นครราชสีมา นำร่อง 5 อำเภอ พัฒนาคุณภาพข้าวหอมมะลิทุ่งสัมฤทธิ์ สศข.5 ชูเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร

ข่าวทั่วไป Wednesday November 6, 2013 13:19 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 5 เผยโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและคุณภาพข้าวหอมมะลิในทุ่งสัมฤทธิ์ระยะที่ 2 (ปี 2557-2560) นำร่อง 5 อำเภอ คือ พิมาย โนนสูง ชุมพวง เฉลิมพระเกียรติ และจักราช เกษตรกร 1,000 ราย พื้นที่ 10,000 ไร่ เพื่อพัฒนาคุณภาพของข้าวหอมมะลิควบคู่กับการสร้างตราสินค้าข้าวหอมมะลิทุ่งสัมฤทธิ์ (GI) เป็นการเพิ่มมูลค่าให้เป็นที่ต้องการของตลาด และเสริมสร้างรายได้ให้เกษตรกรเพิ่มมากขึ้น

นายสมมาตร ยิ่งยวด ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 5 นครราชสีมา (สศข.5) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยในฐานะคณะทำงานและเลขานุการว่าการดำเนินงานของโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและคุณภาพข้าวหอมมะลิในทุ่งสัมฤทธิ์ระยะที่ 2 (ปี 2557-2560) เน้นการพัฒนาคุณภาพของข้าวหอมมะลิควบคู่กับการสร้างตราสินค้าข้าวหอมมะลิทุ่งสัมฤทธิ์ (GI) เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าและให้เป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น โดยขณะนี้ได้ทำการตั้งคณะทำงานเพื่อขับเคลื่อนโครงการดังกล่าวต่อจากการทำงานในระยะที่ 1 (ปี 2553-2556) โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา (นายวินัย บัวประดิษฐ์) เป็นประธานคณะทำงาน ซึ่งบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และมหาวิทยาลัยในจังหวัดนครราชสีมา เพื่อให้โครงการดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับปี 2557 โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและคุณภาพข้าวหอมมะลิในทุ่งสัมฤทธิ์ระยะที่ 2 (ปี 2557-2560) จะดำเนินการพัฒนาคุณภาพการผลิตข้าวหอมมะลิในพื้นที่ทุ่งสัมฤทธิ์ จำนวน 5 อำเภอ คือ พิมาย โนนสูง ชุมพวง เฉลิมพระเกียรติ และจักราช พื้นที่จำนวน 10,000 ไร่ เกษตรกรจำนวน 1,000 ราย ซึ่งจะดำเนินการพัฒนาในส่วนของดินที่ดี โดยมีการปรับปรุงบำรุงดิน ใช้ปุ๋ยพืชสดและมีการตรวจวิเคราะห์ดินก่อนทำนา โดยมีการจัดการป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่ทำนา ขณะเดียวกันก็ต้องมีน้ำเพียงพอต่อการทำนา โดยการใช้พันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 ที่ได้รับการรับรองจากกรมการข้าว ประกอบกับการถ่ายทอดองค์ความรู้การทำนาให้เกษตรกรโดยเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในจังหวัดนครราชสีมา ตั้งแต่กระบวนการก่อนการทำนาจนถึงหลังจากการเก็บเกี่ยวข้าว

นอกจากนี้ ข้าวหอมมะลิ เป็นสินค้าเกษตรที่สำคัญของจังหวัดนครราชสีมา สามารถสร้างมูลค่าให้กับจังหวัดนครราชสีมาและประเทศไทย โดยจังหวัดนครราชสีมามีเกษตรกรปลูกข้าวหอมมะลิจำนวนมาก ทั้งนี้ โครงการฯ ดังกล่าว จะทำให้เกษตรกรสามารถผลิตข้าวหอมมะลิให้ได้ผลผลิตสูงและได้คุณภาพมาตรฐานและการทำตราสินค้าข้าวหอมมะลิ (GI) รวมถึงการประชาสัมพันธ์ข้าวหอมมะลิให้เป็นจุดขาย ทำให้ตลาดต่างประเทศต้องการมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรอีกทางหนึ่ง นายสมมาตร กล่าวทิ้งท้าย

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ