สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ร่วมเดินหน้า ปั้นโครงการผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์คุณภาพเพื่อ
การส่งออกและพืชหลังนาในเขตทุ่งหมาหิว จ.อุบลราชธานี วางแผน 5 ปี ครอบคลุม 4 อำเภอ สู่การเป็นต้นแบบพัฒนาการเกษตรพื้นที่เฉพาะ มั่นใจ โครงการฯ จะช่วยเพิ่มรายได้
เกษตรกร และดันภาพรวมผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคการเกษตร
จังหวัดอุบลราชธานีเพิ่มขึ้น
นายฉัตรชัย เต้าทอง ผู้อำนวยการ
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 11 อุบลราชธานี (สศข.11)
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยหลังการประชุมหารือร่วมเพื่อยกร่างโครงการผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์คุณภาพเพื่อ
การส่งออกและพืชหลังนาในเขตทุ่งหมาหิว
จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่ง สศก. โดยสำนักนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตร และ สศข.11 ได้ร่วมกับหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานในท้องถิ่นทั้งภาครัฐและเอกชน เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคมที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมสำนักชลประทานที่ 7 อำเภอเมือง
จังหวัดอุบลราชธานี โดยที่ประชุมได้ยกร่างการดำเนินโครงการฯ 5 ปี (ปีงบประมาณ 2558 - 2562) มีวัตถุประสงค์โครงการเพื่อให้
เกษตรกรอยู่ดี กินดี สังคมดี ตั้งเป้า
เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการมีรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 20 คือ จากเดิม 35,000บาท/ราย/ปี เพิ่มเป็น 42,000 บาท/ราย/ปี และเพิ่มพื้นที่ชลประทานอีก 100,000 ไร่ ซึ่งมีขอบเขตพื้นที่ในการพัฒนาทุ่งหมาหิวครอบคลุมพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง อำเภอตาลสุม อำเภอดอนมดแดง และอำเภอเหล่าเสือโก๊ก รวมพื้นที่การเกษตรโดยประมาณ 572,508 ไร่ และพื้นที่ทำนา 456,968 ไร่
สำหรับกิจกรรมของโครงการฯ มีกิจกรรมที่จะดำเนินการส่งเสริมพร้อมเป้าหมาย คือ ผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์ มีพื้นที่เพาะปลูก 1 แสนไร่ มูลค่าเพิ่ม 200 ล้านบาท ปลานิล พื้นที่ 5 พันไร่ มูลค่าเพิ่ม 100 ล้านบาท พืชหลังนา พื้นที่ 5 หมื่นไร่ มูลค่าเพิ่ม 299.75 ล้านบาท มันสำปะหลังพื้นที่ 1 หมื่นไร่ มูลค่าเพิ่ม 37.5 ล้านบาท และอ้อยพื้นที่ 1 หมื่นไร่ มูลค่าเพิ่ม 31.25 ล้านบาท ทั้งนี้ คาดว่าเมื่อนำไปสู่การปฏิบัติแก่เกษตรกรในพื้นที่เป้าหมาย จะส่งให้ภาพรวมผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคการเกษตรจังหวัดอุบลราชธานีเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ เชื่อว่าโครงการดังกล่าว จะเกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรเป็นวงกว้าง และสามารถเป็นต้นแบบในการพัฒนาการเกษตรพื้นที่เฉพาะของจังหวัดอุบลราชธานีได้เป็นอย่างดี ซึ่ง สศข.11 จะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน และองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น จัดประชาคมเกษตรกรในพื้นที่ทั้ง 4 อำเภอเพื่อสำรวจความต้องการของเกษตรกรและความพร้อมของหน่วยงานที่ร่วมบูรณาการ จัดทำพิมพ์เขียว (BLUEPRINT) พัฒนาพื้นที่ทุ่งหมาหิวต่อไป
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--