ภาวะเศรษฐกิจการเกษตร ไตรมาส 1 ปี 2556 และแนวโน้มปี 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 30, 2013 16:00 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่สำคัญ

เศรษฐกิจโลก

เศรษฐกิจโลกในปี 2556 มีสัญญาณการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา เนื่องจากมาตรการผ่อนคลายทางการเงินและความคืบหน้าในการต่ออายุมาตรการทางการคลังของสหรัฐฯ ช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับตลาดการเงินโลกมากขึ้น อย่างไรก็ตาม มีตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจที่สะท้อนว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจยังไม่อยู่ในสภาพเข้มแข็งพอ โดยอัตราว่างงานยังอยู่ที่ร้อยละ 7.9 สูงกว่าเป้าหมายที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ กำหนดไว้ที่ร้อยละ 6.5 ทั้งนี้ ประธานาธิบดี บารัค โอบามา เสนอให้มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการช่วยเหลือชนชั้นกลาง นอกจากนี้ จะมีการนำค่าแรงขั้นต่ำมาผูกกับอัตราเงินเฟ้อ เพื่อให้สามารถปรับขึ้นค่าแรงได้อย่างต่อเนื่องในอนาคต สำหรับเศรษฐกิจของกลุ่มยูโรโซนยังคงอ่อนแอ แต่มีโอกาสจะกลับมาขยายตัวได้ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ เนื่องจากการใช้มาตรการที่สำคัญต่อเนื่องมาจากปี 2555 อาทิ การจัดตั้งกองทุนเพื่อเสถียรภาพการเงินยุโรป ธนาคารกลางยุโรปเข้าไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลของประเทศที่ขอรับความช่วยเหลือทางการเงินอย่างเป็นทางการได้อย่างไม่จำกัด มีส่วนช่วยลดความเสี่ยงด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน ขณะที่เศรษฐกิจญี่ปุ่น ยังคงมีความเปราะบางเช่นเดียวกัน เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง รวมถึงค่าเงินเยนที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออก ซึ่งแรงขับเคลื่อนสำคัญต่อเศรษฐกิจของญี่ปุ่น ในส่วนของเศรษฐกิจจีน อยู่ในช่วงปรับฐานและชะลอตัวลงในช่วงแรกของปี และคาดว่าจะกลับมาร้อนแรงอีกครั้งในช่วงหลังของปี

จากการที่เศรษฐกิจของสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น มีแนวโน้มชะลอตัวในช่วงครึ่งแรกของปี 2556 และอัตราดอกเบี้ยในประเทศเหล่านี้ที่อยู่ในระดับต่ำ ทำให้กระแสเงินทุนจากซีกโลกตะวันตกไหลเข้าสู่เอเชียอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจของเอเชียยังเติบโตได้ดี ส่งผลให้ค่าเงินในภูมิภาคเอเชียรวมทั้งประเทศไทยแข็งค่าขึ้น ทั้งนี้ ในเดือนมกราคม 2556 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ได้ปรับลดการคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2556 อยู่ร้อยละ 3.5 จากที่คาดการณ์ไว้เดิม ณ เดือนตุลาคม 2555 ว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.6

ตารางที่ 1 อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกและประเทศต่าง ๆ

หน่วย: ร้อยละ

ประเทศ          2554          2555          2556
เศรษฐกิจโลก       3.9           3.2           3.5
สหรัฐอเมริกา       1.8           2.3           2.0
สหภาพยุโรป        1.6          -0.2           0.2
จีน               9.3           7.8           8.2
ญี่ปุ่น             -0.6           2.0           1.2
อาเซียน 5*        4.5           5.7           5.5

ที่มา: World Economic Outlook, January 2013, IMF
หมายเหตุ: * อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม

เศรษฐกิจการเกษตรโลก

สถานการณ์ด้านราคาสินค้าเกษตรและอาหารในตลาดโลก เมื่อพิจารณาจากดัชนีราคาอาหารซึ่งจัดทำโดยองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO พบว่า ดัชนีราคาอาหารเฉลี่ยในเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ 2556 อยู่ที่ระดับ 210.3 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ระดับ 214.2 หรือลดลงร้อยละ 1.8 โดยกลุ่มสินค้าที่มีราคาลดลง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์จากนม น้ำมันจากพืชและสัตว์ และน้ำตาล ขณะที่กลุ่มสินค้าที่มีราคาเพิ่มขึ้น ได้แก่ เนื้อสัตว์ และธัญพืช

ในช่วงต้นปี 2556 ราคาธัญพืชของโลกปรับตัวลดลงจากช่วงครึ่งหลังของปี 2555 เนื่องจากการผลิตสินค้าเกษตรเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ภายหลังเกิดภัยแล้งรุนแรงครอบคลุมพื้นที่ทางการเกษตรอย่างกว้างขวางในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตธัญพืชที่สำคัญของโลก อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับช่วงต้นปี 2555 ที่ผ่านมา ราคาธัญพืชของโลกมีทิศทางสูงขึ้น เนื่องจากความต้องการสินค้าในตลาดโลกยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในประเทศจีน แม้ว่าในปีนี้ยังไม่สามารถสรุปแนวโน้มราคาสินค้าเกษตรได้อย่างชัดเจน แต่คาดว่าจะเป็นปีที่ราคาสินค้าเกษตรยังคงมีความผันผวนอยู่

ทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก

ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ 2556 อยู่ที่ 109.4 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2555 ซึ่งอยู่ที่ 112.9 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล หรือลดลงร้อยละ 3.1

ในปี 2556 กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน หรือ OPEC คาดว่าความต้องการน้ำมันทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นจากปี 2555 โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียและละตินอเมริกา ขณะที่ความต้องการใช้น้ำมันของสหรัฐจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ส่วนความต้องการจากยุโรปจะลดลงจากปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม คาดว่าราคาน้ำมันในปี 2556 จะไม่เปลี่ยนแปลงมากนักเมื่อเทียบกับปีที่ ผ่านมา เนื่องจากมีการผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้นจากทวีปอเมริกาเหนือ แม้ว่าเศรษฐกิจโลกอาจฟื้นตัวดีกว่าที่คาดการณ์ แต่กลุ่มOPEC ก็สามารถผลิตน้ำมันรองรับปริมาณการใช้ที่เพิ่มขึ้นได้ ทั้งนี้ขึ้นกับนโยบายการผลิตน้ำมันจากกลุ่ม OPEC ด้วย

อัตราแลกเปลี่ยน

1) อัตราแลกเปลี่ยนบาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เฉลี่ยเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ 2556 อยู่ที่ 29.9 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ 31.2 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ หรือแข็งค่าขึ้น ร้อยละ 3.9

2) อัตราแลกเปลี่ยนบาทต่อยูโร เฉลี่ยเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ 2556 อยู่ที่ 39.9 บาท/ยูโร มีทิศทางแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ 40.7 บาท/ยูโร หรือแข็งค่าขึ้นร้อยละ 1.9

การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในช่วงเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ 2556 มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น เนื่องจากมาตรการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ยุโรป ละญี่ปุ่น ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยของไทยจูงใจให้มีเงินทุนไหลเข้ามาหาผลตอบแทนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ภาพรวมเศรษฐกิจไทย

คาดว่าเศรษฐกิจภาพรวมของไทยในไตรมาส 1 ปี 2556 สามารถขยายตัวได้อย่างสมดุลมากขึ้นจากปัจจัยฐานต่ำในช่วงเดียวกันของปี 2555 โดยที่การใช้จ่ายภาคเอกชนทั้งด้านการบริโภคและการลงทุนยังขยายตัวได้ดี ประกอบกับภาครัฐมีการใช้นโยบายและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การส่งออกสินค้าฟื้นตัวชัดเจนขึ้น รวมถึงการผลิตภาคอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวก็ขยายตัวได้ดีเช่นกัน

สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยในเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ 2556 อยู่ที่ร้อยละ 3.3 และอยู่ภายใต้กรอบการคาดการณ์เงินเฟ้อในปี 2556 ของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งอยู่ในช่วงร้อยละ 2.8 - 3.4

ภาวะเศรษฐกิจการเกษตร ไตรมาส 1 ปี 2556

เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจการเกษตร

  • ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร เฉลี่ยในช่วงเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ 2556 อยู่ที่ 115.7 สูงกว่าช่วงเดียวกันของปี 2555 ซึ่งอยู่ที่ 115.3 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 ขณะที่ดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ มีทิศทางที่ลดลงค่อนข้างมาก อยู่ที่ 151.1 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ 157.4 หรือลดลงร้อยละ 4.0
  • ดัชนีผลผลิตหมวดพืชผล เฉลี่ยในช่วงเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ 2556 อยู่ที่ 116.7 ลดลงร้อยละ 0.2 จากช่วงเดียวกันของปี 2555 ซึ่งอยู่ที่ 117.0 ขณะที่ดัชนีราคาหมวดพืชผลที่เกษตรกรขายได้ อยู่ที่ร้อยละ 163.9 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ 175.0 หรือลดลงร้อยละ 6.4
  • ดัชนีผลผลิตหมวดปศุสัตว์ เฉลี่ยในช่วงเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ 2556 อยู่ที่ 117.3 เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7 จากช่วงเดียวกันของปี 2555 ซึ่งอยู่ที่ 114.2 ขณะที่ดัชนีราคาหมวดปศุสัตว์ที่เกษตรกรขายได้ อยู่ที่ 120.1 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ 118.1 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7

ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในไตรมาส 1 ปี 2556 หดตัวลงร้อยละ 0.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เนื่องจากปัญหาภัยแล้ง ซึ่งเป็นผลจากปริมาณฝนตกสะสมเฉลี่ยทั้งประเทศในปี 2555 น้อยกว่าปี 2554 ทำให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนขนาดใหญ่และอ่างเก็บน้ำลดลง ประกอบกับการเร่งระบายน้ำออกจากเขื่อนในช่วงฤดูฝนของปี 2555 เนื่องจากเกรงว่าจะเกิดวิกฤตน้ำท่วมเช่นเดียวกับปี 2554 ทำให้ในปี 2556 มีปริมาตรน้ำใช้การได้ในเขื่อนขนาดใหญ่ในภาคเหนือ เช่น เขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ ลดลง โดยสถานการณ์ภัยแล้งที่เริ่มส่งผลกระทบต่อการผลิตทางการเกษตรตั้งแต่ช่วงปลายปี 2555 ต่อเนื่องมาถึงช่วงไตรมาสแรกของปี 2556 ได้ขยายวงกว้างครอบคลุมในหลายพื้นที่ของประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกข้าวและพืชไร่ที่สำคัญหลายชนิด ทั้งนี้ พื้นที่ที่ได้รับความเสียหายส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่ปลูกข้าว สำหรับการเลี้ยงปศุสัตว์และการทำประมงได้รับผลกระทบจากภัยแล้งในช่วงนี้ค่อนข้างน้อย

สาขาพืช

สาขาพืชในไตรมาส 1 ปี 2556 หดตัวร้อยละ 1.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2555 โดยผลผลิตพืชที่ลดลง ได้แก่ ข้าวนาปรัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง สับปะรดโรงงาน ถั่วเหลือง และผลไม้ ส่วนผลผลิตที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวนาปี อ้อยโรงงาน ยางพารา และปาล์มน้ำมัน

ผลผลิตข้าวนาปรังลดลง เนื่องจากปริมาณน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ทั้งประเทศมีปริมาณน้อยกว่าปีที่ผ่านมา กรมชลประทานได้ประกาศให้เกษตรกรงดการปลูกข้าวนาปรังในบางพื้นที่ รวมทั้งส่งเสริมให้ปลูกพืชชนิดอื่นที่ใช้น้ำน้อยกว่าแทน เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และถั่วเหลือง ประกอบกับอากาศที่ร้อน แล้ง และปริมาณน้ำไม่เพียงพอ อาจส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของต้นข้าวอีกด้วย ขณะที่ผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลดลงจากการที่เกษตรกรปลูกข้าวโพดเร็วขึ้นและมีการเก็บเกี่ยวผลผลิตในช่วงปลายปีที่ผ่านมา สำหรับผลผลิตมันสำปะหลังลดลง เนื่องจากภัยแล้งและการระบาดของเพลี้ยแป้งในบางพื้นที่ ส่วนผลผลิตสับปะรดโรงงานลดลง เป็นผลมาจากราคาที่เกษตรกรขายได้ในปี 2555 ตกต่ำ ทำให้เกษตรกรหันไปปลูกพืชชนิดอื่นทดแทน ผลผลิตถั่วเหลืองลดลง เนื่องจากต้นทุนในการผลิตที่สูง ทั้งค่าเมล็ดพันธุ์ และค่าแรงงานเก็บเกี่ยว เกษตรกรจึงปรับเปลี่ยนเนื้อที่ไปปลูกพืชชนิดอื่นที่ให้ผลตอบแทนดีกว่า นอกจากนี้ ผลไม้ ได้แก่ ลำไย ทุเรียน มังคุด และเงาะ ผลผลิตลดลง เนื่องจากความแปรรวนของสภาพภูมิอากาศ

สำหรับผลผลิตข้าวนาปีเพิ่มขึ้น จากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยในช่วงของการเพาะปลูกในปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่เพิ่มขึ้น อ้อยโรงงานผลผลิตเพิ่มขึ้น เพราะเกษตรกรเร่งเก็บเกี่ยวผลผลิตก่อนจะเข้าสู่ฤดูแล้ง และเพื่อป้อนโรงงานน้ำตาลซึ่งมีประสิทธิภาพในด้านการหีบอ้อยเพื่อนำไปผลิตเป็นน้ำตาลได้ดีขึ้น ในส่วนของยางพารา ผลผลิตเพิ่มขึ้น จากการที่เนื้อที่กรีดยางบางส่วนอยู่ในช่วงอายุที่ให้ผลผลิตสูง ประกอบกับมีเนื้อที่เปิดกรีดหน้ายางใหม่เพิ่มขึ้นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ ส่วนปาล์มน้ำมัน การปลูกปาล์มน้ำมันพันธุ์ดีทดแทนสวนเก่าในช่วงปี 2551-2553 และการขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันในพื้นที่นาร้างหรือนาลุ่ม รวมถึงการดูแลรักษาที่ดีของเกษตรกร ทำให้ผลผลิตปาล์มน้ำมันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ด้านราคาพืชสำคัญที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าว เนื่องจากผลผลิตข้าวนาปรังลดลงจากภัยแล้งที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2555 ส่งผลให้ราคาข้าวปรับตัวสูงขึ้น ส่วนราคาพืชที่ลดลง ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน ยางพารา และปาล์มน้ำมัน ซึ่งเป็นผลจากปริมาณผลผลิตพืชต่าง ๆ ออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะมันสำปะหลัง และอ้อยโรงงาน ที่มีปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดสูงสุดในช่วงไตรมาสแรกของปี นอกจากนี้ ความต้องการของตลาดภายในประเทศและต่างประเทศที่ชะลอตัวลง ทำให้ราคาพืชเหล่านี้อ่อนตัวตามไปด้วย

ด้านการส่งออก สินค้าเกษตรที่มีปริมาณและมูลค่าส่งออกลดลง ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ น้ำมันปาล์ม น้ำตาลและผลิตภัณฑ์ และน้ำสับปะรด เนื่องจากความต้องการของตลาดโลกที่ลดลง ขณะที่ปริมาณและมูลค่าส่งออกข้าวกลับมาขยายตัวได้ดีขึ้น ส่วนยางพารา มีปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้น แต่มูลค่าส่งออกลดลง

สาขาปศุสัตว์

สาขาปศุสัตว์ในไตรมาส 1 ปี 2556 ขยายตัวร้อยละ 2.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2555 เนื่องจากปริมาณการผลิตปศุสัตว์ที่สำคัญเพิ่มขึ้น ทั้งไก่เนื้อ สุกร ไข่ไก่ และน้ำนมดิบ โดยผลผลิตไก่เนื้อที่ออกสู่ตลาดมากขึ้น เป็นผลจากเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่เนื้อมีระบบการผลิตและการบริหารจัดการฟาร์มเลี้ยงที่ได้มาตรฐาน ประกอบกับสภาพอากาศในแหล่งผลิตเอื้ออำนวย ทำให้ไก่เนื้อเจริญเติบโตได้ดี นอกจากนี้ ยังมีการขยายการเลี้ยงเพื่อรองรับความต้องการบริโภคเนื้อไก่ทั้งตลาดภายในและต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะตลาดสหภาพยุโรปซึ่งได้อนุญาตให้มีการนำเข้าไก่สดแช่เย็นแช่แข็งจากไทยตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2555 ที่ผ่านมา ทำให้การส่งออกเนื้อไก่และผลิตภัณฑ์ของไทยขยายตัว สำหรับปริมาณการผลิตสุกรเพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการบริโภคเนื้อสุกรที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยประเทศคู่ค้าที่สำคัญหันมานำเข้าสุกรสดแช่เย็น แช่แข็งเพิ่มขึ้น เนื่องจากการระบาดของโรคทางระบบสืบพันธุ์และระบบทางเดินหายใจ (Porcine Reproductive and Respiratory Syndrome: PRRS) ที่รุนแรงในประเทศคู่แข่งของไทย แม้ว่าในช่วงปลายปี 2555 ผลผลิตสุกรบางส่วนของไทยได้รับผลกระทบจากโรค PRRS แต่ในไตรมาสแรกของปีนี้ การผลิตสุกรเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติและมีปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น ขณะที่ผลผลิตไข่ไก่เพิ่มขึ้นจากระบบการผลิตที่ดีของเกษตรกร รวมถึงสภาพอากาศเอื้ออำนวยต่อการออกไข่ของแม่ไก่ ส่วนการผลิตน้ำนมดิบมีปริมาณเพิ่มขึ้นจากจำนวนแม่โครีดนมและปริมาณน้ำนมเฉลี่ยของแม่โคนมที่สูงขึ้น

ด้านราคาสินค้าปศุสัตว์ ราคาสุกรที่เกษตรกรได้รับเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ตามความต้องการของตลาดในประเทศ ประกอบกับมีการส่งออกสุกรไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่างต่อเนื่อง สำหรับราคาน้ำนมดิบยังอยู่ในเกณฑ์ดี และอยู่ในระดับใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปี 2555 ส่วนราคาไข่ไก่เพิ่มขึ้นเช่นกัน เนื่องจากเกษตรกรมีการปลดแม่ไก่ยืนกรงบางส่วนเพื่อรองรับในช่วงเทศกาลตรุษจีนที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ราคาไก่เนื้อที่เกษตรกรขายได้ลดลงจากปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สาขาประมง

สาขาประมงในช่วงไตรมาส 1 ของปี 2556 ขยายตัวร้อยละ 3.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2555 เป็นผลมาจากสถานการณ์การผลิตกุ้งทะเลเพาะเลี้ยงในแหล่งผลิตสำคัญในภาคใต้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ เกษตรกรเริ่มลงลูกกุ้งมากขึ้น อีกทั้งยังไม่พบการระบาดของโรคกุ้งตายก่อนวัยอันควร (Early Mortality Syndrome: EMS) นอกจากนี้ เกษตรกรได้ปรับเปลี่ยนมาเลี้ยงกุ้งขนาด 70-80 ตัว/กิโลกรัม เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากใช้ระยะเวลาในการเลี้ยงสั้น ประกอบกับความต้องการกุ้งขนาดเล็กของตลาดก็เพิ่มขึ้นด้วย สำหรับผลผลิตประมงทะเลในไตรมาส 1 ปี 2556 ปริมาณสัตว์น้ำที่นำขึ้นท่าเทียบเรือในภาคใต้เกือบทุกแห่งมีแนวโน้มลดลงประมาณร้อยละ 0.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2555 ส่วนผลผลิตประมงน้ำจืด มีทิศทางเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เนื่องจากสภาพอากาศในแหล่งผลิตสำคัญที่เป็นปกติรวมถึงความต้องการบริโภคภายในประเทศก็ยังมีอย่างต่อเนื่อง ด้านราคากุ้งขาวแวนนาไม ขนาด 70 ตัว/กิโลกรัม ที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยในช่วงเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ 2556 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2555 ประมาณร้อยละ 12.1 เป็นผลจากความต้องการซื้อของผู้บริโภคและผู้ประกอบการ ห้องเย็นเพิ่มขึ้น โดยผู้ประกอบการห้องเย็นเร่งรับซื้อ เนื่องจากเกรงว่าจะขาดแคลนวัตถุดิบ ด้านการส่งออกสินค้าประมงของไทย สินค้าประมงที่เพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและมูลค่าส่งออก ได้แก่ ปลาและผลิตภัณฑ์ปลาหมึกและผลิตภัณฑ์ และกุ้งปรุงแต่ง ส่วนกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งมีปริมาณและมูลค่าส่งออกลดลง จะเห็นได้ว่า สินค้าประมงหลายชนิดมีปริมาณและมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น ยกเว้นกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งที่มีปริมาณและมูลค่าการส่งออกลดลง ซึ่งเป็นผลมาจากคำสั่งซื้อในตลาดผู้นำเข้าหลัก คือ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ลดลงเป็นสำคัญ

สาขาบริการทางการเกษตร

สาขาบริการทางการเกษตรในไตรมาส 1 ปี 2556 ลดลงร้อยละ 2.4 ทั้งนี้เนื่องจากปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของประเทศ ทำให้พื้นที่เพาะปลูกและพื้นที่เก็บเกี่ยวพืชเศรษฐกิจสำคัญหลายชนิดลดลง โดยเฉพาะข้าวนาปรัง ที่มีการงดปลูกข้าวนาปรังรอบสองในบางพื้นที่ เนื่องจากปริมาณน้ำมีไม่เพียงพอ ทำให้มีการจ้างบริการเตรียมดิน ไถพรวนดินลดลง ส่งผลต่อเนื่องให้การให้บริการเกี่ยวนวดข้าวลดลงตามไปด้วย

สาขาป่าไม้

สาขาป่าไม้ในไตรมาส 1 ปี 2556 ขยายตัวร้อยละ 3.3 โดยมีปัจจัยสนับสนุนมาจากการผลิตและการส่งออกผลิตภัณฑ์ป่าไม้ที่สำคัญ คือ ไม้ยูคาลิปตัส ถ่านไม้ น้ำผึ้งธรรมชาติ ครั่ง และรังนก โดยเฉพาะครั่ง ที่มีปริมาณและมูลค่าการส่งออกเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก เนื่องจากความต้องการเม็ดครั่งดิบของอุตสาหกรรมทำแชลแลคเคลือบเงาไม้ในประเทศแถบยุโรปและอเมริกาเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาซื้อขายครั่งภายในประเทศอยู่ในเกณฑ์ดี ประกอบกับการเลี้ยงครั่งมีวิธีการที่ไม่ยุ่งยาก ดังนั้น การเลี้ยงครั่งจึงกลายเป็นอาชีพเสริมของเกษตรกรในภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งช่วยชดเชยรายได้หลักที่ลดลงจากการปลูกพืชผักและผลไม้ที่ประสบกับปัญหาภัยแล้ง

แนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตร ปี 2556

คาดว่าภาวะเศรษฐกิจการเกษตรภาพรวมทั้งปี 2556 จะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2555 อยู่ในช่วงร้อยละ3.5 - 4.5 เนื่องจากผลผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญหลายชนิดทั้งพืช ปศุสัตว์ และประมง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ประกอบกับการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกในช่วงครึ่งหลังของปี 2556 จะปรับตัวดีขึ้น ทำให้การส่งออกสินค้าเกษตรและราคาสินค้าเกษตรในประเทศมีทิศทางที่ดีขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม การผลิตภาคเกษตรในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2556 ยังคงมีความเสี่ยงจากภาวะฝนทิ้งช่วงที่อาจยาวนานไปจนถึงต้นฤดูเพาะปลูกในเดือนพฤษภาคม 2556 ซึ่งจะทำให้สถานการณ์ภัยแล้งมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ จำเป็นต้องมีการติดตามและประเมินสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง เพื่อการปรับแผนการผลิตสินค้าเกษตรและการเตรียมมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกร

สาขาพืช

คาดว่าสาขาพืชในภาพรวมทั้งปี 2556 จะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 4.0 - 5.0แม้ว่าในช่วงไตรมาสแรกของปี 2556 จะเกิดสถานการณ์ภัยแล้งซึ่งส่งผลกระทบต่อการผลิตพืชในหลายพื้นที่ของประเทศ แต่รัฐบาลก็ได้ให้ความช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรในหลายด้าน เช่น การติดตั้งเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ และการปฎิบัติการฝนหลวง ทั้งนี้ หากในเดือนพฤษภาคม 2556 ไม่เกิดภาวะฝนทิ้งช่วง คาดว่าผลผลิตพืชหลัก เช่น ข้าวนาปี อ้อยโรงงาน ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และไม้ผล จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สำหรับด้านราคา คาดว่าราคาพืชส่วนใหญ่จะยังอยู่ในเกณฑ์ดี เนื่องมาจากมาตรการยกระดับราคาสินค้าเกษตรของรัฐบาล รวมถึงการส่งออกที่มีทิศทางดีขึ้นตามเศรษฐกิจโลก จะส่งผลให้ราคาพืชภายในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

สาขาปศุสัตว์

สาขาปศุสัตว์ในปี 2556 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 1.8 - 2.8 เมื่อเทียบกับปี 2555 เนื่องจากเกษตรกรสามารถปรับระบบการเลี้ยงได้ดีขึ้นตามที่ภาครัฐให้การส่งเสริมการพัฒนาฟาร์มให้เป็นระบบ มีกระบวนการควบคุมและเฝ้าระวังโรคระบาดอย่างต่อเนื่อง และมีมาตรฐานเชิงพาณิชย์ เพื่อเตรียมความพร้อมในการปรับมาตรฐานรับรองการผลิตเพื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ประกอบกับความต้องการบริโภคทั้งตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในตลาดหลักอย่างสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และประเทศในกลุ่มอาเซียน ส่งผลให้เกษตรกรขยายการเลี้ยงปศุสัตว์เพิ่มขึ้น สำหรับราคาปศุสัตว์โดยเฉลี่ยในปี 2556 คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นตามต้นทุนการผลิต ทั้งราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์และค่าแรงงานที่สูงขึ้น รวมถึงการรักษาระดับผลผลิตที่ออกสู่ตลาด ซึ่งภาครัฐมีการดำเนินโครงการรักษาเสถียรภาพราคา เพื่อแก้ไขปัญหาผลผลิตล้นตลาดและราคาตกต่ำ

สาขาประมง

สาขาประมงในปี 2556 มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2555 อยู่ในช่วงร้อยละ 2.0 - 3.0 เนื่องจากเกษตรกรมีการวางแผนการผลิตที่ดีขึ้น แม้ว่าจะต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงด้านค่าแรงที่เพิ่มขึ้น และปัญหาโรคระบาดก็ตามสำหรับผลผลิตกุ้งทะเลเพาะเลี้ยงในปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นผลผลิตจากฟาร์มที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP ทำให้กุ้งทะเลเพาะเลี้ยงของไทยมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคในตลาดโลก ส่งผลให้ความต้องการกุ้งไทยในตลาดโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนผลผลิตประมงน้ำจืด หากสถานการณ์เป็นปกติ คาดว่าผลผลิตประมงน้ำจืดในปี 2556 จะเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน ด้านราคาที่เกษตรกรขายได้ คาดว่ามีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น หากเกษตรกรมีการวางแผนการผลิตที่ดี ผลผลิตที่ได้ตรงตามขนาดและปริมาณความต้องการของตลาด

สาขาบริการทางการเกษตร

คาดว่าสาขาบริการทางการเกษตรในปี 2556 จะเพิ่มขึ้นอยู่ในช่วงร้อยละ 1.3 - 2.3 ตามการขยายพื้นที่เพาะปลูกพืชสำคัญ เช่น ข้าว และอ้อยโรงงาน การขาดแคลนแรงงานด้านการเกษตร รวมทั้งค่าจ้างแรงงานภาคเกษตรที่ค่อนข้างสูง ทำให้เกษตรกรมีการจ้างบริการเครื่องจักรกลทางการเกษตรเพื่อทดแทนแรงงานคนเพิ่มขึ้น อาทิ รถแทรกเตอร์ เพื่อเตรียมดิน ไถพรวนดิน รถเกี่ยวนวดข้าว และรถตัดอ้อย นอกจากนี้ การใช้เครื่องมือเครื่องจักรจะช่วยประหยัดเวลาในการผลิตได้ค่อนข้างมากอีกด้วย

สาขาป่าไม้

สาขาป่าไม้ในปี 2556 คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2555 อยู่ในช่วงร้อยละ 0.5 - 1.5 อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าเป็นกังวลหรือจับตามองในขณะนี้ คือ ปัญหาภัยแล้ง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการผลิตสาขาป่าไม้ในไตรมาส 2 ปี 2556 หากปัญหาภัยแล้งยังคงขยายวงกว้างและยืดเยื้อออกไป คาดว่าจะทำให้ผลผลิตน้ำผึ้งธรรมชาติและครั่งลดลง สำหรับการเผาถ่านไม้และการตัดไม้ยูคาลิปตัส คาดว่าจะทรงตัวอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปีก่อนหน้า

ตารางที่ 1 อัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคเกษตร

หน่วย: ร้อยละ

สาขา                          2556
                    ไตรมาส 1           ทั้งปี
ภาคเกษตร                -0.4        3.5 - 4.5
สาขาพืช                  -1.9        4.0 - 5.0
สาขาปศุสัตว์                2.0        1.8 - 2.8
สาขาประมง                3.8        2.0 - 3.0
สาขาบริการทางการเกษตร    -2.4        1.3 - 2.3
สาขาป่าไม้                 3.3        0.5 - 1.5

ที่มา: ประมาณการโดยสำนักนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

ตารางที่ 2 ผลผลิตของสินค้าเกษตรที่สำคัญ ปี 2555-2556 (ปีปฏิทิน)

หน่วยล้านตัน

สินค้า                        ทั้งปี               การเปลี่ยนแปลง         ไตรมาส 1             การเปลี่ยนแปลง
                      2555       2556*           (ร้อยละ)       2555        2556*           (ร้อยละ)
ข้าวนาปี               26.47      27.76              4.88        0.95        1.47             55.28
ข้าวนาปรัง             12.22       9.90            -18.98        2.03        1.73            -14.97
ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์         5.01       4.96             -0.95        0.37        0.33            -11.55
มันสำปะหลัง            29.11      27.51             -5.47       15.25       13.98             -8.30
อ้อยโรงงาน (รวมพันธุ์)  102.33     102.48              0.14       71.29       72.04              1.05
สับปะรดโรงงาน          2.41       2.30             -4.56        0.67        0.47            -30.22
ถั่วเหลือง(พันตัน)        82.40      78.20             -5.10       31.34       27.65            -11.77
ยางพารา               3.63       3.86              6.56        0.84        0.86              2.48
ปาล์มน้ำมัน             11.33      12.02              6.15        2.57        2.71              5.30
ลำไย (พันตัน)         853.78     907.97              6.35      112.78       80.54            -28.59
ทุเรียน(พันตัน)         524.39     529.87              1.05       13.58       11.13            -18.06
มังคุด(พันตัน)          220.00     267.50             21.59        3.28        2.73            -16.75
เงาะ(พันตัน)          336.78     343.84              2.09        1.62        0.31            -80.88
ไก่เนื้อ(ล้านตัว)      1,055.93   1,104.05              4.56      253.21      262.31              3.60
สุกรมีชีวิต(ล้านตัว)       12.83      13.07              1.90        3.25        3.32              2.26
ไข่ไก่(ล้านฟอง)     10,939.15  11,420.50              4.40    2,686.65    2,782.03              3.55
น้ำนมดิบ                1.06       1.13              5.72        0.28        0.29              4.43

ที่มา: ศูนย์สารสนเทศการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
หมายเหตุ: *ข้อมูลพยากรณ์ ณ เดือนมีนาคม 2556

ตารางที่ 3 ราคาที่เกษตรกรขายได้ของสินค้าเกษตรที่สำคัญ

หน่วย: บาท/กก.

สินค้า                                      2555                 2556        การเปลี่ยนแปลง
                                     ทั้งปี       ม.ค.-ก.พ     ม.ค.-ก.พ.        (ร้อยละ)
ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% (บาท/ตัน)    10,156          9,643       10,540          9.30
ข้าวนาปีหอมมะลิ (บาท/ตัน)             15,365         15,178       15,750          3.77
ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ความชื้น 14.5%           9.35           8.62         8.50         -1.39
หัวมันสำปะหลังสดคละ                    2.07           2.11         2.02         -4.27
อ้อยโรงงาน (บาท/ตัน)                   942            953          906         -4.93
สับปะรดโรงงาน                        3.30           3.32         3.17         -4.52
ยางแผ่นดิบชั้น 3                       87.15          99.74        83.31        -16.47
ผลปาล์มน้ำมันทั้งทะลายมีน้ำหนัก >15 กก.     4.91           5.22         3.28        -37.16
ลำไยเกรด A                         24.24          23.47        31.22         33.02
ไก่รุ่นพันธุ์เนื้อ                         42.03          44.29        42.96         -3.00
สุกร น้ำหนัก 100 กก. ขึ้นไป             56.67          58.55        60.28          2.95
ไข่ไก่สดคละ (บาท/ร้อยฟอง)               256            265          272          2.64
น้ำนมดิบ                             16.61          16.74        16.88          0.84
กุ้งขาวแวนนาไม ขนาด 70 ตัว/กก.          127            132          148         12.12

ที่มา :  ศูนย์สารสนเทศการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

ตารางที่ 4 ปริมาณและมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรที่สำคัญ

สินค้า                          ปริมาณ (ล้านตัน)                                    มูลค่า (ล้านบาท)
                               2555           2556       %                   2555            2556        %
                           ทั้งปี      ม.ค.       ม.ค.                    ทั้งปี         ม.ค.       ม.ค.
สินค้าเกษตรและอาหาร        32.79     2.34       2.75   17.65      993,861.02   71,335.66   77,777.44    9.03
สินค้าเกษตรเพื่ออุตสาหกรรม     4.11     0.34       0.40   16.84      355,474.08   31,954.27   31,818.32   -0.43
ข้าวรวม                    6.73     0.44       0.58   31.94      142,976.24    9,721.63   12,486.92   28.44
ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์             0.12     0.04       0.01  -87.69        1,181.72      414.60       52.49  -87.34
มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์        7.57     0.52       0.76   46.33       67,947.20    5,215.40    6,529.64   25.20
ยางพารา                   3.26     0.29       0.33   15.51      336,303.81   30,614.06   30,241.64   -1.22
น้ำมันปาล์ม                  0.41     0.06       0.04  -31.26       13,931.86    1,903.09    1,004.19  -47.23
น้ำตาลและผลิตภัณฑ์            7.93     0.60       0.50  -15.46      132,136.69   10,705.36    7,026.43  -34.37
น้ำตาลดิบ                   4.24     0.30       0.23  -24.44       71,597.66    5,565.60    3,124.65  -43.86
น้ำตาลทราย                 2.57     0.20       0.19   -5.17       50,047.22    3,934.29    2,991.63  -23.96
สับปะรดบรรจุภาชนะที่อากาศ   574.92    47.47      51.83    9.18       16,531.72    1,494.23    1,414.52   -5.33
ผ่านเข้าออกไม่ได้(พันตัน)
น้ำสับปะรด (พันตัน)         143.58     9.75      10.73   10.01        5,573.59      448.63      361.30  -19.47
ลำไย(พันตัน)              596.42    59.70      86.73   45.28       19,896.62    1,113.18    1,683.08   51.20
ทุเรียน (พันตัน)            365.91     6.83      26.37  286.35        7,167.47      151.73      485.96  220.28
เนื้อไก่และผลิตภัณฑ์ (พันตัน)   538.10    39.61      44.28   11.80       67,848.63    5,156.88    5,904.84   14.50
เนื้อไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง        92.86     5.07       9.40   85.35        5,880.14      352.46      578.79   64.22
เนื้อไก่แปรรูป              445.24    34.54      34.89    1.00       61,968.49    4,804.43    5,326.04   10.86
เนื้อสุกรและผลิตภัณฑ์ (พันตัน)   15.02     1.08       2.24  107.85        2,763.32      196.56      268.53   36.62
สุกรสดแช่เย็นแช่แข็ง           2.68     0.20       1.14  454.31          170.35       12.07       54.81  354.22
ผลิตภัณฑ์สุกร                12.35     0.87       1.10   26.54        2,592.97      184.49      213.73   15.85
ปลาและผลิตภัณฑ์ (พันตัน)   1,174.86    84.26      94.17   11.75      131,562.11    8,966.25    10,286.75  14.73
ปลาหมึกและผลิตภัณฑ์ (พันตัน)   69.76     3.99       5.06   26.73       14,667.42      828.67       988.89  19.33
กุ้งและผลิตภัณฑ์ (พันตัน)      352.54    20.72      22.59    9.01       96,630.07    5,986.49     6,061.06   1.25
กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง          177.90    10.45      10.43   -0.19       45,208.83    2,945.64     2,652.72  -9.94
กุ้งปรุงแต่ง                166.63     9.68      10.91   12.80       50,440.99    2,973.69     3,225.11   8.45
นมและผลิตภัณฑ์ (พันตัน)      131.64     8.31      11.28   35.71        6,069.33      404.78       517.75  27.91

ที่มา : ศูนย์สารสนเทศการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร โดยความร่วมมือของกรมศุลกากร
หมายเหตุ : สินค้าเกษตรและอาหาร หมายถึง สินค้าในพิกัดศุลกากร ตอนที่ 1-24, 40.01

สินค้าเกษตรเพื่ออุตสาหกรรม หมายถึง สินค้าในพิกัดศุลกากร ตอนที่ 35.05.01, 35.05.20, 44.03, 50.01 - 50.03, 52.01

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ