ภาคเกษตรนครศรีธรรมราช ครึ่งแรกของปี ขยายตัว 1.3 คาด ทั้งปีขยายตัวต่อเนื่อง 0.7 — 1.7

ข่าวทั่วไป Tuesday September 3, 2013 16:35 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สศข.8 แจงภาวะเศรษฐกิจภาคเกษตรครึ่งแรกของปี 56 นครศรีธรรมราช ขยายตัวเล็กน้อย ร้อยละ 1.3 จากการขยายตัวของหมวดพืชและปศุสัตว์ คาดปี 56 เศรษฐกิจภาคเกษตรยังคงขยายตัวร้อยละ 0.7 — 1.7 จากหลายปัจจัยที่เอื้อให้ต่อเศรษฐกิจ ทั้งฤดูกาลที่เหมาะสม และการเข้าสู่เทศกาลงานเดือนสิบซึ่งเป็นงานประจำปีของจังหวัดนครศรีธรรมราช

นายสมพงศ์ จันทร์ทอง ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 8 จ.สุราษฎร์ธานี (สศข.8) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงภาวะเศรษฐกิจการเกษตรจังหวัดนครศรีธรรมราชในครึ่งแรกของปี 2556 พบว่า ขยายตัวร้อยละ 1.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยสาขาพืชขยายตัวร้อยละ 3.3 สาขาปศุสัตว์ขยายตัวร้อยละ 3.6 อย่างไรก็ตาม พบว่า สาขาป่าไม้หดตัวร้อยละ 45.0 ส่วนสาขาประมงหดตัวร้อยละ 10.7 และสาขาบริการทางการเกษตรหดตัวร้อยละ 10.3

สำหรับปัจจัยบวกที่ส่งผลต่อภาคเกษตร ได้แก่ ปริมาณน้ำฝนที่เหมาะสมทำให้มีน้ำใต้ดินเพียงพอต่อความต้องการของปาล์มน้ำมันซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของจังหวัด จำนวนวันฝนตกที่ลดลงยังทำให้มีจำนวนวันกรีดยางเพิ่มขึ้น และนโยบายของจังหวัดที่ให้ความสำคัญต่อยางพาราทั้งระดับต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ส่วนปัจจัยลบที่ส่งผลต่อการเกษตร ได้แก่ การระบาดของโรคตายด่วน (EMS) ในกุ้งขาวแวนนาไมที่เพาะเลี้ยงตามแนวชายฝั่งทะเล การเกิดสันดอนเป็นแนวยาวขวางกั้นปากแม่น้ำพนังเป็นอุปสรรคในการสัญจรของเรือประมง ราคาไม้ยางพาราที่ลดลงไม่จูงใจให้เกษตรกรตัดโค่นต้นยางเพื่อขายเป็นไม้ท่อน รวมทั้งการลดลงของพื้นที่ปลูกข้าวเนื่องจากเกษตรกรปรับเปลี่ยนพื้นที่ไปปลูกปาล์มน้ำมัน ทั้งนี้ ในส่วนของดัชนีรายได้ภาคเกษตรในครึ่งแรกของปีลดลงร้อยละ 18.5 เนื่องจากราคาสินค้าหลายชนิดลดลง ทำให้ดัชนีราคาสินค้าเกษตรลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 16.7

          นายสมพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรตลอดปี 2556 ของจังหวัดนครศรีธรรมราช หากเทียบกับปี 2555 คาดว่าจะยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง จากการขยายตัวในสาขาพืชและปศุสัตว์ โดยคาดว่าภาคเกษตรจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 0.7 — 1.7 โดยสาขาพืชขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ  2.7 — 3.7 สาขาปศุสัตว์ขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 3.1 — 4.1 ส่วนสาขาประมงคาดว่ายังคงหดตัวอยู่ในช่วง (-14.3) — (-13.3)  สาขาป่าไม้จะยังคงหดตัวอยู่ในช่วงร้อยละ           (-53.5) — (-52.5) และสาขาการบริการทางการเกษตรหดตัวอยู่ในช่วงร้อยละ (-6.1) — (-5.1)

ทั้งนี้ ในครึ่งหลังของปีคาดว่าจะมีปัจจัยบวกเข้ามาเสริม ได้แก่ ฤดูกาลที่ไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก ความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์ที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากเข้าสู่เทศกาลงานเดือนสิบซึ่งเป็นงานประจำปีของจังหวัดนครศรีธรรมราช ส่วนปัจจัยลบ ได้แก่ ปัญหาโรคระบาดในกุ้ง และการเกิดสันดอนที่ปากแม่น้ำ นอกจากนี้ หากราคาไม้ยางพารายังไม่กระเตื้องขึ้นอาจส่งผลให้เกษตรกรตัดสินใจชะลอการตัดโค่นไม้ยางพารา

อัตราการขยายตัวผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคเกษตร จังหวัดนครศรีธรรมราช  (หน่วย : ร้อยละ)                          รายการ                                           ปี 2555                 ปี 2556
                                                               ครึ่งแรก            ทั้งปี
ภาคเกษตร                                         11.31          1.3            0.7 - 1.7
สาขาพืช                                            12.6          3.3            2.7 - 3.7
สาขาปศุสัตว์                                          6.5          3.6            3.1 - 4.1
สาขาประมง                                         -1.1        -10.7        (-14.3) — (-13.3)
สาขาป่าไม้                                          54.7          -45        (-53.5) — (-52.5)
สาขาการบริการทางการเกษตร                           -9.7        -10.3         (-6.1) — (-5.1)

ข่าว : ฝ่ายประชาสัมพันธ์ / ข้อมูล : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 8 สุราษฎร์ธานี

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ