ร่วมเดินหน้าสร้างสมาร์ทฟาร์มเมอร์ สศก. ลงติดตามผล หวังพัฒนาคนรุ่นใหม่สู่เถ้าแก่ธุรกิจเกษตร

ข่าวทั่วไป Thursday October 24, 2013 11:20 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ร่วมขับเคลื่อนการดำเนินงาน Smart Farmer จัดทีมลงพื้นที่ 5 จังหวัด ติดตามโครงการบ่มเพาะผู้ประกอบการธุรกิจเกษตรรุ่นใหม่จากตัวอย่างผู้ผ่านการอบรม เผย ขณะนี้อยู่ระหว่างรอสินเชื่อจาก ธ.ก.ส. คาด พร้อมเริ่มดำเนินการธุรกิจปลายปีนี้ หวังร่วมพัฒนานิสิต นักศึกษาก้าวสู่การเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่

นายสุรศักดิ์ พันธ์นพ รองเลขาธิการและโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการดำเนินการโครงการความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ซึ่งได้ร่วมกันจัดทำโครงการบ่มเพาะผู้ประกอบการธุรกิจเกษตรรุ่นใหม่ ภายใต้ความร่วมมือโครงการสนับสนุนการสร้าง Smart Farmer ในรูปแบบการให้คำปรึกษา แนะนำเทคนิค กระบวนการ และอบรมแผนธุรกิจ เพื่อพัฒนานิสิต นักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับอุดมศึกษา และผู้สำเร็จการศึกษาแล้วไม่เกิน 5 ปี ให้ได้รับทักษะทั้งด้านการผลิต การตลาด การจัดการ และการบริหารการเงินซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นในการดำเนินธุรกิจ และได้แผนธุรกิจที่จะสามารถให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาในการขอรับการสนับสนุนเงินทุนประกอบการได้

ในการดำเนินงานดังกล่าว สศก. ได้ติดตามผลการดำเนินงาน ในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา นครปฐม กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และลพบุรี ระหว่างวันที่ 26 — 30 สิงหาคมที่ผ่านมา ในการจัดอบรมความรู้ “โครงการบ่มเพาะผู้ประกอบการธุรกิจเกษตรรุ่นใหม่” ระหว่างวันที่ 7 — 17 พฤษภาคม 2556 โดยคัดเลือกผู้สนใจที่มีคุณสมบัติเป็นนักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับปริญญาตรีชั้นปีที่ 3 หรือ ปีที่ 4 หรือจบปริญญาตรีไม่เกิน 5 ปี เข้ารับการอบรมโดยมุ่งหวังที่จะให้บุคคลเหล่านี้เข้ามาประกอบอาชีพด้านการเกษตร ซึ่งจากการติดตาม พบว่า มีผู้สนใจสมัครเข้ารับการอบรมรวมทั้งสิ้น 72 ราย ผ่านการคัดเลือก 31 ราย เข้ารับการอบรมจริง 29 ราย และจากการสุ่มติดตามผู้ผ่านการอบรมจำนวน 6 ราย พบว่า ขณะนี้ผู้ผ่านการอบรมดังกล่าว วางแผนประกอบอาชีพการเกษตรแล้ว 4 ราย ประกอบด้วยด้านปศุสัตว์ 1 ราย ด้านประมง 1 ราย และด้านการผลิตพืช 2 ราย ซึ่งอยู่ระหว่างรอสินเชื่อจาก ธ.ก.ส. และคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ปลายปี 2556

รองเลขาธิการ กล่าวเสริมว่า สำหรับประเภทธุรกิจที่อยู่ในข่ายนั้น ได้แก่ การผลิตและจำหน่ายพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ และบริษัทรับตรวจสอบและรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร (CB) พืช ปศุสัตว์ และสัตว์น้ำ บริษัทผลิตพืชผัก ไม้ดอกไม้ประดับ ผลิตในระบบ GAP ในโรงเรือน รวมทั้งธุรกิจด้านอาหารเสริม เครื่องสาอาง จากพืชและสัตว์ อาหารสัตว์ ธุรกิจบริษัทแปรรูปผลผลิตและวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรทั้งอาหาร และไม่ใช่อาหาร ธุรกิจผลิตอุปกรณ์เครื่องมือและเครื่องจักรกลที่ใช้ในการเกษตร ธุรกิจพลังงานทดแทนจาก Bio-mass ตลอดจนธุรกิจการเกษตร และเกี่ยวเนื่องกับการเกษตร ทั้งนี้ คาดว่า โครงการดังกล่าวจะช่วยให้ นิสิต นักศึกษา ที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับอุดมศึกษา และผู้สำเร็จการศึกษาแล้วไม่เกิน 5 ปี ได้รับการพัฒนาสู่ความเป็นผู้ประกอบการธุรกิจเกษตรรุ่นใหม่ ได้แผนธุรกิจที่พร้อมดำเนินการได้จริง และช่วยสร้างความเข้มแข็งแก่ระบบเศรษฐกิจในภาพรวมอีกด้วย

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ