นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึง ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรครึ่งแรกของปี 2556 พบว่า ขยายตัวเพียงร้อยละ 0.4 เนื่องมาจากผลกระทบสถานการณ์ภัยแล้ง ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายปี 2555 จนถึงเดือนพฤษภาคม 2556 ประกอบกับภาวะฝนทิ้งช่วงในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาส่งผลให้พื้นที่ทำการเกษตรพืชเศรษฐกิจสำคัญหลายชนิดได้รับความเสียหายเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะพื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง รอบสองในแถบลุ่มเจ้าพระยาตอนบนเนื่องจากปริมาณน้ำในเขื่อนมีไม่เพียงพอ ขณะที่พืชเศรษฐกิจหลักของภาคใต้ ทั้งยางพาราและปาล์มน้ำมันได้ทยอยให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สำหรับการผลิตสาขาปศุสัตว์ยังคงขยายตัวได้ดี ทั้งการผลิตไก่เนื้อ สุกร และไข่ไก่ แม้ว่าจะมีสภาพอากาศที่ร้อนจัดในบางช่วงจนทำให้สัตว์มีการเจริญเติบโตช้า และในส่วนของสาขาประมงมีการหดตัวลงอย่างมากเป็นผลมาจากผลผลิตกุ้งทะเลเพาะเลี้ยงที่ได้รับความเสียหายจากโรคตายด่วน (Early Mortality Syndrome: EMS) เป็นสำคัญ ประกอบกับปริมาณสัตว์น้ำจากการทำประมงทะเลที่ลดลงจากความแปรปรวน ของสภาพอากาศ ซึ่งเมื่อจำแนกเป็นรายสาขา จะเห็นว่าทุกสาขามีการขยายตัว ยกเว้นประมง
สาขาพืช ขยายตัวร้อยละ 1.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2555 โดยผลผลิตพืชสำคัญที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวนาปี มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และผลไม้ เช่น ทุเรียน มังคุด เป็นต้น สำหรับผลผลิตข้าวนาปีที่เพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยและปริมาณน้ำที่เพียงพอ รวมทั้งไม่พบปัญหาศัตรูพืชและโรคระบาดที่รุนแรง ในช่วงการเพาะปลูก ขณะที่ผลผลิตมันสำปะหลังและอ้อยโรงงานเพิ่มขึ้นจากแรงจูงในด้านราคาเมื่อปี 2555 ที่อยู่ในเกณฑ์ดี ตลอดจนการใช้ท่อนพันธุ์ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ทำให้มีการเจริญเติบโตที่ดีและทนต่อโรคและแมลง สำหรับผลผลิตยางพาราและปาล์มน้ำมันที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากการขยายตัวของพื้นที่กรีดยางใหม่และพื้นที่ให้ผลผลิตใหม่ ของปาล์มน้ำมัน และในส่วนของทุเรียนและมังคุดที่เพิ่มขึ้นเป็นเพราะสภาพอากาศที่ค่อนข้างเอื้ออำนวยต่อการติดดอกออกผล ในขณะที่ข้าวนาปรัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สับปะรดโรงงาน ถั่วเหลือง ลำไย และ เงาะ มีผลผลิตลดลง โดยผลผลิต ข้าวนาปรังและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลดลงจากปัญหาภัยแล้งที่ส่งผลให้ปริมาณน้ำในเขื่อนมีไม่เพียงพอ ขณะที่ผลผลิตสับปะรด มีปริมาณลดลงจากการลดการปลูกแซมในสวนยางพาราเนื่องจากต้นยางที่เริ่มโตขึ้น ด้านผลผลิตถั่วเหลืองลดลงจากการ ลดพื้นที่การเพาะปลูก เนื่องจากราคาเมล็ดพันธุ์ที่แพงและขาดแคลนทำให้ผลตอบแทนที่ได้ไม่คุ้มค่าการลงทุน ส่วนลำไยและเงาะมีปริมาณลดลงจากการติดดอกออกผลที่ล่าช้ากว่าปกติ
สาขาปศุสัตว์ ขยายตัวร้อยละ 1.6 จากปริมาณผลผลิตปศุสัตว์สำคัญที่เพิ่มขึ้น ทั้งไก่เนื้อ สุกร ไข่ไก่ และน้ำนมดิบ โดยผลผลิตไก่เนื้อออกสู่ตลาดมากขึ้นจากการขยายการเลี้ยงของผู้ประกอบการขนาดใหญ่ ประกอบกับเกษตรกรรายย่อย ผู้เลี้ยงไก่เนื้อมีระบบการผลิตที่ดีขึ้น ด้านปริมาณการผลิตสุกรนั้นเพิ่มขึ้นจากการผลิตที่กลับเข้าสู่ภาวะปกติภายหลังจากได้รับผลกระทบจากโรคทางระบบสืบพันธุ์และระบบทางเดินหายใจ (Porcine Reproductive and Respiratory Syndrome: PRRS) ประกอบกับความต้องการเนื้อสุกรที่เพิ่มขึ้นจากประเทศคู่ค้า ได้แก่ ลาว ฮ่องกง และญี่ปุ่น ขณะที่ผลผลิตไข่ไก่เพิ่มขึ้นจากแม่ไก่ไข่ยืนกรงที่มีจำนวนมากเริ่มทยอยให้ผลผลิตออกสู่ตลาด ส่วนผลผลิตน้ำนมดิบเพิ่มขึ้นจากจำนวนแม่โครีดนมที่มีมากและให้ปริมาณน้ำนมที่เพิ่มสูงขึ้น
สาขาบริการทางการเกษตร ขยายตัวร้อยละ 0.8 เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกและพื้นที่เก็บเกี่ยวพืชสำคัญ ได้แก่ อ้อยโรงงาน และมันสำปะหลัง ขยายตัวเพิ่มขึ้น ทำให้มีการจ้างบริการเตรียมดิน ไถพรวนดิน และเก็บเกี่ยวผลผลิตเพิ่มขึ้น ตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม จากปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นทำให้พื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปรังลดลง ส่งผลให้การใช้บริการ ทางการเกษตรในช่วงครึ่งแรกของปี 2556 เพิ่มขึ้นเล็กน้อย
ด้านสาขาป่าไม้ ขยายตัวร้อยละ 0.7 เนื่องจากการขยายตัวของผลผลิตครั่งและถ่านไม้เป็นสำคัญ โดยเฉพาะครั่ง ที่มีราคาค่อนข้างดีจูงใจให้เกษตรกรเลี้ยงเป็นอาชีพเสริมและช่วยสร้างมูลค่าในเชิงเศรษฐกิจมากขึ้น ซึ่งจะเห็นได้จากปริมาณและมูลค่าการส่งออกครั่งที่ขยายตัวเป็นบวกต่อเนื่องมาตั้งแต่ไตรมาส 4 ของปี 2555 จนถึงปัจจุบัน ด้านปริมาณการส่งออกถ่านไม้ยังคงขยายตัวได้ดี ส่วน สาขาประมง พบว่าหดตัวร้อยละ 7.1 เป็นผลมาจากปริมาณกุ้งทะเลเพาะเลี้ยงที่ออกสู่ตลาดลดลงอย่างมากจากปัญหาการระบาดของโรคตายด่วนหรือโรค EMS ในแหล่งผลิตที่สำคัญทั้งในภาคตะวันออกและภาคใต้ ทำให้ผลผลิตกุ้งทะเลเพาะเลี้ยงได้รับความเสียหายประมาณร้อยละ 30-40 ประกอบกับผลผลิตจากการทำประมงทะเล มีปริมาณลดลงเช่นเดียวกัน โดยปริมาณสัตว์น้ำที่นำขึ้นท่าเทียบเรือในภาคใต้รวมทุกท่าลดลงประมาณร้อยละ 4.7 ขณะที่ผลผลิตประมงน้ำจืดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจการเกษตรปี 2556 คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2555 อยู่ในช่วงร้อยละ 1.5 — 2.5 ซึ่งลดลงจากที่คาดการณ์เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เนื่องจากสถานการณ์ภัยแล้งและโรคระบาดในกุ้งทะเลเพาะเลี้ยงเป็นสำคัญ ในภาพรวมทั้งปี 2556 ผลผลิตพืชสำคัญหลายชนิดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากแรงจูงใจด้านราคา เกษตรกรจึงขยายพื้นที่เพาะปลูกและมีการดูแลเอาใจใส่มากขึ้น ขณะที่ผลผลิตปศุสัตว์มีทิศทางเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน จากการพัฒนาการผลิตที่มีประสิทธิภาพ และการขยายการผลิตเพื่อรองรับความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศที่มีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม สาขาประมงยังคง หดตัวจากปัญหาการระบาดของโรค EMS และสภาพอากาศที่แปรปรวนในครึ่งปีแรก ทั้งนี้ เมื่อคาดการณ์แต่ละสาขา พบว่า สาขาพืช จะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 3.3 — 4.3 เนื่องจากผลผลิตพืชส่วนใหญ่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แม้ว่าในช่วงต้นปี จะเกิดสถานการณ์ภัยแล้งในบางพื้นที่ก็ตาม โดยคาดว่า ผลผลิตข้าวนาปี มันสำปะหลัง และอ้อยโรงงาน จะเพิ่มขึ้นจากราคา ที่อยู่ในเกณฑ์ดี ขณะที่ผลผลิตยางพาราและปาล์มน้ำมันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกันจากเนื้อที่ให้ผลใหม่ สำหรับผลไม้ เช่น ลำไย ทุเรียน มังคุด และเงาะ คาดว่าผลผลิตจะเพิ่มขึ้นจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย สาขาปศุสัตว์ จะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 1.9 — 2.9 เมื่อเทียบกับปี 2555เนื่องจากการปรับระบบการเลี้ยงปศุสัตว์ที่ได้มาตรฐานดีขึ้นตามการส่งเสริมและพัฒนาฟาร์มให้เป็นระบบ ประกอบกับความต้องการบริโภคที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ด้านสาขาบริการทางการเกษตร ในปี 2556 คาดว่า จะเพิ่มขึ้นอยู่ในช่วงร้อยละ 1.1 — 2.1 เนื่องจากการขยายพื้นที่เพาะปลูกพืชที่สำคัญ เช่น ข้าว อ้อยโรงงาน และมันสำปะหลัง ประกอบกับการขาดแคลนแรงงานด้านการเกษตร รวมทั้งค่าจ้างแรงงานภาคเกษตรที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น และ สาขาป่าไม้ ในปี 2556 มีแนวโน้มจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 0.5 - 1.5 เนื่องจากปริมาณการผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์ป่าไม้และของป่า โดยเฉพาะถ่านไม้ ไม้ยูคาลิปตัส ครั่ง ยางไม้ และน้ำผึ้งธรรมชาติ จะยังคงขยายตัวได้ดีในช่วงครึ่งหลังของปี เพราะเป็นช่วงที่ตลาดมีความต้องการค่อนข้างสูงจากทั้งในและต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม สาขาประมง คาดว่าจะหดตัวลงจากปี 2555 ในช่วงร้อยละ (-6.5) — (-5.5) โดยผลผลิตประมงทะเล มีแนวโน้มลดลง เพราะสภาพอากาศที่แปรปรวน ในขณะที่ผลผลิตกุ้งทะเลเพาะเลี้ยงมีแนวโน้มลดลงเช่นเดียวกัน เนื่องจาก แหล่งผลิตที่สำคัญในภาคตะวันออกและภาคใต้ประสบปัญหาโรคตายด่วนหรือโรค EMS ซึ่งกรมประมงได้ดำเนินมาตรการเร่งด่วนเพื่อยับยั้งความเสียหายจากโรคระบาดดังกล่าวแล้ว และคาดว่าสถานการณ์จะคลี่คลายลงในช่วงครึ่งหลังของปีนี้
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--