สศก. เผย ทิศทางตลาดปลาสวยงามไทยได้เปรียบ แนะพัฒนาสายพันธุ์ รองรับตลาดที่ขยายตัว

ข่าวทั่วไป Wednesday August 7, 2013 13:33 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สศก. ติดตามความก้าวหน้าโครงการสำคัญ ภายใต้ยุทธศาสตร์ปลาสวยงามและพรรณไม้น้ำ เผย ประเทศไทยนับเป็นผู้ผลิตที่มีความได้เปรียบทางด้านภูมิศาสตร์และความหลากหลายของสายพันธุ์ที่สำคัญในภูมิภาค แต่เกษตรกรยังประสบปัญหาลูกปลาคุณภาพลดลง เหตุจากพ่อแม่พันธุ์ปลามีการใช้กันมานานอย่างต่อเนื่อง แนะเร่งพัฒนางานวิจัย และปรับปรุงพันธุ์ปลาที่ตลาดมีความต้องการ

นายสุรศักดิ์ พันธ์นพ รองเลขาธิการและโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันธุรกิจปลาสวยงามเป็นที่นิยมเลี้ยงทั้งในและต่างประเทศ โดยตลาดมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งประเทศไทยในฐานะผู้ผลิตที่มีความได้เปรียบทางด้านภูมิศาสตร์และความหลากหลายของสายพันธุ์ จึงทำให้เป็นแหล่งผลิตสินค้าปลาสวยงามที่สำคัญในภูมิภาค ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีแนวทางการพัฒนาศักยภาพในการแข่งขัน โดยได้จัดทำยุทธศาสตร์ปลาสวยงามและพรรณไม้น้ำขึ้นเพื่อพัฒนาเกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเพื่อรองรับการขยายตัวของตลาด

สำหรับปี 2556 กรมประมงได้ดำเนินงานภายใต้ยุทธศาสตร์กว่า 30 โครงการ ซึ่งมีโครงการที่สำคัญและเกี่ยวข้องกับเกษตรกร คือ โครงการพัฒนาศักยภาพและบ่มเพาะการผลิตปลาสวยงามรายใหม่ ที่มีการดำเนินการฝึกอบรมและศึกษาดูงานให้แก่เกษตรกร จำนวนเป้าหมาย 200 ราย และโครงการจัดตั้งกลุ่มและเครือข่ายผู้ผลิตปลาสวยงามเพื่อสร้างความเข้มแข็งโดยการฝึกอบรมและศึกษาดูงาน มีเป้าหมาย 10 กลุ่ม สมาชิกอย่างน้อยกลุ่มละ 7 ราย

ในการนี้ สศก. โดยศูนย์ประเมินผล ได้ดำเนินการติดตามความก้าวหน้าการดำเนินโครงการดังกล่าวข้างต้น ในพื้นที่จังหวัดนครปฐม ราชบุรี และกาญจนบุรี เมื่อช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งจากการสอบถามเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ พบว่า ส่วนใหญ่ได้รับการฝึกอบรมและเดินทางไปศึกษาดูงานในพื้นที่ที่ประสบความสำเร็จด้านการเพาะเลี้ยงและการจัดการด้านการตลาดเป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม การเลี้ยงปลาสวยงามของเกษตรกรยังประสบปัญหาอุปสรรค ในเรื่องพ่อแม่พันธุ์ปลาสวยงามที่มีการใช้กันมานานและอย่างต่อเนื่อง ทำให้ลูกปลาที่ได้มีคุณภาพต่ำลง และการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ใหม่ที่มีจำกัด ทำให้ผลผลิตมีคุณภาพลดลง รวมทั้งต้นทุนการเลี้ยงสูงขึ้น เนื่องจากราคาปัจจัยการผลิตนั้นมีการปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้รายได้ของเกษตรกรลดลง ส่วนด้านการตลาด พบว่าเกษตรกรไม่สามารถส่งออกปลาสวยงามได้โดยตรง ต้องอาศัยพ่อค้าคนกลางในการรวบรวมและดำเนินการส่งออก ทำให้ราคาปลาสวยงามที่เกษตรกรได้รับค่อนข้างต่ำ

ทั้งนี้ จากการสอบถาม พบว่า เกษตรกรต้องการให้จัดตั้งศูนย์เรียนรู้ด้านการเพาะเลี้ยงปลาสวยงาม เพื่อเป็นจุดสาธิตและถ่ายทอดความรู้ให้แก่เกษตรกรและผู้ที่สนใจเพื่อส่งเสริมการเพาะเลี้ยงปลาสวยงามให้กว้างขวางขึ้น และขอให้มีห้องปฏิบัติการตรวจสอบคุณภาพก่อนส่งออกในส่วนภูมิภาคอำนวยความสะดวกในการส่งออกด้วย ซึ่งในส่วนของข้อเสนอแนะนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรเร่งทำการวิจัยและพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ปลาที่ตลาดมีความต้องการให้รวดเร็วและขยายพ่อแม่พันธุ์ให้เกษตรกรนำไปใช้ในการเพาะเลี้ยง พร้อมทั้งศึกษาวิจัยหาสูตรอาหารที่มีคุณภาพและประหยัดต้นทุนในการเลี้ยงเพื่อถ่ายทอดให้แก่เกษตรกร ดำเนินการสนับสนุนให้เกิดการรวมกลุ่มเกษตรกรที่มีความพร้อมสามารถดำเนินการส่งออก โดยการจัดอบรมด้านมาตรฐานฟาร์มเพาะเลี้ยง การติดต่อกับลูกค้า การสร้างเว็บไซต์เพื่อการสื่อสารกับลูกค้า และการส่งสินค้าไปยังต่างประเทศ

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ