 ให้กำหนดชนิดและราคารับจำนำข้าวเปลือก ปี 2555/56 ครั้งที่ 2 ณ ความชื้นไม่เกิน 15 % ดังนี้

(1) ข้าวเปลือกปทุมธานี (42 กรัม) ตันละ 16,000 บาท

(2) ข้าวเปลือกเจ้า :-

ข้าวเปลือกเจ้า 100% ตันละ 15,000 บาท

ข้าวเปลือกเจ้า 5% ตันละ 14,800 บาท

ข้าวเปลือกเจ้า 10% ตันละ 14,600 บาท

ข้าวเปลือกเจ้า 15% ตันละ 14,200 บาท

ข้าวเปลือกเจ้า 25% ตันละ 13,800 บาท

(3) ข้าวเปลือกเหนียว :-

ข้าวเปลือกเหนียว 10% เมล็ดยาว ตันละ 16,000 บาท

ข้าวเปลือกเหนียว 10% เมล็ดสั้น ตันละ 15,000 บาท

ทั้งนี้ ราคารับจำนำข้าวเปลือกปทุมธานี 1 ข้างต้น ให้ปรับเพิ่ม — ลด ตามจำนวนกรัม ในอัตรากรัมละ 200 บาท และราคารับจำนำข้าวเปลือกเหนียว ให้ปรับเพิ่ม — ลด ตามจำนวนกรัม โดยเมล็ดยาว ในอัตรากรัมละ 160 บาท และเมล็ดสั้น ในอัตรากรัมละ 150 บาท

3) เป้าหมายการรับจำนำ เนื่องจากผลผลิตส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ปริมาณรับจำนำข้าวเปลือกปีการผลิต 2555/56 ครั้งที่ 2 จึงกำหนดจำนวน 7 ล้านตัน จากที่ กษ.ประมาณการไว้เบื้องต้น จำนวน 9.167 ล้านตัน ส่วนปริมาณข้าวเปลือกที่เกษตรกรแต่ละรายจะจำนำได้ ต้องไม่เกินปีละ 2 ครั้ง/แปลง/ราย เกษตรกรสามารถปรับเพิ่มปริมาณรับจำนำได้อีกไม่เกิน 20% โดยให้เกษตรกรรับรองว่าเป็นผลผลิตของตนเอง และให้คณะอนุกรรมการระดับจังหวัด ตรวจสอบเกษตรกรทุกรายที่มีผลผลิตเกินกว่า 20% รวมทั้งเกษตรกรที่มีวงเงินรับจำนำเกินกว่า 500,000 บาท/ราย/ครั้ง

ทั้งนี้ในเรื่องของพันธุ์ข้าวที่รับจำนำ ไม่ให้เกษตรกรนำพันธุ์ข้าวเปลือกที่มีอายุน้อยกว่า 110 วัน ที่มีคุณภาพต่ำเข้าร่วมโครงการ และพันธุ์ข้าวตามที่กรมการข้าว จะประกาศกำหนดไม่ให้เข้าร่วมโครงการ

4) ระยะเวลา

(1) ระยะเวลารับจำนำ 1 ก.พ. — 15 ก.ย. 56

(2) ระยะเวลาไถ่ถอน 4 เดือน นับถัดจากเดือนที่รับจำนำ

(3) ระยะเวลาโครงการ 1 ต.ค. 55 — 31 ม.ค. 57

5) ผลการดำเนินงาน

จำนวนเกษตรกรที่รับเงินกับ ธ.ก.ส. (ตั้งแต่ วันที่ 1 ตุลาคม — 13 พฤษภาคม 2556)

                             - จำนวนสัญญา              1,413,654    สัญญา
                             - จำนวนตัน               14,211,467      ตัน
                             - จำนวนเงิน             228,804.614  ล้านบาท

ภาวการณ์ซื้อขายข้าวสัปดาห์นี้ ราคาข้าวที่เกษตรกรขายได้ค่อนข้างทรงตัวเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากบางพื้นที่ช่วงเก็บเกี่ยวข้าวกระทบฝน ส่งผลให้ข้าวมีความชื้นสูง

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลินาปี ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 15,732 บาท ราคาลดลงจากตันละ 15,797 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.41

ราคาข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ที่เกษตรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 9,824 บาท ราคาลดลงจากตันละ 9,833 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.08

ราคาข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาวนาปี ที่เกษตรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 13,439 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 13,386 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.40

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 15,350 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

3) ราคาส่งออก เอฟ.โอ.บี.

ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 1,214 ดอลลาร์สหรัฐฯ (35,758 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 1,223 ดอลลาร์สหรัฐฯ (35,865 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.74 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 107 บาท

ราคาข้าวปทุมธานี ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 991 ดอลลาร์สหรัฐฯ (29,189 บาท/ตัน)

ราคาลดลงจากตันละ 998 ดอลลาร์สหรัฐฯ (29,267 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.70 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 78 บาท

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 556 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,377 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 559 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,393 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.54 และลดลงในรูปเงินบาท ตันละ 16 บาท

ราคาข้าวสารเจ้า 25% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 550 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,200 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 554 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,246 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.72 และลดลงในรูปเงินบาท ตันละ 46 บาท

ราคาข้าวนึ่ง 5% ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 559 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,465 บาท/ตัน)

ราคาลดลงจากตันละ 563 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,510 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.71 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 45 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 29.4545 บาท

2. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในต่างประเทศ

สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

พม่า

วงการค้าข้าวระบุว่า ขณะนี้การส่งออกข้าวจากพม่าไปยังตลาดจีนมีปริมาณลดลง เนื่องจากผู้บริโภคในประเทศจีนนิยมบริโภคข้าวจากเวียดนามมากขึ้น เนื่องจากราคาข้าวของเวียดนามถูกกว่าเพราะเวียดนามสามารถส่งออกข้าวไปยังจีนโดยทางรถไฟผ่านตามแนวชายแดนที่ติดต่อกัน ทำให้จีนยินดีที่จะซื้อข้าวราคาถูกจากเวียดนาม

สำหรับการส่งออกข้าวในปีงบประมาณ 2555/56 (เมษายน-มีนาคม) มีจำนวนประมาณ 2.1 ล้านตัน

ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 40 จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 1.5 ล้านตัน และมากกว่าในปีงบประมาณ 2554/55 ที่พม่าส่งออกข้าวได้ประมาณ 750,000 ตัน ถึง 2.8 เท่า

กระทรวงพาณิชย์ คาดการณ์ว่า ในปีงบประมาณ 2556/57 พม่าอาจจะส่งออกข้าวได้ถึง 3 ล้านตัน ทั้งนี้พม่ามีนโนบายที่จะขยายตลาดส่งออกข้าวไปยังประเทศจีน ญี่ปุ่น และประเทศในยุโรป ซึ่งรวมถึงประเทศรัสเซีย สเปน โปรตุเกส และเบลเยี่ยม ปัจจุบันพม่าได้ลงนามกับอินโดนีเซีย เพื่อจัดหาข้าวให้แก่อินโดนีเซียปีละ 500,000 ตัน ในกรณีที่อินโดนีเซียมีความต้องการนำเข้าข้าว

ที่มา : Oryza.com, สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

ฟิลิปปินส์

สำนักงานสถิติการเกษตร (The Bureau of Agriculture Statistics; BAS) รายงานว่า สต็อกข้าว ณ วันที่ 1 เมษายน มีจำนวน 2.33 ล้านตัน (เพียงพอสำหรับการบริโภคประมาณ 68 วัน) ลดลงร้อยละ 12 จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาที่มีจำนวน 2.64 ล้านตัน โดยการลดลงส่วนใหญ่เป็นส่วนของสต็อกในคลังขององค์การอาหารแห่งชาติ (The National Food Authority; NFA)

อย่างไรก็ตาม สต็อกข้าวในเดือนเมษายนที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับจำนวน 1.94 ล้านตัน ในเดือนมีนาคม 2556 ทั้งนี้ สต็อกข้าวในคลังขององค์การอาหารแห่งชาติ (NFA) มีจำนวนประมาณ 580,000 ตัน (เพียงพอสำหรับการบริโภค 17 วัน) ลดลงร้อยละ 44 จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ขณะที่สต็อกข้าวในส่วนของภาคครัวเรือน (rice stocks in the households) มีจำนวนประมาณ 1.07 ล้านตัน (เพียงพอสำหรับการบริโภค 31 วัน) เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา และสต็อกข้าวในคลังของเอกชน (commercial warehouses) มีจำนวนประมาณ 670,000 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 27 จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (เพียงพอสำหรับการบริโภค 20 วัน)

ที่มา : Oryza.com, สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

อินเดีย

องค์การอาหารแห่งชาติ (The Food Corporation of India; FCI) ได้จัดหาคลังสินค้าเก็บธัญพืชสำหรับปีการผลิต 2555/56 ได้เพิ่มเติมประมาณ 4.13 ล้านตัน โดยส่วนใหญ่เป็นคลังของเอกชน ซึ่งทำให้ ณ วันที่ 1 เมษายน FCI มีพื้นที่ว่างสำหรับเก็บสินค้าธัญพืช (ข้าวและข้าวสาลี) รวมกันประมาณ 37.73 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.3 เมื่อเทียบกับจำนวน 33.6 ล้านตัน ในปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ คลังเก็บสินค้าของ FCI สามารถเก็บสินค้าธัญพืชได้ประมาณร้อยละ 50 ของความจุในการเก็บธัญพืชของประเทศ โดยปัจจุบันนี้อินเดียมีความสามารถในการเก็บสต็อกธัญพืชได้ประมาณ 71.8 ล้านตัน (คลังของ FCI 37.7 ล้านตัน และคลังของหน่วยงานอื่นๆอีก 34.1 ล้านตัน)

สำหรับปีนี้ คาดว่า ช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม สต็อกธัญพืชทั้งหมดของอินเดียที่อยู่ในคลังของรัฐบาลจะมีจำนวนสูงสุดประมาณ 80 ล้านตัน ซึ่งในช่วงดังกล่าวจะตรงกับช่วงฤดูมรสุมที่จะมีฝนตก อาจทำให้สต็อกธัญพืชบางส่วนที่รัฐบาลเก็บไว้ได้รับความเสียหายได้

องค์การอาหารแห่งชาติ รายงานว่า สต็อกข้าวในคลังของรัฐบาล ณ วันที่ 1 พฤษภาคม 2556 มีจำนวนประมาณ 34.73 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.5 เมื่อเทียบกับจำนวน 32.92 ล้านตันในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา แต่จะลดลงร้อยละ 2 จากเดือนเมษายน ซึ่งมีสต็อกจำนวน 35.47 ล้านตัน อย่างไรก็ตาม สต็อกข้าวในปัจจุบันยังคงมีมากกว่าสต็อกข้าวขั้นต่ำที่รัฐบาลกำหนดไว้ที่ 14.2 ล้านตัน (ณ วันที่ 1 เมษายน) ถึง 2.5 เท่า

สำหรับสต็อกธัญพืช (ข้าวและข้าวสาลี) ณ วันที่ 1 พฤษภาคม นั้น มีจำนวน 77.544 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9 เมื่อเทียบกับจำนวน 71.54 ล้านตันในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยเป็นสต็อกข้าวสาลีประมาณ 42.73 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 12 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา และเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 76.5 จากเดือนเมษายน เพราะในช่วงเดือนที่ผ่านมา รัฐบาลสามารถจัดหาข้าวสาลีจากเกษตรกรได้เป็นจำนวนมาก

ที่มา : Riceonline.com, สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 13 - 19 พฤษภาคม 2556--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ