นายอนุสรณ์ พรชัย ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเขต 1 เชียงใหม่ (สศข.1) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงการดำเนินการจัดเก็บข้อมูลข้าวนาปี ซึ่งขณะนี้ สศข.1 ได้ดำเนินการจัดเก็บข้อมูลด้วยวิธีตั้งแปลงสังเกต (Objective Yield Survey) ร่วมกับการสำรวจข้อมูลจากระยะไกล (Remote Sensing) โดยโครงการดังกล่าว เป็นหนึ่งในโครงการนำร่องเพื่อศึกษารูปแบบการพยากรณ์ผลผลิตข้าวนาปี ปีเพาะปลูก 2556/57 ซึ่งอาศัยกรอบการทำงานร่วมกัน 2 วิธีการ เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างค่าสะท้อนแสง (Reflectance)ของต้นข้าวในระยะการเจริญเติบโตช่วงต่างๆ และค่าที่ได้จากข้อมูลดาวเทียม ร่วมกับข้อมูลที่ได้จากการตั้งแปลงสังเกต
สำหรับขั้นตอนการดำเนินงานจัดเก็บข้อมูลนั้น จะแบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอน คือ การกำหนดแปลงสังเกตและจุดสำรวจ จำนวน 2 แปลงตัวอย่าง โดยแต่ละแปลงตัวอย่างจะทำการสุ่มจุดสำรวจจำนวน 2 จุดสำรวจ ซึ่ง สศข.1 ได้คัดเลือกที่นาในเขตตำบลสง่าบ้านและตำบลป่าป้อง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ เป็นแปลงตัวอย่าง
จากนั้น จะเป็นการจัดเก็บข้อมูลต้นข้าว โดยจะทำการเก็บข้อมูลทั้งหมด 5 ครั้ง ตามระยะการเจริญเติบโตของต้นข้าว เริ่มตั้งแต่ระยะต้นกล้า ระยะแตกกอ ระยะตั้งท้อง ระยะออกรวง จนถึงระยะเก็บเกี่ยว และขั้นตอนสุดท้าย คือ การจัดทำข้อมูลเชิงพื้นที่ ซึ่งมีวัตถุประสงค์สำคัญคือการนำข้อมูลจุดสำรวจ มาซ้อนทับกับข้อมูลค่าดัชนีพืชพรรณ (Vegetation Index) หรือค่าความอุดมสมบูรณ์ของพืชพรรณ และดึงค่าของมูลค่าดัชนีพืชพรรณของแต่ละจุดสำรวจ เพื่อนำไปหาค่าความสัมพันธ์กับข้อมูลที่จัดเก็บในการสำรวจภาคสนาม
นายอนุสรณ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทีมงานภาคสนามของ สศข.1ได้ทำการจัดเก็บข้อมูลระยะการเจริญเติบโตของต้นข้าวในระยะตั้งท้องเสร็จสิ้นไปแล้ว เหลือเพียงการจัดเก็บข้อมูลในระยะออกรวงและระยะเก็บเกี่ยว โดยคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในเดือนพฤศจิกายน 2556 ซึ่งข้อมูลที่จัดเก็บในแต่ละระยะนั้น สศข.1 จะจัดส่งไปยังส่วนภูมิสารสนเทศการเกษตร ศูนย์สารสนเทศการเกษตร ของ สศก. เพื่อนำไปวิเคราะห์หาค่าความสัมพันธ์ดังกล่าว สำหรับใช้ในการปรับปรุงการพยากรณ์ผลผลิตข้าวต่อไป
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--