ลุยโครงการใหญ่ สศก. ศึกษาระบบโลจิสติกส์เกษตรกรรม หนุนแผนยุทธศาสตร์โลจิสติกส์แห่งชาติ

ข่าวทั่วไป Thursday October 24, 2013 11:18 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เร่งขับเคลื่อนการพัฒนาระบบโลจิสติกส์สินค้าเกษตร เปิดสัมมนาใหญ่ ระดมความเห็น จากผลการศึกษาสู่การจัดทำรายงานฉบับสมบูรณ์ในโครงการศึกษาจัดทำระบบข้อมูลและตัวชี้วัดประสิทธิภาพ โลจิสติกส์ภาคเกษตรกรรม สนองแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์แห่งชาติ ปี56 — 60

นายอนันต์ ลิลา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการสัมมนา “การประเมินประสิทธิภาพโลจิสติกส์เพื่อใช้ในการวางแผนพัฒนาการเกษตร” ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ ซึ่ง สศก. จัดขึ้นในฐานะที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินภารกิจหลักด้านการจัดทำนโยบาย มาตรการหรือแนวทางการดำเนินงานด้านการพัฒนาโลจิสติกส์และระบบห่วงโซ่อุปทานภาคการเกษตร รวมทั้งจัดทำดัชนีชี้วัดการพัฒนาโลจิสติกส์ของสินค้าเกษตรสำคัญที่เชื่อมโยงกับภารกิจของหน่วยงานอื่นที่สนับสนุนบริหารจัดการโลจิสติกส์ของสินค้าเกษตร ซึ่ง สศก.ได้ร่วมกับสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนินการศึกษาโครงการศึกษาจัดทำระบบข้อมูลและตัวชี้วัดประสิทธิภาพโลจิสติกส์ภาคเกษตรกรรมและพัฒนาระบบการจัดการเครือข่ายโซ่อุปทานและโลจิสติกส์สินค้าเกษตรกรรมขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา การพัฒนาปรับปรุงระบบโลจิสติกส์ในภาคการเกษตรยังไม่สามารถแข่งขันหรือเชื่อมโยงกับภาคการผลิตอื่นๆ โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะเห็นได้จาก มีสัดส่วนความสูญเสียของผลผลิตทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณมากกว่าร้อยละ 30 ของมูลค่าผลผลิตทั้งหมด ขณะที่เกษตรกรยังจำกัดบทบาทของตนเองในขั้นตอนการผลิต ทำให้สามารถเก็บเกี่ยวมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้เฉลี่ยเพียงร้อยละ 25 ของมูลค่าเพิ่มทั้งหมดใน โซ่คุณค่า นั่นเพราะเกษตรกรส่วนใหญ่ยังขาดองค์ความรู้ความเข้าใจและทักษะที่เพียงพอในการบริหารจัดการกิจกรรมโลจิสติกส์ภายในฟาร์มให้มีประสิทธิภาพ รวมถึงการจัดการเชิงธุรกิจ ซึ่งมีผลทำให้ประเทศไทยเสียเปรียบในการแข่งขันกับประเทศอื่นๆ อีกทั้งหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องยังมีองค์ความรู้ในด้านโลจิสติกส์ที่จำกัด และนักวิชาการส่วนมากยังเข้าใจว่าเรื่องโลจิสติกส์เป็นเรื่องของเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว หรือการขนส่งเท่านั้น ทำให้การพัฒนาระบบโลจิสติกส์สำหรับภาคเกษตรที่ผ่านมาถูกมองข้ามส่งผลให้แก้ปัญหาไม่ถูกจุด ซึ่งเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2556 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์แห่งชาติ พ.ศ. 2556 — 2560 “การอำนวยความสะดวกทางการค้าและการจัดการโซ่อุปทานเพื่อความสามารถในการแข่งขัน” มีกระทรวงเกษตรฯ เป็นหน่วยงานหลักในประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 1 เพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการ โซ่อุปทาน ในกลยุทธ์ที่ 1 ส่งเสริมบทบาทของเกษตรกรและผู้ประกอบการในโซ่อุปทานสินค้าเกษตรและอาหารจากต้นน้ำถึงปลายน้ำ ด้วยการพัฒนาทักษะการบริหารจัดการโลจิสติกส์ในระดับฟาร์มให้กับกลุ่มและสถาบันเกษตรกร

ด้านนายสมโสถติ์ ดำเนินงาม ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตร สศก. กล่าวเพิ่มเติมว่า การสัมมนาในครั้งนี้ นอกจากจะเพื่อเผยแพร่ข้อมูลตัวชี้วัดประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์และระบบการจัดการเครือข่าย โซ่อุปทานและโลจิสติกส์สินค้าเกษตรแล้ว ยังเป็นการระดมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่มีต่อการศึกษา สำหรับนำไปประกอบการพิจารณาจัดทำรายงานฉบับสมบูรณ์ ซึ่งมีการจัดทำระบบฐานข้อมูลประเมินประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์ (Logistics Performance Index: LPI) ที่เหมาะสมสำหรับสินค้าเกษตร และจัดทำตัวชี้วัดประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์ ตามกิจกรรมในแต่ละโซ่อุปทานการผลิตสินค้าเกษตรและธุรกิจการเกษตรที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย มิติด้านต้นทุน มิติด้านเวลา และมิติด้านความน่าเชื่อถือ เพื่อเป็นเกณฑ์เปรียบเทียบสมรรถนะ (Benchmark) ระดับประเทศ โดยมีสินค้าเกษตรเป้าหมาย จำนวน 6 ชนิด ได้แก่ (1) กลุ่มพืชอาหารและสินค้าเกษตรอุตสาหกรรม ได้แก่ สับปะรด (2) กลุ่มพืชพลังงาน ได้แก่ ปาล์มน้ำมัน และอ้อยโรงงาน และ (3) กลุ่มสินค้าเกษตรเน่าเสียง่าย ได้แก่ พริก มะม่วง และส้มโอ เริ่มดำเนินโครงการตั้งแต่เดือนมีนาคม 2556 และจะสิ้นสุดในเดือนพฤศจิกายนนี้ รวมระยะเวลา 8 เดือน

โดยในส่วนของการจัดทำตัวชี้วัดประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์ในช่วงที่ผ่านมา ได้ทำการสำรวจข้อมูลจากกลุ่มเกษตรกร สหกรณ์การเกษตร ผู้รวบรวม โรงงาน ผู้ประกอบการ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ในกลุ่มสินค้าเป้าหมาย 6 ชนิด ใน 16 จังหวัดที่เป็นแหล่งผลิตที่สำคัญ รวมกว่า 400 ราย และพัฒนาระบบซอฟแวร์ระบบฐานข้อมูลและระบบการประเมินประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์ (Web Application) ในกลุ่มสินค้าเกษตรเป้าหมาย เพื่อเผยแพร่ให้หน่วยงานภาครัฐ เกษตรกร สถาบันเกษตรกร ผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้ที่สนใจสามารถเข้าร่วมทำการประเมินประสิทธิภาพโลจิสติกส์ในโซ่อุปทานของตนเอง

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ