นายคนิต ลิขิตวิทยาวุฒิ รองเลขาธิการและรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงรายงานของคณะกรรมาธิการยุโรป (Tenth report on potentially trade-restrictive measures identified in the context of the financial and economic crisis 1 May 2012 - 31 May 2013) ที่มีการเผยแพร่ออกมาเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2556 ว่า ในช่วงปีที่ผ่านมา หลายประเทศทั่วโลก มีการใช้มาตรการปกป้องทางการค้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ หรือ BRICS (บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้) เป็นกลุ่มที่ใช้มาตรการดังกล่าวมากที่สุด ซึ่งในช่วงระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา (พฤษภาคม 2555 — พฤษภาคม 2556) ได้มีการใช้มาตรการคุ้มครองทางการค้าใหม่ๆ มากถึง 154 มาตรการ และตั้งแต่เดือนตุลาคม 2551 จนถึงปัจจุบัน และได้มีการใช้มาตรการคุ้มครองทางการค้ารวมเกือบ 700 มาตรการ โดยบราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน อาร์เจนตินา ยูเครน แอฟริกาใต้ และอินโดนีเซีย เป็นกลุ่มที่ออกมาตรการคุ้มครองการค้าใหม่ๆ มากที่สุด
สำหรับรูปแบบของมาตรการคุ้มครองการค้าที่ถูกนำมาใช้ ได้แก่ กฎระเบียบการนำเข้าสินค้า ข้อกำหนดให้ใช้สินค้าในชาติ การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ มาตรการกีดกันการบริการและการลงทุน มาตรการจำกัดการส่งออก เป็นต้น ทั้งนี้ อาร์เจนตินา รัสเซีย แอฟริกาใต้ อินโดนีเซีย และบราซิล จะใช้มาตรการการขึ้นภาษีนำเข้าในอัตราที่สูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบราซิล มีการใช้มาตรการกีดกันที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐมากกว่าหนึ่งในสามของมาตรการคุ้มครองทางการค้า ซึ่งเป็นการจงใจป้องกันอุตสาหกรรมภายในประเทศไม่ให้สินค้าจากต่างประเทศเข้ามามีส่วนแบ่งหรือยึดครองตลาดภายในประเทศ
รองเลขาธิการกล่าวต่อไปว่า ในเรื่องดังกล่าว ผู้อำนวยการองค์การการค้าโลกคนใหม่ (นายโรแบร์โต อาเซเวโด) ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับลัทธิกีดกันทางการค้าว่า ปัจจุบันการปกป้องทางการค้าได้เพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ และค่อยๆ เพิ่มทีละนิด แต่จะมีรูปแบบที่แตกต่างกัน โดยจะมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น ยากแก่การตรวจสอบ ซึ่งจะไม่เห็นการใช้มาตรการทางภาษีและการอุดหนุนการส่งออกโดยตรงอีกต่อไป เพราะจะขัดกับพันธกรณีที่มีอยู่ และอาจถูกตอบโต้ได้ ทำให้ประเทศต่างๆ ได้ปรับเปลี่ยนวิธีหรือรูปแบบการใช้มาตรการปกป้องการค้าแบบแอบแฝงมากขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงข้อบังคับและการถูกลงโทษโดยองค์การการค้าโลก (WTO)
ดังนั้น ประเทศไทยในฐานะผู้ส่งออกสินค้าเกษตร จึงไม่สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบจากการใช้มาตรการกีดกันทางการค้าเหล่านี้ได้ ซึ่งภาครัฐและเอกชนนั้นต้องทำงานร่วมกันแบบบูรณาการ คอยติดตามสถานการณ์ และนโยบายของประเทศคู่ค้าต่างๆ อย่างใกล้ชิด เพื่อให้สามารถปรับตัว และหาแนวทางลดผลกระทบได้ทัน อย่างไรก็ตาม สำหรับบทบาทของ WTO ในเรื่องดังกล่าว ผู้อำนวยการองค์การการค้าโลกได้เรียกร้องให้ประเทศสมาชิก WTO ยกระดับข้อบังคับของ WTO เพื่อแก้ปัญหาการกีดกันทางการค้าที่ซับซ้อน เพื่อให้เกิดการแข่งขันเสรีอย่างแท้จริง ทั้งนี้ การประชุมรัฐมนตรีขององค์การการค้าโลก สมัยสามัญ ครั้งที่ 9 ณ ประเทศอินโดนีเซีย ที่จะจัดขึ้นสิ้นปี 2556 นี้ จะเป็นการพิสูจน์บทบาทของ WTO ในอนาคต ว่าจะอุดช่องโหว่การใช้มาตรการปกป้องที่แอบแฝงเหล่านี้ได้หรือไม่ต่อไป รองเลขาธิการ กล่าวในที่สุด
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--