นางจันทร์ธิดา มีเดช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 7 ชัยนาท (สศข.7) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงผลการศึกษาการรับรู้ของเกษตรกรในการเตรียมความพร้อมเพื่อก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ซึ่ง สศข.7 ได้ร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 1-12 ทำการศึกษาแบบบูรณาการร่วม ในช่วงเดือนมกราคม — สิงหาคม 2556 โดยทำการสำรวจเกษตรกรทั้ง 77 จังหวัด ทั่วประเทศไทย จากจำนวนเกษตรกรตัวอย่างทั้งหมด 4,405 ราย เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาในการกำหนดนโยบาย และกำหนดมาตรการรองรับจากผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนของภาคเกษตร และเป็นข้อมูลในการเพิ่มการรับรู้ของเกษตรกร การประชาสัมพันธ์ จัดอบรมและให้ความรู้แก่เกษตรกรได้อย่างตรงเป้าหมาย
ผลการศึกษาพบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ร้อยละ 54 มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในด้านต่างๆ ได้แก่ ความรู้ในเรื่องทั่วๆ ไป ความรู้ทางด้านการผลิต ความรู้ทางด้านการตลาด ความรู้ทางด้านการลงทุนและแรงงาน ความรู้ทางด้านผลกระทบจากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และความรู้ทางด้านมาตรการในการรองรับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอยู่ในระดับน้อย โดยการรับรู้ส่วนใหญ่ได้จากสื่อโทรทัศน์ คิดเป็นร้อยละ 67 รองลงมา คือ หอกระจายข่าว เสียงตามสายในชุมชน/หมู่บ้าน วิทยุ สื่อสิ่งพิมพ์ การเข้าร่วมฝึกอบรม/สัมมนา ตามลำดับ โดยพบว่า เกษตรกรเพศชาย จะมีความสนใจและการรับรู้มากกว่าเพศหญิง ส่วนเกษตรกรผู้ที่มีจำนวนปีการศึกษาสูงจะทำให้มีความสนใจ ค้นคว้าหาความรู้เกี่ยวกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนได้หลากหลายมากกว่าผู้ที่มีจำนวนปีการศึกษาที่ต่ำกว่า และเกษตรกรที่มีระดับการมีปฏิสัมพันธ์หรือความถี่ในการติดต่อสื่อสารกับบุคคลอื่นๆ หรือหน่วยงาน สถาบันต่างๆ จะสามารถรับรู้เรื่องราวเกี่ยวกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนได้มากกว่า
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการเตรียมความพร้อมการก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน พบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่มีการเตรียมความพร้อมร้อยละ 55 ซึ่งจากการศึกษายังพบด้วยว่า การเตรียมความพร้อมของเกษตรกรเป็นผลมาจากการรับรู้ โดยเกษตรกรที่มีการรับรู้มากก็จะมีการเตรียมความพร้อมทั้งทางด้านการผลิต การตลาด และตระหนักถึงการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัยและสุขภาพของผู้บริโภคมากด้วยเช่นกัน
ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเพิ่มการสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมเผยแพร่ความรู้ สร้างความเข้าใจในสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตรไทยมากขึ้น โดยเฉพาะด้านผลกระทบทางบวก ทางลบ การปรับตัว และมาตรการเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ โดยควรเน้นประชาสัมพันธ์เชิงรุกให้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะผ่านสื่อโทรทัศน์ เนื่องจากเป็นสื่อที่เกษตรกรใช้บริการและรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับ AEC มากที่สุด พร้อมทั้งมุ่งพัฒนาศักยภาพผู้นำชุมชน/หมู่บ้าน และเกษตรกรอาสาให้สามารถถ่ายทอดความรู้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับ AEC ให้แก่เกษตรกรในระดับพื้นที่ได้ ตลอดจนสนับสนุนกิจกรรมให้เกษตรกรมีโอกาสพบปะติดต่อสื่อสารกับบุคคล และได้ดำเนินกิจกรรมร่วมกันมากขึ้น เช่น การจัดสัมมนา ฝึกอบรมถ่ายทอดความรู้ การร่วมกิจกรรมอันเป็นส่วนรวม และกิจกรรมภายใต้นโยบายทางด้านการเกษตรต่างๆ เป็นต้น
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--