นครราชสีมาเตรียมเปิดตัว “สุรนารีโมเดล” หวังเป็นต้นแบบแก่เกษตรกรปลูกมันสำปะหลัง

ข่าวทั่วไป Thursday July 4, 2013 13:30 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 5 เผย นครราชสีมา พื้นที่ที่มีการปลูกมันสำปะหลังมากที่สุดในประเทศ โดยมีแนวโน้มขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้น เนื่องจากศักยภาพการผลิตอยู่ในระดับดีกว่าภาคอื่นๆ ของประเทศ พร้อมเตรียมผุด “สุรนารีโมเดล” ในฤดูกาลเก็บเกี่ยวที่จะถึงนี้ หวังเป็นต้นแบบให้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังรายอื่นๆ ต่อไป

นายสมมาตร ยิ่งยวด ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 5 นครราชสีมา (สศข.5) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงสถานการณ์มันสำปะหลัง ซึ่งจากสถิติของ สศก. พบว่า จังหวัดนครราชสีมาเป็นจังหวัดที่ปลูก มันสำปะหลังกันมากที่สุดในประเทศ โดยปี 2556 มีเนื้อที่เพาะปลูก 1,778,598 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 25 ของพื้นที่ปลูกรวมทั้งประเทศ ส่วนเนื้อที่เก็บเกี่ยวมี 1,771,765 ไร่ ให้ผลผลิต 6,236,613 ตัน (คิดเป็นผลผลิตต่อเนื้อที่เก็บเกี่ยว 3,520 ก.ก./ไร่) ซึ่งในปัจจุบัน การปลูกมันสำปะหลัง มีแนวโน้มขยายพันธุ์ปลูกกันมากขึ้น โดยพื้นฐานแล้วการผลิตมันสำปะหลังโรงงานของจังหวัดนครราชสีมานั้น นับว่ามีประสิทธิภาพการผลิต รวมทั้งค่าเฉลี่ยของผลผลิตต่อไร่ ราคาขาย และต้นทุนการผลิตต่อไร่ อยู่ในระดับดีกว่าค่าเฉลี่ยของภาคอื่นๆ ในประเทศ

อย่างไรก็ตาม ความมั่นคงด้านอาหาร และพลังงาน รวมทั้งการแข่งขันทางการค้าในเวทีโลก ทำให้การผลิต มันสำปะหลังของประเทศไทยจำเป็นต้องมีการปรับตัว ต่อยอดให้การผลิตมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะจังหวัดนครราชสีมา ที่นับว่ามีพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังมากที่สุดในประเทศ ซึ่งการปราบโรคเพลี้ยแป้งให้หมดไปนั้นควรใช้ธรรมชาติบำบัด (ชีวะวิธี ) เพื่อป้องกันไม่ให้เพลี้ยแป้งกระจายไปสู่แหล่งปลูกอื่น โดยนำไปเผา และทำลายกิ่งพันธุ์ในพื้นที่ที่มีการระบาด รวมทั้งรณณรงค์ให้ความรู้ในการแช่ท่อนพันธุ์ด้วยสารเคมีป้องกัน กำจัดก่อนปลูก ซึ่งหากเกษตรกรพึ่งเริ่มปลูกไม่เกิน 4 เดือน ควรเผาทำลายต้นมันสำปะหลังทั้งหมด แต่ถ้าช่วงอายุมันอยู่ระหว่าง 5 — 8 เดือน จะต้องใช้ชีวะวิธีร่วมกับการใช้สารเคมี ทั้งนี้ หากช่วงอายุมากกว่า 8 เดือน ให้รีบเก็บเกี่ยว พร้อมเผาทำลายต้นมันในแปลง

นอกจากนี้ การประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรรู้จักปลูกพืชหมุนเวียน เช่น ข้าวโพด อ้อย เพื่อตัดวงจรการระบาดของเพลี้ยแป้งก็นับเป้นสิ่งสำคัญ และส่งเสริมให้มีการเพิ่มประสิทธิภาพการปลูกโดยการถ่ายทอดเทคโนโลยี การใช้ท่อนพันธ์ ในอัตราที่เหมาะสม การใช้ปุ๋ยเคมี ตามความต้องการของดิน และพืช ใช้ระบบน้ำหยดในแปลง รวมทั้งควรส่งเสริมให้เกษตรกรได้รับข้อมูลข่าวสาร รู้จักคิดวิเคราะห์ข้อมูลนำมาปรับใช้กับฟาร์มตนเองได้ ทั้งด้านการผลิตและการตลาดอย่างเหมาะสม อีกทั้งรัฐบาลควรสนับสนุนให้มีการใช้มันสำปะหลังในประเทศ เพิ่มมากขึ้น โดยนำไปเป็นส่วนประกอบในการผลิตอาหารสัตว์ แทนข้าวโพด ใช้ในการผลิตเอทานอล และแปรรูปอื่นๆ เพิ่มมากขึ้นเช่น การทำเป็นสารที่มีคุณสมบัติเป็นกาว ใช้ในอุตสาหกรรมไม้อัด กล่องกระดาษ ผงชูรส วุ้นเส้น แอลกอฮอล์ เป็นต้น

          นายสมมาตร กล่าวเพิ่มเติมว่า  ทั้งนี้ สศข.5 ยังได้เข้าร่วมงานที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) จังหวัดนครราชสีมาจัดขึ้น ซึ่งได้เปิดตัว “สถาบันมันสำปะหลังสุรนารี”  เมื่อวันที่ที่ 20-23 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยเล็งใช้วิทยาการ งานวิจัย และเทคโนโลยี ถ่ายทอดสู่ผู้ผลิตตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ จากการเพิ่มผลผลิต ไปจนถึงการสร้างมูลค่าเพิ่ม         ต่อพ่อค้าและนักวิชาการจากต่างประเทศที่เป็นคู่ค้ามันสำปะหลังกับประเทศไทยและจากประเทศที่ปลูกมันสำปะหลังทั้งในทวีปเอเชียและทวีปแอฟริกา รวมทั้งเกษตรกรและภาคอุตสาหกรรมของไทย นอกจากนี้ ยังมีการประชุมสัมมนาและนิทรรศการในหัวข้อ “มหัศจรรย์แห่งพืชเศรษฐกิจสีเขียว มันสำปะหลัง” ซึ่งได้มุ่งหวังให้เป็นโมเดล ด้านการเพิ่มผลผลิต เน้นทางด้านการบริหารจัดการดินและปุ๋ย การให้บริการวิเคราะห์ดินและใบ เพื่อให้มีการใช้ปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพในปริมาณที่มันสำปะหลังต้องการ พร้อมทั้งให้บริการวิชาการด้านวิเคราะห์โรคและแมลงอย่างครบวงจร ซึ่งขณะนี้ได้เข้าไปถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังในพื้นที่ ต. สุรนารี อ.เมือง จ.นครราชสีมา โดยมุ่งหวังจะให้เป็นโมเดล เพื่อมุ่งหวังให้เกิดเป็น “สุรนารีโมเดล”  ในฤดูกาลเก็บเกี่ยวที่จะถึงนี้ อันจะเป็นต้นแบบให้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังรายอื่นๆ ต่อไป

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ