1.1 การตลาด
โครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/56 ครั้งที่ 2
1) มติ ครม. วันที่ 31 มี.ค. 56 รับทราบกรอบ ชนิดปริมาณ ระยะเวลา วิธีการ หลักเกณฑ์ และเงื่อนไขโครงการจำนำข้าวเปลือกปีการผลิต 2555/56 ครั้งที่ 2 และอนุมัติกรอบวงเงินและแหล่งเงินทุนหมุนเวียนรับจำนำข้าวเปลือก จำนวน 7 ล้านตัน เป็นจำนวนเงิน 105,000 ล้านบาท
2) ชนิดและราคารับจำนำข้าวเปลือก ปี 2555/56 ครั้งที่ 2 ให้กำหนดชนิดและราคารับจำนำข้าวเปลือก ปี 2555/56 ครั้งที่ 2 ณ ความชื้นไม่เกิน 15 % ดังนี้
(1) ข้าวเปลือกปทุมธานี (42 กรัม) ตันละ 16,000 บาท
(2) ข้าวเปลือกเจ้า :-
ข้าวเปลือกเจ้า 100% ตันละ 15,000 บาท ข้าวเปลือกเจ้า 5% ตันละ 14,800 บาท ข้าวเปลือกเจ้า 10% ตันละ 14,600 บาท ข้าวเปลือกเจ้า 15% ตันละ 14,200 บาท ข้าวเปลือกเจ้า 25% ตันละ 13,800 บาท
(3) ข้าวเปลือกเหนียว :-
ข้าวเปลือกเหนียว 10% เมล็ดยาว ตันละ 16,000 บาท
ข้าวเปลือกเหนียว 10% เมล็ดสั้น ตันละ 15,000 บาท
ทั้งนี้ ราคารับจำนำข้าวเปลือกปทุมธานี 1 ข้างต้น ให้ปรับเพิ่ม — ลด ตามจำนวนกรัม ในอัตรากรัมละ 200 บาท และราคารับจำนำข้าวเปลือกเหนียว ให้ปรับเพิ่ม — ลด ตามจำนวนกรัม โดยเมล็ดยาว ในอัตรากรัมละ 160 บาท และเมล็ดสั้น ในอัตรากรัมละ 150 บาท
3) เป้าหมายการรับจำนำ เนื่องจากผลผลิตส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ปริมาณรับจำนำข้าวเปลือกปีการผลิต 2555/56 ครั้งที่ 2 จึงกำหนดจำนวน 7 ล้านตัน จากที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประมาณการไว้เบื้องต้น จำนวน 9.167 ล้าน ส่วนปริมาณข้าวเปลือกที่เกษตรกรแต่ละรายจะจำนำได้ ต้องไม่เกินปีละ 2 ครั้ง/แปลง/ราย กรณีที่เกษตรกรนำข้าวเปลือกมาเข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/56 ครั้งที่ 2 สูงกว่าปริมาณผลผลิตรวมที่ระบุในหนังสือรับรองหลังจากปรับเพิ่มอีกร้อยละ 20 (ความชื้น 15%) ของปริมาณผลผลิตตามที่ระบุในหนังสือรับรองแล้ว เกษตรกรจะต้องรับรองว่าข้าวเปลือกทั้งหมดเป็นของเกษตรกรเอง และให้คณะอนุกรรมการระดับจังหวัด ตรวจสอบเกษตรกรที่มีผลผลิตเกินกว่า 20% ทุกราย รวมทั้งตรวจสอบเกษตรกรที่มีวงเงินรับจำนำข้าวเปลือกที่เกินกว่า 500,000 บาท/ราย/ครั้ง ด้วย ตลอดจนให้คณะทำงานทำการสุ่มตรวจสอบด้วย
ทั้งนี้ในเรื่องของพันธุ์ข้าวที่รับจำนำ ไม่ให้เกษตรกรนำข้าวเปลือกที่ปลูกจากพันธุ์ที่มีอายุน้อยกว่า 110 วัน ที่มีคุณภาพต่ำเข้าร่วมโครงการ ตามที่กรมการข้าวจะประกาศกำหนดรายชื่อพันธุ์ข้าวไม่ให้เข้าร่วมโครงการ
4) ระยะเวลา
(1) ระยะเวลารับจำนำ 1 ก.พ. — 15 ก.ย. 56
(2) ระยะเวลาไถ่ถอน 4 เดือน นับถัดจากเดือนที่รับจำนำ
(3) ระยะเวลาโครงการ 1 ต.ค. 55 — 31 ม.ค. 57
5) ผลการดำเนินงาน
จำนวนเกษตรกรที่รับเงินกับ ธ.ก.ส. (ตั้งแต่ วันที่ 1 ตุลาคม — 13 พฤษภาคม 2556)
- จำนวนสัญญา 1,413,717 สัญญา - จำนวนตัน 15,437,705 ตัน - จำนวนเงิน 248,547.058 ล้านบาท
ภาวการณ์ซื้อขายข้าวสัปดาห์นี้ ราคาข้าวที่เกษตรกรขายได้สูงขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากปริมาณผลผลิตข้าวออกสู่ตลาดลดลง ประกอบกับเกษตรกรนำข้าวเข้าร่วมโครงการกับทางรัฐบาล ส่งผลให้
ราคาข้าวปรับตัวสูงขึ้น
1.2 ราคา
1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ
ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลินาปี ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 15,877 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 15,829 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.30
ราคาข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 9,783 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 9,756 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.28
ราคาข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาวนาปี ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 12,907 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 12,785 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.96
2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ
ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 15,350 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา
3) ราคาส่งออก เอฟ.โอ.บี.
ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 1,209 ดอลลาร์สหรัฐฯ (36,041 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 1,221 ดอลลาร์สหรัฐฯ (36,141 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.98 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 100 บาท
ราคาข้าวปทุมธานี ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 981 ดอลลาร์สหรัฐฯ (29,244 บาท/ตัน)
ราคาลดลงจากตันละ 991 ดอลลาร์สหรัฐฯ (29,333 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.01 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 89 บาท
ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 549 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,366 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 556 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,457 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.26 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 91 บาท
ราคาข้าวสารเจ้า 25% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 545 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,247 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 550 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,280 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.91 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 33 บาท
ราคาข้าวนึ่ง 5% ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 553 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,485 บาท/ตัน)
ราคาลดลงจากตันละ 559 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,546 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.07 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 61 บาท
หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 29.8102 บาท
สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ
เวียดนาม
สมาคมอาหารของเวียดนาม (The Vietnam Food Association; VFA) รายงานการส่งออกข้าวช่วงวันที่ 1 มกราคม—22 พฤษภาคม 2556 เวียดนามส่งออกรวม 2.488 ล้านตัน มูลค่า 1.08 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยปริมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.2 แต่มูลค่าลดลงร้อยละ 2.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2555 ที่ส่งออกได้ 2.411 ล้านตัน มูลค่า 1.104 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
สถานการณ์ราคาข้าวของเวียดนามในสัปดาห์ที่ผ่านมายังคงอ่อนตัวลง เนื่องจากอุปทานข้าวในตลาดเพิ่มขึ้น จากการที่ผลผลิตข้าวฤดูใหม่ (summer-autumn crop) ในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำโขงเริ่มทยอยออกสู่ตลาด โดยราคาข้าวขาว 5% อยู่ที่ระดับ 370-375 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน (11,104 บาทต่อตัน) ลดลงจากระดับ 375-385 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน (11,328 บาทต่อตัน) หรือลดลงร้อยละ 1.97 เมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งวงการค้าข้าวคาดว่าสถานการณ์ราคาข้าวจะมีความชัดเจนในช่วงเดือนมิถุนายน โดยในช่วงนี้ราคาข้าวยังคงมีแนวโน้มอ่อนตัวลง
ปัจจุบันผู้ส่งออกข้าวกำลังรอดูท่าทีของรัฐบาลเกี่ยวกับข้อเรียกร้องที่ผู้ค้าข้าวขอให้รัฐบาลขยายระยะเวลาของมาตรการให้เงินกู้ปลอดดอกเบี้ยแก่ผู้ค้าข้าวที่เข้าร่วมโครงการรับซื้อข้าว (winter-spring rice) จากเกษตรกรเพื่อเก็บสต็อกไว้เป็นเวลา 3 เดือน ซึ่งโครงการนี้เริ่มตั้งแต่วันที่ 20 กุมภาพันธ์ และสิ้นสุดในวันที่ 20 พฤษภาคม ที่ผ่านมา แต่จนถึงขณะนี้รัฐบาลยังไม่มีคำตอบ
ทางด้านกระทรวงเกษตร (The Ministry of Agriculture and Rural Development; MARD) คาดว่าผลผลิตข้าวในฤดูการผลิตฤดูร้อน (summer-autumn crop) บริเวณเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำโขงจะมีประมาณ 9.3 ล้านตัน และเพื่อเป็นการรักษาเสถียรภาพของราคาข้าวเปลือกที่เกษตรกรขายได้ กระทรวงฯ จึงได้เตรียมเสนอให้รัฐบาล
เริ่มโครงการรับซื้อข้าวในฤดูการผลิตฤดูร้อนจากเกษตรกร จำนวน 1 ล้านตันข้าวสาร (ประมาณ 2 ล้านตันข้าวเปลือก) เพื่อเก็บสต็อกไว้ โดยจะเสนอให้เริ่มโครงการตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน นี้
ที่มา : Riceonline.com, สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย
บังคลาเทศ
กระทรวงการอาหารของบังคลาเทศ (The Food Ministry) รายงานว่า ในปีงบประมาณนี้ (กรกฎาคม 2555 — มิถุนายน 2556) คาดว่าการนำเข้าข้าวจะลดลงเหลือ 27,700 ตัน หรือลดลงถึงร้อยละ 94 เมื่อเทียบกับปีงบประมาณที่ผ่านมา ที่นำเข้าข้าวประมาณ 515,000 ตัน และในปีงบประมาณ 2553/54 เคยนำเข้าสูงสุดถึง 1.5 ล้านตัน โดยการนำเข้าข้าวในปีนี้เป็นการนำเข้าโดยภาคเอกชนและส่วนใหญ่นำเข้าข้าวหอม (fragrant rice)
ทั้งนี้ บังคลาเทศนำเข้าข้าวลดลงเป็นผลมาจากการที่ผลผลิตข้าวในประเทศเพิ่มขึ้น ประกอบกับมีการบริโภคข้าวลดลง ซึ่งจากการสำรวจในปี 2553 ประชากรของบังคลาเทศมีการบริโภคข้าวคนละประมาณ 160 ก.ก.ต่อปี ซึ่งลดลงจากปี 2552 ที่มีการบริโภคข้าวคนละ 170 ก.ก.ต่อปี
แหล่งข่าวของรัฐบาลระบุว่าในปีงบประมาณ 2556/57 รัฐบาลบังคลาเทศยังไม่มีแผนที่จะนำเข้าข้าว ขณะที่กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) ได้คาดการณ์ว่า บังคลาเทศจะนำเข้าข้าวประมาณ 375,000 ตัน เนื่องจากมีการขยายตัวของจำนวนประชากร
ทางด้านกระทรวงเกษตรบังคลาเทศ (The Ministry of Agriculture) รายงานว่า ผลผลิตข้าวในปีการผลิต2555/56 (กรกฎาคม-มิถุนายน) คาดว่าจะมีปริมาณ 34.2 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 เมื่อเทียบกับปริมาณ 34 ล้านตันในปีการผลิต 2554/55 โดยคาดว่าในฤดูการผลิต Aus, Aman และ Boro จะมีผลผลิตประมาณ 2, 13.6 และ 18.6 ล้านตัน ตามลำดับ
ที่มา : Oryza.com , สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย
อินเดีย
องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) คาดการณ์ว่า ในปี 2556 อินเดียจะสามารถขึ้น เป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุด ด้วยปริมาณการส่งออก 8.3 ล้านตัน ซึ่งต่ำกว่าปริมาณส่งออกในปี 2555 ที่ 10.3 ล้านตัน สำหรับเวียดนาม และไทย FAO คาดการณ์ว่า จะมีปริมาณส่งออกที่ 7.8 และ 7.7 ล้านตัน ตามลำดับ โดยปริมาณการ ผลิตข้าวทั้งภูมิภาคเอเชียจะอยู่ที่ 452 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2555 ร้อยละ 2.2
ทั้งนี้ FAO ได้ตั้งข้อสังเกตว่า นโยบายส่งเสริมการผลิตและสภาพภูมิอากาศที่ดี จะทำให้เกษตรกรหันมาปลูกข้าวเพิ่มขึ้น ซึ่งจากการเพิ่มปริมาณการผลิตดังกล่าว อาจทำให้ไทยและอินเดียประสบปัญหาข้าวล้นสต็อก เนื่องจากยังไม่สามารถระบายข้าวที่รับซื้อเมื่อฤดูกาลปลูกที่ผ่านมาได้
ที่มา : Riceonline.com, สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย
--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 27 พ.ค.- 2 มิ.ย.2556--