ไทยกระชับความร่วมมือ ในโอกาสครบรอบ 40 ปี อาเซียน-ญี่ปุ่น สู่แนวทางความมั่นคงอาหารในกรอบอาเซียน

ข่าวทั่วไป Monday September 23, 2013 13:14 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร จับมือ กรมชลประทาน ร่วมสัมมนาพิเศษในโอกาสครบรอบ 40 ปี ความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับญี่ปุ่น ณ เมืองนิอิงาตะ ประเทศญี่ปุ่น สู่ความร่วมมือแก้ปัญหาด้านความมั่นคงอาหาร และบริหารจัดการน้ำทางการเกษตรอย่างยืนกับประเทศสมาชิกอาเซียนและญี่ปุ่นร่วมกัน โดยฝ่ายไทย ชูประเด็นการเตรียมความพร้อมด้านความมั่นคงอาหารของไทย ตามกรอบยุทธศาสตร์ของกระทรวงเกษตรฯ พร้อมแนวทางบริหารจัดการน้ำของประเทศอันเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญของภาคเกษตรไทยต่อที่ประชุม
นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการสัมมนาพิเศษในโอกาสครบรอบ 40 ปี ความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับญี่ปุ่น เกี่ยวกับความมั่นคงด้านอาหาร โดยมุ่งเน้นในประเด็นของการบริหารจัดการน้ำและการพัฒนาเกษตรที่ยั่งยืน ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 5—7 กันยายนที่ผ่านมา ณ เมืองนิอิงาตะ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่ง สศก. ได้เข้าร่วมการสัมมนาดังกล่าวด้วย สำหรับการสัมมนาครั้งนี้จัดขึ้นเป็นพิเศษเนื่องในโอกาสครบรอบ 40 ปีความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับญี่ปุ่น จัดโดยกระทรวงเกษตร ป่าไม้และประมงแห่งประเทศญี่ปุ่น (MAFF) ภายใต้โครงการ ASEAN—JAPAN Project for Strengthening Capacity Building in Agriculture Sector in ASEAN Countries (CB Project) มีผู้แทนซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงผู้รับผิดชอบงานด้านความมั่นคงอาหารและการจัดการน้ำเพื่อการเกษตรจากประเทศสมาชิกอาเซียน ญี่ปุ่น สำนักเลขาธิการอาเซียน และวิทยากรพิเศษที่ได้รับเชิญเข้าร่วมสัมมนา โดยได้มีการนำเสนอรายงานเป็นรายประเทศเกี่ยวกับนโยบายความมั่นคงอาหาร การบริหารจัดการน้ำ และการพัฒนาการเกษตรที่ยั่งยืน

ในส่วนของผู้แทนจากประเทศไทย นอกจากผู้แทนของ สศก. (ดร.ทัศนีย์ เมืองแก้ว รักษาการผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านนโยบายระบบเศรษฐกิจการเกษตร) แล้ว ยังร่วมด้วย ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กรมชลประทาน (ดร.ทองเปลว กองจันทร์) ที่ได้ร่วมนำเสนอข้อมูลสถานการณ์ความมั่นคงด้านอาหารและการบริหารจัดการน้ำของประเทศไทย โดยกล่าวถึงสถานภาพและความสำคัญของภาคเกษตรไทยที่มีต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากมีคนไทยที่อาศัยอยู่ในภาคการเกษตรสูงถึงร้อยละ 36 ของประชากรทั้งหมด และเป็นภาคการผลิตที่มีการสร้างมูลค่าเพิ่มในประเทศในสัดส่วนที่สูง อีกทั้งไทยยังเป็นแหล่งสร้างรายได้จากการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารเพื่อการส่งออกที่มีมูลค่าสูงอยู่ในลำดับต้นๆ ของโลก อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังได้มีการเตรียมพร้อมในด้านความมั่นคงอาหารของชาติโดยการจัดทำกรอบยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านอาหาร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (พ.ศ. 2556—2559) เพื่อให้คนไทยมีอาหารที่มีคุณภาพเพื่อบริโภคอย่างเพียงพอและยั่งยืน นอกจากนี้ เรื่องการบริหารจัดการน้ำซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญต่อการผลิตทางการเกษตรของไทย กรมชลประทานได้กำหนดแผนการบริหารน้ำบนพื้นฐานของแผนการจัดสรรน้ำตามความต้องการของผู้ใช้น้ำ โดยมีการติดตามอย่างใกล้ชิดจากคณะกรรมการซึ่งประกอบไปด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วน เพื่อให้มีการบริหารจัดการน้ำและการติดตามอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์ในภาพรวมมากที่สุด

เลขาธิการ กล่าวทิ้งท้ายว่า การสัมมนาครั้งนี้ นับว่าได้รับความร่วมมือจากผู้แทนประเทศสมาชิกอาเซียนและญี่ปุ่นอย่างมาก ที่ได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนการนำเสนอรายงานรายประเทศและมีการนำเสนอข้อมูล สถานการณ์ความมั่นคงอาหาร แนวทางการบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตร และข้อเสนอแนะความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องร่วมกัน ซึ่งผลลัพธ์จากการสัมมนาและข้อเสนอแนะ (Recommendation) จะนำเสนอต่อที่ประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสและระดับรัฐมนตรีด้านการเกษตรและป่าไม้อาเซียนบวกสามเพื่อทราบต่อไป โดยมีสาระสำคัญเกี่ยวกับการส่งเสริมความร่วมมือให้เกิดความมั่นคงด้านอาหารในภูมิภาคอาเซียนอย่างยั่งยืน พร้อมกับการส่งเสริมให้มีการลงทุนด้านโครงสร้างและการบริหารจัดการระบบชลประทานเพื่อการเกษตรโดยให้เกษตรกรและองค์กรที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งสนับสนุนให้ MAFF ญี่ปุ่นดำเนินโครงการเพื่อการพัฒนาบุคลากรภาคเกษตรให้แก่อาเซียนอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการถ่ายทอดความรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ เรียนรู้ความสำเร็จในด้านการจัดการปัจจัยการผลิตทางการเกษตรร่วมกัน เพื่อพัฒนาการผลิตทางการเกษตรและยกระดับรายได้และความเป็นอยู่ของเกษตรกรในอนาคต

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ