นางเพ็ญศิริ วงษ์วาท รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 3 อุดรธานี (สศข.3) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ใกล้ถึงช่วงที่โรงงานจะทำการเปิดหีบอ้อย ฤดูการผลิต 2556/57 (ประมาณปลายเดือนพฤศจิกายน 2556) และจากสถานการณ์การผลิตอ้อยโรงงาน ปี 2556/57 ในเขตพื้นที่รับผิดชอบ จังหวัดอุดรธานี หนองบัวลำภู เลย หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร และนครพนม ซึ่งมีเนื้อที่เพาะปลูกอ้อยโรงงาน คิดเป็นร้อยละ 23 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สศข.3 ได้คาดคะเนพื้นที่เก็บเกี่ยวพบว่ามีประมาณ 8.27 แสนไร่ เทียบกับปีที่แล้วที่มีพื้นที่เก็บเกี่ยว 8.09 แสนไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2 และผลผลิตรวมประมาณ 9.3 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 8.9 ล้านตันจากปีก่อน คิดเป็นร้อยละ 4 เนื่องจากมีการส่งเสริมการปลูกอ้อยโรงงานจากโรงงานน้ำตาล ตั้งใหม่ ณ อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย 2 แห่ง และที่อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี 1 แห่ง โดยเกษตรกรได้ปลูกอ้อยโรงงานแทนมันสำปะหลัง และที่นาดอน เนื่องจากให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า
สำหรับด้านราคา ทางคณะกรรมการบริหาร(กบ.) ที่มีอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เป็นประธาน ได้เห็นชอบราคาอ้อยขั้นต้นในฤดูการผลิต 2556/57 ที่ 900 บาทต่อตัน บวกเงินค่าความหวาน (ซี.ซี.เอส) ประมาณ 6% จากราคาอ้อย ซึ่งในส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ค่าความหวานเฉลี่ยอยู่ที่ 12-13 ซี.ซี.เอส (ภาพรวมทั้งประเทศ เฉลี่ยที่ 11.64 ซี.ซี.เอส) โดยคาดว่าราคาอ้อยจะไม่ต่ำกว่า 1,000 บาท ขณะที่ต้นทุนการผลิตอ้อยโรงงาน อยู่ที่ 1,129.92 บาทต่อตัน ซึ่งสูงกว่าราคาอ้อยขั้นต้นถึง 230 บาท/ตัน ดังนั้น จึงมอบหมายให้คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) เร่งหาแนวทางในการช่วยเหลือชาวไร่อ้อยต่อไป
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--