1.1 การตลาด
โครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/56
1) มติ ครม. วันที่ 2 กรกฎาคม 2556 รับทราบราคา ปริมาณ วงเงินการรับจำนำข้าวเปลือกของเกษตรกร และระยะเวลาการรับจำนำโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/56
2) ชนิดและราคารับจำนำข้าวเปลือก ปี 2555/56 (ตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน เป็นต้นไป) ให้กำหนดชนิดและราคารับจำนำข้าวเปลือก ปี 2555/56 ณ ความชื้นไม่เกิน 15 % ดังนี้
(1) ข้าวเปลือกปทุมธานี (42 กรัม) ตันละ 16,000 บาท
(2) ข้าวเปลือกเจ้า :-
ข้าวเปลือกเจ้า 100% ตันละ 15,000 บาท ข้าวเปลือกเจ้า 5% ตันละ 14,800 บาท ข้าวเปลือกเจ้า 10% ตันละ 14,600 บาท ข้าวเปลือกเจ้า 15% ตันละ 14,200 บาท ข้าวเปลือกเจ้า 25% ตันละ 13,800 บาท
(3) ข้าวเปลือกเหนียว :-
ข้าวเปลือกเหนียว 10% เมล็ดยาว (42 กรัม) ตันละ 16,000 บาท ข้าวเปลือกเหนียว 10% เมล็ดสั้น (40 กรัม) ตันละ 15,000 บาท
3) เป้าหมายการรับจำนำ จะรับจำนำข้าวเปลือกจากเกษตรกรในปริมาณที่ไม่เกินที่ระบุไว้ในใบรับรองเกษตรกร ที่กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ออกให้ และจำกัดวงเงินรับจำนำรายละ
ไม่เกิน 500,000 บาทต่อรอบ ตามที่ กขช. มีมติเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2556
4) ระยะเวลา
(1) ระยะเวลารับจำนำ 1 กุมภาพันธ์ — 15 กันยายน 2556 ยกเว้น ภาคใต้จะสิ้นสุดวันที่ 30 พฤศจิกายน 2556
(2) ระยะเวลาไถ่ถอน 4 เดือน นับถัดจากเดือนที่รับจำนำ
(3) ระยะเวลาโครงการ 1 ตุลาคม 2555 — 31 มกราคม 2557
5) ผลการดำเนินงาน
จำนวนเกษตรกรที่รับเงินกับ ธ.ก.ส. (ตั้งแต่ วันที่ 1 ตุลาคม — 29 กรกฎาคม 2556)
- จำนวนสัญญา 2,685,776 สัญญา - จำนวนตัน 20,684,588 ตัน - จำนวนเงิน 316,755.096 ล้านบาท
ภาวการณ์ซื้อขายข้าวสัปดาห์นี้ ราคาข้าวเปลือกที่เกษตรกรขายได้เมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา ข้าวเปลือกหอมมะลิ และข้าวเปลือกเจ้า ราคาค่อนข้างทรงตัว เนื่องจากช่วงนี้ตรงกับช่วงปลายฤดูการผลิตข้าวนาปรังสู่ฤดูการผลิตข้าวนาปี ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตข้าวออกสู่ตลาดลดลง ประกอบกับความต้องการของตลาดชะลอตัว
1.2 ราคา
1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ
ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลินาปี ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 15,681 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 15,604 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.50
ราคาข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 9,605 บาท ราคาลดลงจากตันละ 9,621 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.16
2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ
ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 14,717 บาท ราคาลดลงจากตันละ 14,950 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 1.56
3) ราคาส่งออก เอฟ.โอ.บี.
ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 1,173 ดอลลาร์สหรัฐฯ (36,519 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 1,166 ดอลลาร์สหรัฐฯ (36,134 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.60 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 385 บาท
ราคาข้าวปทุมธานี ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 927 ดอลลาร์สหรัฐฯ (28,860 บาท/ตัน)
ราคาลดลงจากตันละ 930 ดอลลาร์สหรัฐฯ (28,820 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.32 แต่สูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 40 บาท
ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 512 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,940 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 520 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,115 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.54 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 175 บาท
ราคาข้าวสารเจ้า 25% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 503 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,660 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 516 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,991 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.52 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 331 บาท
ราคาข้าวนึ่ง 5% ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 532 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,563 บาท/ตัน)
ราคาลดลงจากตันละ 540 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,734 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.48 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 171 บาท
หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 31.1329 บาท
สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ
จีน
ภัยแล้งที่ทวีความรุนแรงขึ้นในเขตพื้นที่ปลูกข้าวที่สำคัญของจีน มีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อการปลูกข้าวของประเทศ และอาจจะทำให้จีนต้องนำเข้าข้าวมากขึ้นกว่าที่คาดการณ์ไว้เบื้องต้น โดยล่าสุด กระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ประชากรจำนวน 6 ล้านคน และปศุสัตว์จำนวน 1.72 ล้านตัว กำลังประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ
แหล่งข่าวทางการรายงานเพิ่มเติมว่า ปริมาณน้ำฝนที่มีไม่เพียงพอและสภาพอากาศที่ร้อนอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อการปลูกข้าวใน 13 มณฑล ในเขตลุ่มน้ำแยงซีเกียงทางตะวันตกเฉียงใต้ และ 5 มณฑลในภาคกลางของจีน อาทิ มณฑลหูหนาน มณฑลหูเป่ย มณฑลเจียงซี และมณฑลอันฮุย ซึ่งเป็นแหล่งผลิตข้าวที่สำคัญ ผลิตข้าวได้ประมาณ 57 ล้านตัน หรือประมาณร้อยละ 40 ของปริมาณผลผลิตทั้งประเทศ นอกจากนี้ พื้นที่ของเกษตรกรที่เริ่มทำการปลูกข้าวในช่วงเดือนกันยายนถึงตุลาคม (mid-to-late rice crop) จำนวน 2 ล้านเฮคตาร์ มีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบจากภัยแล้งในครั้งนี้ด้วย
ปัจจุบัน จีนเป็นผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ที่สุดของโลก โดยคาดการณ์ว่าในปี 2556/57 จีนจะนำเข้าข้าวประมาณ 3 ล้านตัน หรือคิดเป็น ร้อยละ 8 ของปริมาณการค้าข้าวของโลก ซึ่งในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา จีนนำเข้าข้าวแล้ว 1.3 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 12 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยรัฐบาลได้กำหนดโควต้าการนำเข้าข้าวปี 2556/57 ไว้ที่ 5.32 ล้านตัน ซึ่งภัยแล้งในครั้งนี้และปัญหาการปนเปื้อนสารแคดเมียม ส่งผลให้จีนมีแนวโน้มที่จะนำเข้าข้าวเพิ่มมากขึ้น
ที่มา : Oryza.com
กัมพูชา
ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา กัมพูชาส่งออกข้าวได้ 31,411 ตัน และตั้งแต่เดือนมกราคมถึงกรกฎาคมที่ผ่านมา กัมพูชาส่งออกได้ 207,370 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 110 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา และมากกว่าปริมาณการส่งออกทั้งปีของปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้นปี กัมพูชาส่งออกข้าวหอมมะลิ 84,041 ตัน และข้าวขาว 109,094 ตัน โดยประเทศผู้นำเข้าหลัก ได้แก่ ประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นผลจากการที่กัมพูชาได้รับสิทธิ์ยกเว้นภาษีในการส่งออกข้าวไปยังสหภาพยุโรปในฐานะประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (LDCs) รองลงมาได้แก่ ไทย (22,750 ตัน) และจีน (13,382 ตัน) ตามลำดับ อนึ่ง ราคาข้าวของกัมพูชามีราคาสูงที่สุดเมื่อเทียบกับข้าวคุณภาพเดียวกันทั้งของไทยและเวียดนาม โดยราคาส่งออกข้าวขาว 5% ของกัมพูชา ไทย และเวียดนาม อยู่ที่ตันละ 475 455 และ 405 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือตันละ 14,788 14,165 12,609 บาท ตามลำดับ
ที่มา : Oryza.com
พม่า
องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) คาดการณ์ว่า ในปีนี้ พม่ามีแนวโน้มส่งออกข้าวเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา อันเป็นผลจากการได้รับสิทธิ์ยกเว้นภาษีในการส่งออกข้าวไปสหภาพยุโรป และการค้าตามแนวชายแดนระหว่างพม่ากับจีน และพม่ากับไทย โดยระบุว่า หากไม่รวมปริมาณการส่งออกการค้าตามแนวชายแดน พม่ามีแนวโน้มจะส่งออกข้าวได้ 700,000 ตัน เพิ่มขึ้นจากประมาณ 600,000 ตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 16 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และหากรวมปริมาณการส่งออกการค้าตามแนวชายแดน ในปีนี้พม่ามีแนวโน้มจะส่งออกข้าวได้ถึง 1.4 ล้านตัน
ที่มา : Oryza.com
--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 5 -11 สิงหาคม 2556--