เร่งเครื่องโครงการปลูกอ้อยในนาข้าว จ.กำแพงเพชร หวังยกระดับการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างคุ้มค่า

ข่าวทั่วไป Thursday July 18, 2013 14:02 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

เกษตรฯ ขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์ที่ดินด้านเกษตรกรรม เข็นโครงการส่งเสริมการปลูกอ้อยในพื้นที่ปลูกข้าวนาปีจังหวัดกำแพงเพชร ปี 2557-2560 ใน 11 อำเภอ ตั้งเป้าในปีแรก เกษตรกรจำนวน 2,760 ราย พื้นที่ 55,200 ไร่ หวังส่งเสริมการปลูกอ้อยโรงงานและลดการทำนาในพื้นที่ไม่เหมาะสม มีแหล่งผลิตขยายอ้อยพันธุ์ดีสะอาดใช้ในชุมชนอย่างเป็นระบบและยั่งยืน

นายโฆสิต วิโรจน์เพ็ชร์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 12 นครสวรรค์ (สศข. 12) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงการร่วมประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์ที่ดินด้านเกษตรกรรมจังหวัดกำแพงเพชร เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2556 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมทุ่งเศรษฐี ศาลากลางจังหวัดกำแพงเพชร เพื่อพิจารณาแนวทางการดำเนินการโครงการส่งเสริมการปลูกอ้อยในพื้นที่ปลูกข้าวนาปี จังหวัดกำแพงเพชร โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร (นายวันชัย สุทิน) เป็นประธานการประชุม วัตถุประสงค์ของโครงการเพื่อส่งเสริมการปรับเปลี่ยนพื้นที่นาเป็นปลูกอ้อยโรงงานเพื่อลดการทำนาในพื้นที่ไม่เหมาะสม พัฒนาระบบการผลิตขยายและกระจายพันธุ์อ้อยสู่เกษตรกรอย่างยั่งยืน โดยส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถผลิตขยายพันธุ์อ้อยหมุนเวียนใช้ในชุมชน พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพิ่มผลผลิตอ้อยในพื้นที่ปลูกข้าวนาปี มีกำหนดแผนโครงการตั้งแต่ปีงบประมาณ 2557-2560 โดยกำหนดพื้นที่เป้าหมายใน 11 อำเภอ ได้แก่ อ.โกสัมพีนคร อ.ขาณุวรลักษบุรี อ.คลองขลุง อ.คลองลาน อ.ทรายทองวัฒนา อ.ไทรงาม อ.บึงสามัคคี อ.ปางศิลาทอง อ.พรานกระต่าย อ.เมืองกำแพงเพชร และ อ.ลานกระบือ เป้าหมายเกษตรกรจำนวน 2,760 ราย พื้นที่ 55,200 ไร่ ในปีแรก และเพิ่มเป้าหมายเกษตรทุกปีให้ได้ 14,200 ราย รวมพื้นที่ 300,000 ไร่ ในปี 2560

สำหรับแนวทางการดำเนินโครงการ ประกอบไปด้วย การประชุมเพื่อวางแผนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกำหนดภายในเดือนสิงหาคมนี้ ได้แก่ กรมพัฒนาที่ดิน กรมวิชาการเกษตร โรงงานน้ำตาล พาณิชย์จังหวัด ดำเนินการถ่ายทอดความรู้ให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบระดับจังหวัดและอำเภอ การถ่ายทอดความรู้แก่เกษตรกร เรื่องเทคโนโลยีการผลิตอ้อยโดยการเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนการผลิตอ้อยแบบมีส่วนร่วมตามกระบวนการ โรงเรียนเกษตรกร 2 ครั้ง การจัดทำแปลงส่งเสริมการลดต้นทุนการผลิตอ้อย โดยสนับสนุนปัจจัยการผลิต นอกจากนี้ ยังมีการจัดทำเอกสารการผลิตอ้อยคุณภาพ การประชาสัมพันธ์และการจัดงานรณรงค์การลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มผลผลิตอ้อย พร้อมติดตามผลการดำเนินงาน เป็นต้น

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว เป็นโครงการที่ผลักดันนโยบายของรัฐบาลในการใช้ประโยชน์ที่ดินด้านเกษตรกรรม ให้เหมาะสมกับพื้นที่และตรงกับความต้องการของตลาด (Zoning) เป็นการปรับระบบการผลิตสินค้าเกษตรจากข้าวนาปีเป็นอ้อยโรงงาน โดยใช้ข้อมูลจากการวิเคราะห์เขตความเหมาะสมของพืชแต่ละชนิด ซึ่งจากสภาวะฝนทิ้งช่วง และภัยแล้งที่เกิดอย่างต่อเนื่อง รัฐจึงจำเป็นต้องหาพืชอื่นที่ให้ราคาและผลตอบแทนในระดับเดียวกับข้าวหรือมากกว่า ซึ่งอ้อยเป็นพืชที่สามารถทดแทนข้าวได้เป็นอย่างดี เนื่องจากเป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศแล้ว และเป็นพืชอาหารสำหรับบริโภคทั้งภายในประเทศและส่งออก มีโรงงานน้ำตาลรองรับและมีความต้องการผลผลิตอ้อยเข้าโรงงาน เป็นจำนวนมาก ประกอบกับการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีการกำหนดเขตปลูกพืชที่เหมาะสม อีกทั้งรัฐมีนโยบาย ปรับลดพื้นที่นาข้าว อย่างไรก็ตามคาดว่าผลสำเร็จของโครงการดังกล่าว จะช่วยให้เกษตรกรได้รับการถ่ายทอดความรู้ มีการรวมกลุ่มอย่างเข้มแข็ง สามารถวิเคราะห์สถานการณ์และสามารถตัดสินใจในการปรับเปลี่ยนพืชให้เหมาะสม กับพื้นที่ได้อย่างถูกต้องและมีเหตุผลบนพื้นฐานของความเข้าใจอย่างแท้จริง มีแหล่งผลิตขยายอ้อยพันธุ์ดีสะอาด หมุนเวียนใช้ในชุมชนอย่างเป็นระบบและยั่งยืนรองรับการขยายพื้นที่ปลูกอ้อยเพื่อทดแทนการปลูกข้าวต่อไป

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ