นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากการสรรหาผู้อำนวยการองค์การการค้าโลก หรือ WTO คนใหม่ ได้ข้อสรุปอย่างเป็นทางการแล้วเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งผู้ที่ได้รับคัดเลือกจากสมาชิกองค์การการค้าโลกทั้ง 159 ประเทศ คือ นายโรแบร์โต อาเซเวโด เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรบราซิลประจำองค์การการค้าโลก ที่สามารถเอาชนะผู้สมัครอีก 8 คน จาก กานา เกาหลีใต้ คอสตาริกา เคนยา จอร์แดน นิวซีแลนด์ เม็กซิโก และอินโดนีเซีย โดยจะเข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการใหญ่ ต่อจากนายปาสกาล ลามี ที่จะครบวาระในวันที่ 31 สิงหาคม ที่จะถึงนี้ ซึ่งนับเป็นผู้อำนวยการการค้าโลกคนแรกที่เป็นชาวละตินอเมริกา และเป็นตัวแทนจากกลุ่มบริกส์ คือ ประเทศที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ประกอบด้วย บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ อีกทั้งยังเป็นประเทศที่อยู่ในกลุ่มเครนส์ และกลุ่มจี 20 ซึ่งอยู่ในกลุ่มผลประโยชน์เดียวกับไทย ที่ให้ความสำคัญกับการเปิดเสรีการค้าสินค้าเกษตร
เลขาธิการ สศก. กล่าวเสริมในเรื่องดังกล่าวว่า การมีผู้อำนวยการใหญ่ WTO ที่เป็นตัวแทนจากประเทศกำลังพัฒนานั้น ที่จะช่วยเสริมบทบาทของประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้ข้อเรียกร้องของประเทศกำลังพัฒนาในการเจรจารอบโดฮาได้รับการตอบสนองจากประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลาย และนับได้ว่าผู้อำนวยการใหญ่ WTO จะมีส่วนสำคัญในการกำหนดทิศทางการทำงานของ WTO ในอนาคต โดยจะมีวาระดำรงตำแหน่ง 4 ปี ซึ่งต้องจับตามองว่า ผู้อำนวยการ คนใหม่จะเดินหน้าให้ความสำคัญกับการปิดรอบการเจรจารอบโดฮาที่ประสบภาวะชะงักงันมากว่า 10 ปี ได้หรือไม่ หลังจากที่ปัจจุบัน สมาชิกต่างให้ความสนใจความร่วมมือในระดับทวิภาคีกับข้อตกลงการค้าเสรีระดับภูมิภาค รวมถึงจะสามารถผลักดันแนวคิดในการแก้ปัญหาการค้าโลก ที่ได้กล่าวไว้ระหว่างการชิงชัยว่า “ระบบการค้าโลกควรจะเน้นการเจรจา และคำนึงถึงสถานการณ์จริงในปัจจุบันควบคู่กัน ซึ่งแนวทางแก้ปัญหา คือการส่งเสริมการค้าและระบบการค้าเสรีให้เป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการพัฒนาเป็นนโยบายทางการค้า”อย่างไรก็ตาม ภารกิจแรกที่น่าจับตามอง คือ การประชุมรัฐมนตรีขององค์การการค้าโลก สมัยสามัญ ครั้งที่ 9 ณ เมืองบาหลี ประเทศอินโดนีเซียในปลายนี้ ซึ่งมีหลายวาระที่ผลักดันโดยประเทศกำลังพัฒนาและจะต้องสรุปให้ได้ในการประชุมดังกล่าว เช่น การออกระเบียบใหม่เพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหาร และการให้ข้อผ่อนปรนแก่ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด เป็นต้น
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--