นายสมพงศ์ จันทร์ทอง ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 8 สุราษฎร์ธานี (สศข.8) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยภายหลังการร่วมประชุมคณะทำงานสำรวจข้อมูลไม้ผลเศรษฐกิจภาคใต้ ถึงการประมาณการผลผลิตไม้ผลภาคใต้ตอนบนล่วงหน้าปี 2556 ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคมที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมโรงแรมพาวินเลียน อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ซึ่งในปี 2556 ไม้ผลภาคใต้ตอนบน 4 ชนิด (ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง) คาดว่าจะมีผลผลิตออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนพฤษภาคม — ตุลาคม 2556 โดยเมื่อประเมินสถานการณ์ ไม้ผลแต่ละชนิดเปรียบเทียบกับปี 2555 พบว่า
ทุเรียน มีเนื้อที่ให้ผล 192,853 ไร่ ลดลง 2,698 ไร่ หรือร้อยละ 1 มีปริมาณผลผลิต 185,407 ตัน เพิ่มขึ้น 15,159 ตัน หรือร้อยละ 9 ให้ผลผลิต 961 กิโลกรัมต่อไร่ เพิ่มขึ้น 90 กิโลกรัมต่อไร่ หรือร้อยละ 10 ทั้งนี้ คาดว่าจะมีปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดมากที่สุดในช่วงเดือนสิงหาคม 2556 หรือประมาณร้อยละ 47 ของผลผลิตทั้งหมด
มังคุด มีเนื้อที่ให้ผล 173,602 ไร่ ลดลง 1,151 ไร่ หรือร้อยละ 0.6 มีปริมาณผลผลิต 104,531 ตัน เพิ่มขึ้น 5,078 ตัน หรือร้อยละ 5 ให้ผลผลิต 602 กิโลกรัมต่อไร่ เพิ่มขึ้น 33 กิโลกรัมต่อไร่ หรือร้อยละ 6 และคาดว่า จะมีปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดมากที่สุดช่วงเดือนสิงหาคม ประมาณร้อยละ 30 ของผลผลิตทั้งหมด
เงาะ มีเนื้อที่ให้ผล 85,845 ไร่ ลดลง 3,263 ไร่ หรือร้อยละ 4 มีปริมาณผลผลิต 54,729 ตัน ลดลง 6,312 ตัน หรือร้อยละ 10 มีผลผลิต 638 กิโลกรัมต่อไร่ ลดลง 47 กิโลกรัมต่อไร่ หรือร้อยละ 44 ซึ่งปริมาณผลผลิตจะออกสู่ตลาดมากที่สุดช่วงเดือนสิงหาคมเช่นเดียวกัน ประมาณร้อยละ 44 ของผลผลิตทั้งหมด
ลองกอง มีเนื้อที่ให้ผล 94,621 ไร่ ลดลง 3,213 ไร่ หรือร้อยละ 3 มีปริมาณผลผลิต 54,943 ตัน เพิ่มขึ้น 2,921 ตัน หรือร้อยละ 6 และมีผลผลิต 581 กิโลกรัมต่อไร่ เพิ่มขึ้น 49 กิโลกรัมต่อไร่ หรือร้อยละ 9 ทั้งนี้ คาดว่าจะมีปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดมากที่สุดเดือนกันยายน 2556 หรือประมาณร้อยละ 37 ของผลผลิตทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม ปริมาณผลผลิตดังกล่าวอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้จากความแปรปรวนของสภาพอากาศ ทั้งภาวะฝนแล้งหรือฝนทิ้งช่วง รวมไปถึงปัญหาการขาดแคลนแรงงานในพื้นที่เพื่อดูแลรักษา การตัดแต่งช่อดอก และการเก็บเกี่ยว ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณและคุณภาพเปลี่ยนแปลงได้เช่นกัน นอกจากนี้ ผอ.สศข.8 ยังฝากขอความร่วมมือถึงพี่น้องเกษตรกรชาวสวนผลไม้ทุกคน โดยเฉพาะชาวสวนทุเรียน ที่ต้องช่วยกันตัดทุเรียนผลแก่ รวมทั้งช่วยกันดูแลกรณีที่ได้มีการขายเหมาสวนให้กับพ่อค้าไป เพื่อให้มีการตัดทุเรียนที่สุกและได้คุณภาพ เนื่องจากอาจมีผลกระทบทำให้ราคาตกต่ำ รวมทั้งกระทบต่อชื่อเสียงของประเทศกรณีที่จะส่งออกไปจำหน่ายจนส่งผลให้ผลผลิตถูกตีกลับคืนได้ นายสมพงศ์ กล่าวทิ้งท้าย
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--