เตือนเกษตรกรเฝ้าระวังพายุดีเปรสชั่นสัปดาห์นี้ สศข.10 ระบุ พบพื้นที่เกษตรได้รับผลกระทบแล้ว

ข่าวทั่วไป Friday November 15, 2013 13:26 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 10 ติดตามสถานการณ์ผลกระทบหย่อมความกดอากาศต่ำประเทศเวียดนามเคลื่อนลงสู่อ่าวไทยตอนบนเมื่อต้นพฤศจิกายนที่ผ่านมา เผย ส่งผลกระทบพื้นที่เกษตรกรรมแล้ว แนะเกษตรกรเฝ้าระวังพายุดีเปรสชั่นบริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่างที่อาจส่งผลในช่วง 15-17 พ.ย.นี้

นายธวัชชัย ประยูรสิน ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 10 ราชบุรี (สศข.10) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า หลังจากที่หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงที่อ่อนกำลังลงจากพายุดีเปรสชันอยู่บริเวณเมืองโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนามเคลื่อนลงสู่อ่าวไทยตอนบนในช่วงระหว่างวันที่ 7—9 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ส่งผลให้บริเวณพื้นที่ จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ราชบุรี กาญจนบุรี และภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย จะมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่งผลกระทบความเสียหายของพื้นที่ภาคเกษตรกรรม

ในการนี้ สศข.10 ได้ติดตามสถานการณ์ ซึ่งพบว่า มีพื้นที่ที่คาดว่าจะเสียหายประมาณ 125,000 ไร่ ได้แก่ จังหวัดเพชรบุรี ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมสูงสุด ประกอบไปด้วย 5 อำเภอแรกที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คืออำเภอเมือง บ้านลาด ท่ายาง เขาย้อย และชะอำ โดยมีพืชที่คาดว่าจะได้รับความเสียหาย ร้อยละ 19 ของพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมด แบ่งออกเป็น ข้าว พื้นที่คาดว่าจะเสียหาย ร้อยละ 14 พืชผัก พื้นที่คาดว่าจะเสียหาย ร้อยละ 1 พืชไร่ พื้นที่คาดว่าจะเสียหาย ร้อยละ 0.15 และไม้ผลพื้นที่คาดว่าจะเสียหาย ร้อยละ 4 (ข้อมูล ณ วันที่ 11 พฤศจิกายน 2556)

จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ขณะนี้ได้รับผลกระทบทั้งหมด 5 อำเภอ ได้แก่ สามร้อยยอด ปราณบุรี หัวหิน กุยบุรี และอำเภอเมือง ซึ่งมีพืชที่คาดว่าจะได้รับความเสียหาย ร้อยละ 7 ของพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมด แบ่งออกเป็น ข้าว พื้นที่คาดว่าจะเสียหาย ร้อยละ 3 และพืชไร่ (สับปะรด) และพืชผัก ไม้ยืนต้นและอื่นๆ มีพื้นที่คาดว่าจะเสียหาย ร้อยละ 2 (ข้อมูล ณ วันที 8 พฤศจิกายน 2556)

จังหวัดราชบุรี ได้รับผลกระทบทั้งหมด 5 อำเภอ ได้แก่ ปากท่อ สวนผึ้ง บ้านคา เมือง จอมบึง และโพธาราม โดยมีพืชที่คาดว่าจะเสียหายรวม ร้อยละ 4 ของพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมด แบ่งออกเป็น ข้าว มีพื้นที่คาดว่าจะเสียหาย ร้อยละ 2 พืชไร่ (มันสำปะหลัง สับปะรด) มีพื้นที่คาดว่าจะเสียหาย ร้อยละ 1 และพืชผัก กับไม้ผล พื้นที่คาดว่าจะเสียหาย ร้อยละ 2 และจังหวัดกาญจนบุรี ขณะนี้ได้รับผลกระทบเพียงอำเภอเดียว คือ ด่านมะขามเตี้ย โดยมีพืชที่ได้รับความเสียหาย ได้แก่ ข้าว พืชผัก รวมพื้นที่คาดว่าจะเสียหายประมาณร้อยละ 6 ของพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมด

นายธวัชชัย กล่าวเสริมว่า สำหรับสินค้าเกษตรกรรมที่กำลังผลิตออกสู่ตลาดในช่วงนี้อาจได้รับผลกระทบ ได้แก่ ข้าว สับปะรด พืชผัก เป็นต้น ซึ่งอาจทำให้เกษตรกรบางรายต้องเก็บเกี่ยวผลผลิตก่อนเวลา ส่งผลให้ ผลผลิตที่ได้ไม่มีคุณภาพ ประกอบกับราคาผลผลิตเสียหาย เนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วมในช่วงที่ผ่านมา จึงขอความร่วมมือให้เกษตรกรเฝ้าระวังภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในระยะนี้ อย่างไรก็ตาม ในสัปดาห์นี้ทางกรมอุตุวิทยา ได้มีการประกาศเตือนเกษตรกรให้เฝ้าระวังพายุดีเปรสชั่นบริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่าง และพายุดังกล่าวมีแนวโน้มจะเคลื่อนผ่านตอนใต้ของประเทศเวียดนาม และเข้าปกคลุมภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบนของประเทศไทยในช่วงวันที่ 15-17 พฤศจิกายนนี้ ซึ่งจะส่งผลให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก ภาคกลางตอนล่าง และภาคใต้มีฝนเพิ่มมากขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่ง สำหรับเกษตรกรรายใดที่ได้รับความเสียหายแจ้งกับเจ้าหน้าที่เกษตรอำเภอในพื้นที่ เพื่อรับความช่วยเหลือต่อไป นายธวัชชัย กล่าวทิ้งท้าย

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ