เกาะติดเจรจา FTA สองยักษ์ใหญ่ สศก.ชี้ ถึงเวลาประเทศกำลังพัฒนาต้องตื่นตัว

ข่าวทั่วไป Friday October 25, 2013 11:31 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

เกาะสถานการณ์เจรจา FTA ระหว่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป สศก. เผย หากการเจรจาสำเร็จ อาจถูกยกระดับให้เป็นมาตรฐานระดับโลกได้ ระบุ ประเทศกำลังพัฒนารวมทั้งไทย จำเป็นต้องตื่นตัวในการพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน ควบคู่กับการพัฒนาการผลิตสินค้าให้เป็นไปตามมาตรฐานโลกมากขึ้น

นายอนันต์ ลิลา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากที่สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปได้เริ่มต้นเปิดการเจรจาว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนทางการค้าและการลงทุนระหว่างแอตแลนติกกับสหภาพยุโรป (Transatlantic Trade and Investment Partnership: TTIP) หรือที่เข้าใจกันว่าเป็นการเจรจา FTA ระหว่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปนั้น โดยทั้งสองฝ่ายได้ตั้งเป้าหมายว่าจะพยายามสรุปผลให้ได้ภายในสิ้นปี 2557 ซึ่งหากสามารถเจรจาได้สำเร็จ จะเป็นความตกลงทางการค้าในลักษณะทวิภาคีที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ เนื่องจากประเทศทั้งสองมีเศรษฐกิจรวมกันขนาดใหญ่เกือบครึ่งหนึ่งของ GDP โลก และมีความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างกันมากที่สุด คิดเป็นสัดส่วนถึง 1 ใน 3 ของมูลค่าการค้าโลก และจะส่งผลให้เกิดการขยายตัวของการค้าและการลงทุนของทั้งสองฝ่าย

สำหรับการเจรจาน่าจะมุ่งเน้นทั้งในด้านการลดและยกเลิกมาตรการด้านภาษี และการขจัดอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสินค้าเกษตร ซึ่งน่าจะเป็นประเด็นที่ยากในการเจรจาเพราะต่างฝ่ายต่างมีความอ่อนไหว ซึ่งสหรัฐอเมริการอาจจะเน้นไปที่การขจัดอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี ที่เข้มงวดของสหภาพยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (SPS) ในขณะที่สหภาพยุโรปถือเป็นกลุ่มประเทศที่ยึดหลักการป้องกันล่วงหน้า ในการป้องกันสุขภาพผู้บริโภค ทำให้สินค้าที่จะจำหน่ายในตลาดสหภาพยุโรป จะต้องผ่านการประเมินความเสี่ยง ซึ่งไม่ใช่อาศัยแค่เพียงหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มายืนยันความปลอดภัยเท่านั้น แต่ต้องใช้ปัจจัยภายนอก เช่น ความรู้สึกของผู้บริโภคและสังคมร่วมด้วย ยกตัวอย่างเช่น ประเด็นพืช GMOs ที่ถึงแม้สหรัฐอเมริกาจะมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มายืนยันความปลอดภัยในการบริโภค แต่สหภาพยุโรปยังเห็นว่ามีข้อกังวลของผู้บริโภค จึงได้ปฏิเสธการนำเข้าสินค้าเหล่านี้มาโดยตลอด

อย่างไรก็ตาม หากการเจรจาสำเร็จลงได้นั้น ความตกลงเกี่ยวกับกฎระเบียบหรือมาตรฐานระหว่างสองฝ่ายนี้ อาจถูกยกระดับให้เป็นมาตรฐานระดับโลกได้ ซึ่งหากผู้ประกอบการในประเทศที่สามสามารถปฏิบัติตามได้ ก็มีโอกาสในการเข้าถึงตลาดทั้งสองได้ รวมทั้งสามารถขยายการส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ ต่อไปได้ด้วย นอกจากนั้น ประเทศผู้ส่งออกสินค้าปศุสัตว์ (เช่น บราซิล เอเซีย และออสเตรเลีย) อาจจะได้รับผลกระทบ เนื่องจากสหภาพยุโรป อาจหันมานำเข้าเนื้อสัตว์จากสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้น แต่ในภาพรวมแล้ว ประเทศกำลังพัฒนารวมทั้งไทย จะต้องจับตามองพัฒนาการของการเจรจานี้ เพื่อสร้างความตื่นตัวในการพัฒนาความสามารถในการแข่งขันและพัฒนามาตรฐานในการผลิตสินค้าเกษตรและอาหาร นายอนันต์ กล่าวทิ้งท้าย

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ