1.1 การตลาด
โครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/56
1) มติ ครม. วันที่ 2 กรกฎาคม 2556 รับทราบราคา ปริมาณ วงเงินการรับจำนำข้าวเปลือกของเกษตรกร และระยะเวลาการรับจำนำโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/56
2) ชนิดและราคารับจำนำข้าวเปลือก ปี 2555/56 (ตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน เป็นต้นไป) ให้กำหนดชนิดและราคารับจำนำข้าวเปลือก ปี 2555/56 ณ ความชื้นไม่เกิน 15 % ดังนี้
(1) ข้าวเปลือกปทุมธานี (42 กรัม) ตันละ 16,000 บาท
(2) ข้าวเปลือกเจ้า :-
ข้าวเปลือกเจ้า 100% ตันละ 15,000 บาท ข้าวเปลือกเจ้า 5% ตันละ 14,800 บาท ข้าวเปลือกเจ้า 10% ตันละ 14,600 บาท ข้าวเปลือกเจ้า 15% ตันละ 14,200 บาท ข้าวเปลือกเจ้า 25% ตันละ 13,800 บาท
(3) ข้าวเปลือกเหนียว :-
ข้าวเปลือกเหนียว 10% เมล็ดยาว (42 กรัม) ตันละ 16,000 บาท ข้าวเปลือกเหนียว 10% เมล็ดสั้น (40 กรัม) ตันละ 15,000 บาท
3) เป้าหมายการรับจำนำ จะรับจำนำข้าวเปลือกจากเกษตรกรในปริมาณที่ไม่เกินที่ระบุไว้ในใบรับรองเกษตรกร ที่กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ออกให้ และจำกัดวงเงินรับจำนำรายละ
ไม่เกิน 500,000 บาทต่อรอบ ตามที่ กขช. มีมติเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2556
4) ระยะเวลา
(1) ระยะเวลารับจำนำ 1 กุมภาพันธ์ — 15 กันยายน 2556 ยกเว้น ภาคใต้จะสิ้นสุดวันที่ 30 พฤศจิกายน 2556
(2) ระยะเวลาไถ่ถอน 4 เดือน นับถัดจากเดือนที่รับจำนำ
(3) ระยะเวลาโครงการ 1 ตุลาคม 2555 — 31 มกราคม 2557
5) ผลการดำเนินงาน
จำนวนเกษตรกรที่รับเงินกับ ธ.ก.ส. (ตั้งแต่ วันที่ 1 ตุลาคม — 14 สิงหาคม 2556)
- จำนวนสัญญา 2,721,678 สัญญา - จำนวนตัน 20,516,132 ตัน - จำนวนเงิน 321,892.380 ล้านบาท
ภาวการณ์ซื้อขายข้าวสัปดาห์นี้ ราคาข้าวเปลือกที่เกษตรกรขายได้เมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา ข้าวเปลือกหอมมะลิ และข้าวเปลือกเจ้า ราคาค่อนข้างทรงตัว เนื่องจากช่วงนี้ผลผลิตข้าวนาปีเริ่มทยอยออกสู่ตลาด ประกอบกับผู้ประกอบการบางรายรับซื้อข้าวเปลือกลดลง เนื่องจากความต้องการของตลาดชะลอตัว
1.2 ราคา
1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ
ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลินาปี ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 15,599 บาท ราคาลดลงจากตันละ 15,681 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.52
ราคาข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 9,546 บาท ราคาลดลงจากตันละ 9,605 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.62
2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ
ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 14,350 บาท ราคาลดลงจากตันละ 14,690 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 2.31
3) ราคาส่งออก เอฟ.โอ.บี.
ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 1,177 ดอลลาร์สหรัฐฯ (36,509 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 1,173 ดอลลาร์สหรัฐฯ (36,519 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.34 แต่ลดลงในรูปเงินบาทตันละ 10 บาท
ราคาข้าวปทุมธานี ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 931 ดอลลาร์สหรัฐฯ (28,879 บาท/ตัน)
ราคาสูงขึ้นจากตันละ 927 ดอลลาร์สหรัฐฯ (28,860 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.43 แต่สูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 19 บาท
ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 505 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,665 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 512 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,940 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.37 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 275 บาท
ราคาข้าวสารเจ้า 25% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 493 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,354 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 503 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,660 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.99 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 306 บาท
ราคาข้าวนึ่ง 5% ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 524 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,254 บาท/ตัน)
ราคาลดลงจากตันละ 532 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,563 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.50 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 309 บาท
หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 31.0191 บาท
2. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในต่างประเทศ
2.1 สถานการณ์ข้าวโลก
1) การผลิต
ผลผลิตข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดคะเนผลผลิตข้าวโลกปี 2556/57 ประจำเดือนสิงหาคม 2556 ว่าจะมี 477.929 ล้านตันข้าวสาร (712.8 ล้านตันข้าวเปลือก) เพิ่มขึ้นจาก 468.920 ล้านตันข้าวสาร
(699.1 ล้านตันข้าวเปลือก) ของปี 2555/56 ร้อยละ 1.92
2) การค้าข้าวโลก
บัญชีสมดุลข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดคะเนบัญชีสมดุลข้าวโลกปี 2555/56 ณ เดือนสิงหาคม 2556 ว่าผลผลิต ปี 2556/57 จะมี 477.929 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 1.92
การใช้ในประเทศจะมี 475.276 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 1.35 การส่งออก/นำเข้าจะมี 38.657 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 1.46 และสต็อกปลายปีคงเหลือ 107.468 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจาก
ปีที่ผ่านมาร้อยละ 2.50
โดยประเทศที่คาดว่าจะส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ อาร์เจนตินา ออสเตรเลีย กัมพูชา กายานา ปากีสถาน เวียดนาม และไทย ส่วนประเทศที่คาดว่าจะส่งออกลดลง ได้แก่ อินเดีย ปารากวัย และสหรัฐอเมริกา
สำหรับประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ บังคลาเทศ จีน กานา อินโดนีเซีย มาเลเซีย เม็กซิโก
โมแซมบิค ไนจีเรีย ซาอุดิอาระเบีย แอฟริกาใต้ สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ เยเมน และสหรัฐฯ ส่วนประเทศที่คาดว่า
จะนำเข้าลดลง ได้แก่ บราซิล ไอเวอรี่โคสต์ คิวบา ฮ่องกง อิหร่าน และฟิลิปปินส์
ประเทศที่มีสต็อกคงเหลือปลายปีเพิ่มขึ้น ได้แก่ อินเดียและญี่ปุ่น ส่วนประเทศที่คาดว่าจะมีสต็อกคงเหลือปลายปีลดลง ได้แก่ จีน อินโดนีเซีย เวียดนาม และสหรัฐอเมริกา
2.2 สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ
เวียดนาม
สมาคมอาหารเวียดนาม (Vietnam Food Association: VFA) เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 8 สิงหาคม เวียดนามส่งออกข้าวได้ 4.15 ล้านตัน และระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม ถึงวันที่ 8 สิงหาคม เวียดนามส่งออกข้าวได้ 87,663 ตัน โดยราคาส่งออกเฉลี่ยตันละ 429 ดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือประมาณตันละ 13,307 บาท) เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 4 - 5 เมื่อเทียบกับราคาในเดือนมิถุนายนและกรกฎาคมที่ผ่านมา ทั้งนี้ ในเดือนสิงหาคมของปีที่ผ่านมา เวียดนามส่งออกข้าวได้ 928,175 ตัน โดยราคาส่งออกเฉลี่ยตันละ 424 ดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือประมาณตันละ 13,152 บาท)
ล่าสุด ณ เดือนสิงหาคม ราคาข้าวเปลือกในประเทศกิโลกรัมละ 5,350 - 5,450 ดอง (หรือประมาณตันละ 254 — 259 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณตันละ 7,956 บาท) ราคาข้าวขาว 5% ในประเทศ กิโลกรัมละ 7,150 — 7,250 ดอง (หรือประมาณตันละ 339 — 344 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณตันละ 10,593 บาท) และราคาข้าวขาว 25% ในประเทศ กิโลกรัมละ 7,000 — 7,100 ดอง (หรือประมาณตันละ 331 — 337 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณตันละ 10,360 บาท)
ที่มา : Oryza.com
จีน
ศูนย์ข้อมูลสินค้าเกษตรและน้ำมันแห่งชาติ (China National Grain and Oils Information Center: CNGOIC) คาดการณ์ว่า ในปี 2556/57 จีนจะนำเข้าข้าวประมาณ 4 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 3.5 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 14 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 11 ของปริมาณการค้าข้าวทั้งหมดของโลก โดยในปี 2556/57 จีนกำหนดโควตานำเข้าข้าวไว้ 5.32 ล้านตัน
ทั้งนี้ CNGOIC ปรับลดตัวเลขประมาณการผลผลิตในปี 2556/57 ลง 1 ล้านตัน เนื่องจากภัยแล้งที่จีนกำลังเผชิญอยู่ ซึ่งมีการคาดการณ์ว่า พื้นที่ปลูก 293,000 เฮคตาร์ จะได้รับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าว และผลผลิตมีแนวโน้มลดลงเหลือ 35 ล้านตัน หรือลดลงร้อยละ 6
อย่างไรก็ตาม CNGOIC ระบุเพิ่มเติมว่า ปัญหาภัยแล้งจะส่งผลกระทบไม่มากต่อการนำเข้าข้าวของจีน โดยปริมาณนำเข้าข้าวที่เพิ่มขึ้นในปี 2556/57 เป็นผลมาจากราคาในตลาดโลกที่ลดลง และปัญหาการปนเปื้อนแคดเมียมในข้าวที่มณฑลหูหนาน ปัจจุบัน ข้าวที่นำเข้าจากเวียดนามมีราคาถูกกว่าข้าวในประเทศ ประมาณตันละ 400 - 600 หยวน (หรือประมาณ 65-80 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณตันละ 2,249 บาท) ล่าสุด จีนจัดสรรงบประมาณ 199 ล้านหยวน (หรือประมาณ 32 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 993 ล้านบาท) สำหรับทำฝนเทียมในพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้ง
ที่มา : Oryza.com
อินเดีย
กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ รายงานว่า ในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา อินเดียส่งออกข้าวได้ประมาณ 6 ล้านตัน โดยในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา อินเดียส่งออกข้าวได้ประมาณ 1 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 0.8 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 25 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ปริมาณส่งออกที่เพิ่มมากขึ้นเป็นผลมาจากการอ่อนค่าของเงินรูปี จึงทำให้ข้าวอินเดียสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ดีขึ้น โดยในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา เงินรูปีอ่อนค่าลงประมาณร้อยละ 13 จาก 53 รูปีต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือนเมษายน เป็น 60 รูปีต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือนกรกฎาคม ทั้งนี้ ในช่วง 2 - 3 เดือนที่ผ่านมา ตลาดหลักของข้าวขาวที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติ (non-basmati rice) ของอินเดีย ได้แก่ แอฟริกา และตลาดหลักของข้าวบาสมาติของอินเดีย ได้แก่ อิหร่าน
กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ คาดการณ์ว่า ในปี 2555/56 อินเดียจะมีปริมาณผลผลิตและปริมาณข้าวในสต็อกจำนวนมาก และจะส่งออกข้าวได้ประมาณ 10 ล้านตัน โดยเป็นการปรับเพิ่มจากการประมาณการครั้งที่แล้ว ร้อยละ 11 แต่ลดลงจาก 10.37 ล้านตัน หรือลดลงร้อยละ 4 เมื่อเทียบกับปี 2554/55
ที่มา : Oryza.com
--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 12 -18 สิงหาคม 2556--