นายคนิต ลิขิตวิทยาวุฒิ รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่องแผนพัฒนาอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม ปี 2557 — 2564 ซึ่ง สศก.เป็นเจ้าภาพจัดขึ้น ณ จังหวัดชุมพร และกระบี่ แหล่งผลิตปาล์น้ำมันและน้ำมันปาล์มที่สำคัญภาคใต้ เมื่อวันที่ 14 และ 16 สิงหาคม 2556 เพื่อชี้แจงถึงร่างแผนพัฒนาอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม ปี 2557- 2564 พร้อมรับฟังข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินงานตามแผน เพื่อให้อุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มสามารถยืนหยัดได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน ภายใต้เงื่อนไขการค้าเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) โดยเชิญผู้มีส่วนร่วมในอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน ตั้งแต่เกษตรกร โรงงานปาล์มน้ำมัน ผู้ค้า ผู้ใช้ในอุตสาหกรรม ตลอดจนหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม ซึ่งแผนพัฒนาอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม ปี 2557 — 2564 ดังกล่าว ทางคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.)ได้มีมติเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2555 แต่งตั้งคณะอนุกรรมการยกร่างแผนพัฒนาอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม ปี 2556-2560 และคณะอนุกรรมการฯ ได้ดำเนินการยกร่างแผนฯ โดยปรับกรอบระยะเวลาของร่างแผนพัฒนาอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม ปี 2556-2560 เป็นปี 2557—2564 เพื่อให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก 25% ใน 10 ปี (2555-2564) โดยให้ สศก. ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมการฯ นำไปรับฟังความเห็นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องก่อนนำเสนอ กนป. ต่อไป
รองเลขาธิการ กล่าวต่อไปว่า สำหรับพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันของประเทศไทย ปัจจุบันได้มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด จนกลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญชนิดหนึ่ง โดยมีพื้นที่ปลูกทั้งประเทศประมาณ 4.5 ล้านไร่ ผลผลิตผลปาล์มสด 12.24 ล้านตัน ผลิตเป็นน้ำมันปาล์มดิบได้ 2.08 ล้านตัน ซึ่งมีมูลค่าของปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม ไม่ต่ำกว่า 92,000 ล้านบาท และแหล่งผลิตที่สำคัญ คือ ภาคใต้ ซึ่งมีพื้นที่ปลูกคิดเป็นร้อยละ 86 ของประเทศ โดยจังหวัดที่มีพื้นที่ปลูกสูงสุดได้แก่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี (24%) รองลงมาได้แก่จังหวัดกระบี่ (23%) ชุมพร (19%) และนครศรีธรรมราช (5%) ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของพื้นที่ปลูกในช่วง 5 ปีที่ผ่านมายังคงต่ำกว่าเป้าหมายที่ได้กำหนดตามแผนพัฒนาอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม ปี 2551 - 2555 ที่จะต้องเพิ่มพื้นที่ปลูกใหม่ 2.50 ล้านไร่ ประกอบกับกระทรวงพลังงานได้กำหนดให้มีการใช้พลังงานทดแทนในรูป B100 ที่ใช้น้ำมันปาล์มเป็นวัตถุดิบ และนโยบายของภาครัฐที่จะเพิ่มการใช้ B100 และพลังงานในรูปแบบใหม่ BHD ดังนั้น จึงนับเป็นสัญญานที่ดี และชี้ให้เห็นว่าตลาดปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มยังขยายตัวได้อีกมาก ซึ่งการจัดทำแผนพัฒนาอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม ปี 2557 - 2564 ดังกล่าว จะช่วยให้ทราบถึงแนวทางการขยายพื้นที่ปลูกได้อย่างถูกต้องเหมาะสม จากข้อเสนอแนะของทุกภาคส่วนที่ให้ความร่วมมือ ก่อเกิดประโยชน์ร่วมกันอย่างเป็นธรรม สามารถแข่งขันได้ในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับตลาด AEC ที่กำลังจะมาถึงในปี 2558
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--