เกาะติดดุลการค้าเกษตรครึ่งปีแรก สศก. เผยดุลการค้าไทยกับ 7 ประเทศภายใต้กรอบเจรา FTA

ข่าวทั่วไป Monday September 2, 2013 13:29 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สศก. เผย สถานการณ์สินค้าเกษตรครึ่งปีแรกกับคู่เจรจาภายใต้กรอบ FTA 7 ประเทศ ระบุ ทิศทางการค้าสินค้าเกษตรยังคงเป็นไปในทิศทางเดียวกับการส่งออกภาพรวมของไทย โดยไทยกลับมาได้เปรียบดุลการค้ากับออสเตรเลีย เนื่องจากลดการนำเข้าข้าวสาลีกว่า 3 เท่า และยังคงได้เปรียบกับคู่เจรจาทั้งเกาหลี ญี่ปุ่น และจีน แนะติดตามสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในตลาดหลักของโลก เพื่อเกาะติดสถานการณ์สินค้าเกษตร

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เปิดเผยว่า จากข้อตกลงเขตการค้าเสรีของไทยภายใต้กรอบเจรจา FTA ที่ได้เริ่มมีผลบังคับใช้ทั้งหมดและบางส่วน ไปแล้วกับ 7 คู่เจรจา คือ จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย และล่าสุดคือเปรู นั้น สศก.ได้ติดตามสถานการณ์สินค้าเกษตร พิกัดศุลกากรตอนที่ 01-24 (ไม่รวมยางพารา) ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2556 พบว่า ทิศทางการค้าสินค้าเกษตรเป็นไปในทิศทางเดียวกับการส่งออกในภาพรวมของไทย โดยคู่เจรจาที่ไทยยังคงได้เปรียบดุลการค้าสินค้าเกษตร ได้แก่ เกาหลี มูลค่า 7,624 ล้านบาท ญี่ปุ่น มูลค่า 62,473 ล้านบาท และจีน มูลค่า 21,597 ล้านบาท รวมทั้งไทยยังกลับมาเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้ากับออสเตรเลีย มูลค่า 1,153 ล้านบาท จากที่เคยเสียเปรียบดุลการค้ากับออสเตรเลีย ซึ่งเกิดจากการลดการนำเข้าข้าวสาลีจากออสเตรเลียลงกว่า 3 เท่า

อย่างไรก็ตาม มีประเทศบางคู่เจรจาที่ไทยมีมูลค่าการนำเข้ามากกว่าการส่งออก โดยไทยเสียเปรียบดุลการค้าสินค้าเกษตรกับเปรู มูลค่า 1,167 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบ (ประมง) และองุ่นสด และกับอินเดีย มูลค่า 8,097 ล้านบาท เนื่องจากการนำเข้าสินค้าปัจจัยการผลิต (อาหารสัตว์ และข้าวสาลี) และเสียเปรียบดุลการค้ากับนิวซีแลนด์ 4,144 ล้านบาท เนื่องจากการนำเข้านมผงและของปรุงแต่งจากธัญพืชและนม

สำหรับทิศทางการค้าสินค้าเกษตรในช่วงครึ่งปีแรก จะเห็นได้ว่า FTA เป็นเพียงหนึ่งปัจจัยเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งเป็นตัวกำหนดความต้องการในตลาดโลก ไม่ว่าจะเป็นอัตราแลกเปลี่ยน ผลผลิตภายในประเทศ ช่วงอายุประชากร รสนิยม การระบาดของโรคพืชโรคสัตว์ และที่สำคัญคือ สภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในตลาดหลักของโลก ทั้งนี้ หากสังเกตการนำเข้าสินค้าเกษตรไทย จะพบว่า โดยมากเป็นการนำเข้าสินค้ากลุ่มวัตถุดิบ/ปัจจัยการผลิต เพื่อนำมาเพิ่มมูลค่าโดยการแปรรูป และเป็นการใช้ประโยชน์จาก FTA ในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอีกทางหนึ่งด้วย เลขาธิการ กล่าวทิ้งท้าย

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ