1.1 การตลาด
โครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/56
1) มติ ครม. วันที่ 2 กรกฎาคม 2556 รับทราบราคา ปริมาณ วงเงินการรับจำนำข้าวเปลือกของเกษตรกร และระยะเวลาการรับจำนำโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/56
2) ชนิดและราคารับจำนำข้าวเปลือก ปี 2555/56 (ตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน เป็นต้นไป) ให้กำหนดชนิดและราคารับจำนำข้าวเปลือก ปี 2555/56 ณ ความชื้นไม่เกิน 15 % ดังนี้
(1) ข้าวเปลือกปทุมธานี (42 กรัม) ตันละ 16,000 บาท
(2) ข้าวเปลือกเจ้า :-
ข้าวเปลือกเจ้า 100% ตันละ 15,000 บาท ข้าวเปลือกเจ้า 5% ตันละ 14,800 บาท ข้าวเปลือกเจ้า 10% ตันละ 14,600 บาท ข้าวเปลือกเจ้า 15% ตันละ 14,200 บาท ข้าวเปลือกเจ้า 25% ตันละ 13,800 บาท
(3) ข้าวเปลือกเหนียว :-
ข้าวเปลือกเหนียว 10% เมล็ดยาว (42 กรัม) ตันละ 16,000 บาท ข้าวเปลือกเหนียว 10% เมล็ดสั้น (40 กรัม) ตันละ 15,000 บาท
3) เป้าหมายการรับจำนำ จะรับจำนำข้าวเปลือกจากเกษตรกรในปริมาณที่ไม่เกินที่ระบุไว้ในใบรับรองเกษตรกร ที่กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ออกให้ และจำกัดวงเงินรับจำนำรายละไม่เกิน 500,000 บาทต่อรอบ ตามที่ กขช. มีมติเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2556
4) ระยะเวลา
(1) ระยะเวลารับจำนำ 1 กุมภาพันธ์ — 15 กันยายน 2556 ยกเว้น ภาคใต้จะสิ้นสุดวันที่ 30 พฤศจิกายน 2556
(2) ระยะเวลาไถ่ถอน 4 เดือน นับถัดจากเดือนที่รับจำนำ
(3) ระยะเวลาโครงการ 1 ตุลาคม 2555 — 31 มกราคม 2557
5) ผลการดำเนินงาน
จำนวนเกษตรกรที่รับเงินกับ ธ.ก.ส. (ตั้งแต่ วันที่ 1 ตุลาคม — 11 กันยายน 2556)
- จำนวนสัญญา 2,808,763 สัญญา - จำนวนตัน 21,451,230 ตัน - จำนวนเงิน 335,521.187 ล้านบาท
ภาวการณ์ซื้อขายข้าวสัปดาห์นี้ ราคาข้าวเปลือกที่เกษตรกรขายได้เมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา ข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลิ ราคาสูงขึ้น เนื่องจาก ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย และข้าวเปลือกเจ้า ราคาลดลง เนื่องจาก อยู่ในช่วงปลายฤดูเก็บเกี่ยวคุณภาพของผลผลิตลดลง และผู้ประกอบการชะลอการสั่งซื้อข้าว เนื่องจากความต้องการของตลาดลดลง
1.2 ราคา
1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ
ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลินาปี ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 15,761 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 15,646 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.74
ราคาข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 8,577 บาท ราคาลดลงจากตันละ 8,675 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 1.13
2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ
ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 13,090 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 12,890 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 1.55
3) ราคาส่งออก เอฟ.โอ.บี.
ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 1,157 ดอลลาร์สหรัฐฯ (36,903 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 1,156 ดอลลาร์สหรัฐฯ (36,857 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.09 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 46 บาท
ราคาข้าวปทุมธานี ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 838 ดอลลาร์สหรัฐฯ (26,729 บาท/ตัน)
ราคาสูงขึ้นจากตันละ 837 ดอลลาร์สหรัฐฯ (26,686 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.12 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 43 บาท
ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 442 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,098 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 441 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,060 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.23 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 38 บาท
ราคาข้าวสารเจ้า 25% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 429 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,683 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 428 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,646 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.23 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 37 บาท
ราคาข้าวนึ่ง 5% ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 464 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,800 บาท/ตัน)
ราคาสูงขึ้นจากตันละ 458 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,602 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.31 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 198 บาท
หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 31.8958 บาท
สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ
เวียดนาม
สมาคมอาหารของเวียดนาม (The Vietnam Food Association; VFA) รายงานว่า การส่งออกข้าวช่วง
วันที่ 1-31 สิงหาคม 2556 มีจำนวน 620,532 ตัน มูลค่า 264.349 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (FOB) และในช่วงวันที่ 1 มกราคม — 31 สิงหาคม 2556 เวียดนามส่งออกรวม 4.678 ล้านตัน มูลค่า 2.005 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (FOB) โดยทั้งปริมาณและมูลค่าลดลงร้อยละ 8.3 และร้อยละ 11.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2555 ที่ส่งออกได้ 5.101 ล้านตัน มูลค่า 2.264 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (FOB) ปี 2556 ในเดือนกันยายน เวียดนามคาดว่าจะส่งออกข้าวประมาณ 650,000 ตัน โดยในช่วง 8 เดือนแรกของปี เวียดนามได้ทำสัญญาขายข้าวไปแล้วประมาณ 7.2 ล้านตัน แต่มีการยกเลิกไปประมาณ 1.2 ล้านตัน ขณะที่สมาคมอาหารคาดว่าในปีนี้จะส่งออกประมาณ 7.6 ล้านตัน สำหรับตลาดนำเข้าข้าวที่สำคัญในปีนี้ ประกอบด้วย ตลาดแอฟริกา อเมริกา และยุโรป ซึ่งมีอัตราการเติบโต ร้อยละ 12.4 ร้อยละ 37.7 และร้อยละ 139.3 ตามลำดับ ขณะที่ตลาดเอเชียเติบโตลดลง ร้อยละ 20.8 โดยประเทศผู้นำเข้าที่สำคัญ คือ จีน ฟิลิปปินส์ คิวบา มาเลเซีย ฮ่องกง และแอฟริกา
สถานการณ์ราคาข้าวของเวียดนามสัปดาห์ที่ผ่านมาอ่อนตัวลง เนื่องจากขาดปัจจัยกระตุ้นตลาด ขณะที่ความต้องการข้าวจากต่างประเทศมีไม่มากนัก โดยราคาเอฟโอบี ข้าวขาว 5% อยู่ที่ 375-380 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน (ประมาณ 12,041 บาทต่อตัน) ลดลงจาก 380-390 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน (ประมาณ 12,275 บาทต่อตัน) เมื่อสัปดาห์ก่อน ขณะที่ราคาเอฟโอบีข้าวขาว 25% อยู่ที่ 350 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน (ประมาณ 11,164 บาทต่อตัน) ลดลงจาก 355-360 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน (ประมาณ 11,398 บาทต่อตัน) เมื่อสัปดาห์ก่อนเช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ ราคาข้าวเปลือกในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำโขงทางตอนใต้ของเวียดนาม ขณะนี้ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 4,900-5,000 ดองต่อกิโลกรัม (230-234 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน หรือ 7,399 บาทต่อตัน) ส่วนราคาข้าวสาร ข้าวขาว 5% ราคาอยู่ที่ 6,700-6,800 ดองต่อกิโลกรัม (314-318 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน หรือ 10,079 บาทต่อตัน) และข้าวขาว 25% ราคาอยู่ที่ 6,350-6,450 ดองต่อกิโลกรัม (298-302 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน หรือ 9,569 บาทต่อตัน)
ที่มา Riceonline.com, สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย
กัมพูชา
สำนักงานบริการพิธีการส่งออกข้าว (The Secretariat of One Window Service for Rice Export Formality (SOWS-REF) รายงาน ปริมาณส่งออกข้าวในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2556 (ม.ค.-ส.ค.) มีทั้งสิ้น 236,728 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 107 เมื่อเทียบกับจำนวน 114,064 ตัน ในช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมามีการส่งออกข้าวจำนวน 29,358 ตัน
สำหรับชนิดข้าวที่กัมพูชาส่งออกประกอบด้วย ข้าวหอม Phka Malis (Jasmine Rice) จำนวน 94,278 ตัน ข้าวขาว (Long Grain White Rice) จำนวน 125,658 ตัน ข้าวหอม neang malis จำนวน 10,448 ตัน เป็นต้น
โดยประเทศผู้นำเข้าข้าวที่สำคัญ คือ โปแลนด์ จำนวน 37,983 ตัน ฝรั่งเศส จำนวน 36,404 ตัน มาเลเซีย จำนวน 28,728 ตัน ไทย จำนวน 23,050 ตัน จีน จำนวน 14,619 ตัน เป็นต้น
ปัจจุบันราคาข้าวขาว 5% ของกัมพูชา อยู่ที่ 440 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน (ประมาณ 14,034 บาทต่อตัน) ขณะที่ราคาข้าว 5% ของไทยอยู่ที่ 425 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน (ประมาณ 13,556 บาทต่อตัน) และเวียดนามอยู่ที่ 380 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน (ประมาณ 12,120 บาทต่อตัน)
ที่มา Oryza.com, สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย
อินเดีย
ทางการรัสเซียได้ยกเลิกคำสั่งห้ามนำเข้าข้าวจากประเทศอินเดีย ซึ่งคำสั่งดังกล่าวได้มีการประกาศไปเมื่อปีที่แล้ว แต่ปัจจุบันความกังวลเกี่ยวกับการตรวจพบด้วงอิฐ (Khapra beetles) ในข้าวที่ส่งไปจากอินเดียลดลง หลังจากที่คณะตรวจสอบของรัสเซียรับรองว่าขั้นตอนการผลิตข้าวของอินเดียมีความปลอดภัยและได้มาตรฐานตามข้อกำหนดด้านสุขอนามัยพืชของรัสเซียแล้ว โดยก่อนหน้านี้กระทรวงพาณิชย์ของอินเดียได้เรียกร้องให้รัสเซีย ยกเลิกคำสั่งห้ามนำเข้าข้าวจากอินเดีย
ทั้งนี้ ตลาดรัสเซียกำลังเป็นตลาดที่น่าสนใจของอินเดียเพราะมีการเติบโตมาก โดยในปี 2555/56 อินเดียส่งออกข้าวไปรัสเซียประมาณ 63,040 ตัน เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 541 เมื่อเทียบกับจำนวน 9,827 ตันในปีก่อนหน้า
โดยข้าวที่อินเดียส่งออกไปยังรัสเซียประกอบด้วย ข้าวนึ่ง จำนวน 55,826 ตัน ข้าวขาว จำนวน 6,425 ตัน และข้าวบาสมาติ จำนวน 789 ตัน ทางการอินเดียมีการวางแผนอุดหนุนข้าวสาลีและข้าวต่างๆ ให้กับประชากร 800 ล้านคน ภายใต้โครงการขาดอาหารและผ่อนคลายปัญหาความยากจน โดยเมื่อสัปดาห์ก่อน รัฐสภาอินเดียได้ส่งกฎหมายความมั่นคงด้านอาหาร (The Food Security Bill) ไปยังประธานาธิบดีเพื่ออนุมัติ เป็นการรับประกันสิทธิ์ด้านอาหารให้กับประชาชนตามกฎหมาย โดยโครงการนี้จะเปิดให้ผู้ที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนดซื้อข้าวได้ 5 กิโลกรัมต่อเดือน ในราคา 3 รูปีต่อกิโลกรัม(1.5 บาทต่อกิโลกรัม) และข้าวสาลีในราคา 2 รูปีต่อกิโลกรัม (1 บาทต่อกิโลกรัม) และข้าวอื่นๆ ในราคา 1 รูปีต่อกิโลกรัม สำหรับหญิงมีครรภ์และคุณแม่คนใหม่จะได้รับความช่วยเหลืออย่างน้อย 6,000 รูปี (90 ดอลลาร์สหรัฐฯ) ส่วนครอบครัวที่ยากจนที่สุดในกลุ่มคนยากจน จะได้รับอัตราการอุดหนุนข้าวสูงถึง 35 กิโลกรัมต่อเดือน และจะยังคงได้รับผลประโยชน์ดังกล่าวต่อเนื่องไป ซึ่งรัฐบาลอินเดียกล่าวว่า จะประกันโครงการให้ได้มากที่สุดที่ค่าใช้จ่าย 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี อย่างไรก็ตาม ขึ้นอยู่กับแต่ละรัฐของอินเดียที่จะตัดสินใจว่าใครบ้างที่จะมีคุณสมบัติได้รับการอุดหนุนดังกล่าว
ที่มา Oryza.com, สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย