ไทยร่วมประชุม PPFS MC ดึงจุดเด่นเกียวโต เล็งพัฒนาโครงการเมืองเกษตรสีเขียว

ข่าวทั่วไป Friday July 26, 2013 13:56 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

ไทยร่วมประชุม The 2nd Policy Partnership on Food Security Management Council (PPFS MC) ณ ประเทศญี่ปุ่น เดินหน้าสร้างความมีส่วนร่วมของเกษตรกรเพื่อบรรลุความมั่นคงอาหาร ดึงจุดเด่นการส่งเสริมการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของเกียวโตแบบ Eco-Farmer ปรับสู่โครงการพัฒนาเมืองเกษตรสีเขียวของกระทรวงเกษตร

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังร่วมประชุม The 2nd Policy Partnership on Food Security Management Council (PPFS MC) ณ เมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณา Road Map on Food Security toward 2020 (version 2013) อย่างเสร็จสิ้นสมบูรณ์ นอกจากนี้ ยังพิจารณาร่าง Inputs ที่จะเสนอให้ใส่ใน Leaders’ Statement ภายใต้ประเด็นหลักคือ การสร้างความมีส่วนร่วมของเกษตรกรเพื่อบรรลุความมั่นคงอาหาร รวมทั้งพิจารณาร่าง Inputs สำหรับ PPFS 2014 โดยประเด็นสำคัญของ Inputs PPFS 2014 ได้แก่ การกำหนดองค์ประกอบสำหรับโครงสร้างระบบอาหาร การจัดตั้งกลไกและข้อกำหนดสำหรับความร่วมมือต่างๆ ในระดับปฏิบัติงาน การพัฒนาและสร้างการมีส่วนร่วมในการประชุม การจัดประชุมเฉพาะภาคเอกชน โดยมีผู้แทนภาครัฐร่วมเป็นผู้สังเกตการณ์ และการปรับเปลี่ยนคณะทำงานในปัจจุบันให้มีโครงสร้างที่ชัดเจนและมีประสิทธิภาพในการดำเนินงาน

นอกจากนี้ เลขาธิการ สศก. และคณะ ยังได้เข้าพบ Mr. Kazuhiko ODA, Director General, Department of Agriculture, Forestry and Fisheries จังหวัดเกียวโต ณ ที่ทำการจังหวัดเกียวโต ในวันที่ 12 กรกฎาคม 2556 เพื่อหารือเกี่ยวกับแนวทางและมาตรการส่งเสริมการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยฝ่ายไทยประสงค์ที่จะศึกษากรณีตัวอย่างของจังหวัดเกียวโตเพื่อใช้เป็นแนวทางในการเตรียมการปรับทิศทางภาคการเกษตรของไทยตามประเด็นยุทธศาสตร์ภายใต้แผนพัฒนาการเกษตรของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการส่งเสริมการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีโครงการพัฒนาเมืองเกษตรสีเขียว (Green Agricultural city) ที่สอดรับกับยุทธศาสตร์ประเทศเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตาม จังหวัดเกียวโต มีพื้นที่การเกษตรจำกัด พืชสำคัญหลักคือข้าวและผัก ซึ่งจังหวัดมีนโยบายที่เน้นการส่งเสริมการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่สอดคล้องกับนโยบายประเทศ ซึ่งตัวอย่างมาตรการที่ดำเนินการและประสบผลสำเร็จ ได้แก่ 1) การลดการใช้ยาฆ่าแมลงและลดการใส่ปุ๋ยลงร้อยละ 30 สามารถติดเครื่องหมายรับรองสินค้าเกษตรของจังหวัดเกียวโต บนบรรจุภัณฑ์ที่จำหน่ายได้ 2) ปลูกพืชระหว่างตึก เป็นแปลงเล็ก โดยไม่ใช้สารเคมี 3) จัดการประกวดเกษตรกรประจำปี เกษตรกรที่ได้รับรางวัลเป็นเกษตรกรที่ปลูกพืชที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เกษตรกรที่พัฒนาเทคนิคทางการเพาะปลูก เช่น ปลูกพืชที่มีลำต้นสูงเพื่อป้องกันแมลงให้กับพืชผักต้นเตี้ยใช้เทคนิคระบบนิเวศน์วิทยา คือ ใช้นกกินแมลงศัตรูพืช และ 4) ส่งเสริมการตลาด เช่น ส่งเสริมการจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตร ณ ตลาดเกษตรกร จัดตั้ง Eco-Farmer Fan club เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างเกษตรกร ศึกษาดูงานพื้นที่ทำการเกษตร และให้ผู้บริโภคได้ทดลองบริโภคและเปรียบเทียบรสชาติระหว่างผักที่ผลิตโดย Eco-Farmer (เกษตรรักษาระบบนิเวศน์หรือเกษตรปลอดสารเคมี) และผักทั่วไป

ทั้งนี้ Policy Partnership on Food Security (PPFS) จัดตั้งขึ้นโดยเอเปค ประกอบด้วยผู้แทนจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน มีวัตถุประสงค์เพื่อให้สมาชิกเอเปคร่วมกันขจัดความอดอยาก พัฒนามาตรฐานชีวิตความเป็นอยู่ของประชากร เพิ่มผลิตผลทางการเกษตรโดยพัฒนาเทคโนโลยีทางการเกษตรและประมง รวมถึงการขยายความสามารถทางการค้าและตลาดอาหารอย่างมีประสิทธิภาพ การลดการสูญเสียอาหาร และ PPFS ยังให้ความสำคัญกับเกษตรกรและชาวประมงรายย่อยและสตรีซึ่งมีส่วนสำคัญที่จะทำให้ภูมิภาคบรรลุความสำเร็จด้านความมั่นคงอาหารตามเป้าหมายที่กำหนดในปี 2020 (พ.ศ. 2563) ซึ่งการดำเนินงานตามแผนหรือ Road Map on Food Security toward 2020 จะเป็นผลอย่างเป็นรูปธรรมได้นั้น ภาครัฐและเอกชนควรร่วมมือกันอย่างจริงจังในการสนับสนุนกิจกรรมหรือโครงการภายใต้แผนดังกล่าว โดยกิจกรรมหรือโครงการที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย ได้แก่ การพัฒนาการเกษตรและการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เกษตรอินทรีย์ การเพิ่มความปลอดภัยด้านอาหาร และการลดปัญหาการการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี เป็นต้น ซึ่ง สศก. จะประสานและผลักดันโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อไทยภายใต้ PPFS นอกจากนี้ Eco-Farmer ก็จะเป็นแนวทางสำคัญแนวทางหนึ่งที่สามารถนำมาปรับใช้หรือวางแนวทางดำเนินงานในโครงการพัฒนาเมืองเกษตรสีเขียวของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต่อไป เลขาธิการ สศก. กล่าว

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ