นายอนันต์ ลิลา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการบรรยายพิเศษ เรื่อง แนวทางพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตร ว่า ประเทศไทยนับเป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรที่สำคัญประเทศหนึ่งของภูมิภาคเอเชียและของโลก สินค้าที่ผลิตได้ใช้เพื่อการบริโภคภายในประเทศ และส่งออกไปต่างประเทศในรูปสินค้าขั้นปฐมและสินค้าแปรรูป ในปี 2555 การส่งออกสินค้าเกษตรอุตสาหกรรมมีมูลค่า 5.19 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้ ส่งไปภูมิภาคเอเชีย 3.05 แสนล้านบาท ซึ่งจากความตกลงการค้าเสรีสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิต เพื่อเพิ่มโอกาสการส่งออกสินค้า โดยเฉพาะสินค้าข้าว มันสำปะหลัง อ้อยและน้ำตาล ปาล์มน้ำมัน ยางพารา ไก่เนื้อ และกุ้ง นอกจากนี้ การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ซึ่งอุตสาหกรรมเกษตรของไทยจำเป็นต้องมีการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร โดยกระทรวงเกษตรฯ ได้กำหนดนโยบายที่สำคัญ ได้แก่
1. การบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม (Zoning) เพื่อปรับระบบการใช้ที่ดินให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด มีความเหมาะสมของพื้นที่และสินค้าเกษตรแต่ละชนิด โดยมีการจัดการระบบ Logistic and Supply Chain รวมถึงแหล่งรวบรวมผลผลิต อุตสาหกรรม การพัฒนามูลค่าสินค้า ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ บริหารจัดการการผลิตให้เข้าสู่ Green Economy และ Zero Waste Agriculture เพื่อให้เกิดความยั่งยืน โดยการจัดพื้นที่ที่เหมาะสม ผลิตสินค้าที่เหมาะสมกับพื้นที่ และเกษตรกรผู้ผลิตสินค้าจะต้องมีความรู้และทักษะในการทำการเกษตร (Smart Farmers)
2. นโยบายเขตเกษตรเศรษฐกิจ (Agro — economic Zone) เพื่อกำหนดการผลิตแบบกลุ่มสินค้าเศรษฐกิจ โดยใช้เกณฑ์แบ่งเขตจากชนิดของดิน น้ำฝน อุณภูมิ พืชเศรษฐกิจ ประเภทของฟาร์ม และรายได้หลักของเกษตรกร 3. แผนพัฒนาระบบ Logistic ด้านการเกษตร ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาโลจิสติกต์และระบบห่วงโซ่อุปทานภาคการเกษตร พ.ศ. 2556 — 2560 4. การบริหารกลุ่มการผลิตรายสินค้า (Cluster) โดยดำเนินกิจกรรมในพื้นที่ใกล้เคียงกัน มีความร่วมมือเกื้อหนุนเชื่อมโยงและเสริมซึ่งกันและกันอย่างครบวงจร เพื่อเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) ของ Cluster
นอกจากนี้ ยังมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการต่างๆ ได้แก่ คณะอนุกรรมการเขตเกษตรเศรษฐกิจ คณะอนุกรรมการบริหารการผลิตกลุ่มสินค้าเกษตร และกำหนดให้มีการจัดทำยุทธศาสตร์สินค้าเกษตรเพื่อให้สามารถบรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายในการพัฒนา ซึ่งนโยบายและแผนดังกล่าว มีความสอดคล้องกับแผนพัฒนาการเกษตร ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2555 - 2559) ที่ให้ความสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกร การพัฒนาขีดความสามารถในการผลิต การจัดการสินค้าเกษตรและความมั่นคงด้านอาหาร และการพัฒนาทรัพยากรการเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพ สมดุลและยั่งยืน
ทั้งนี้ การนำนโยบายดังกล่าวไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม จำเป็นต้องอาศัยนักวิชาการที่มีความรู้ ความสามารถ ในการวิเคราะห์และเสนอแนวทางการพัฒนาฯ และสามารถเชื่อมโยงภารกิจต่างๆ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อให้การพัฒนาภาคเกษตรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น การบรรยายดังกล่าว ซึ่งได้รับเกียรติจาก ดร. กนก คติการ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้บรรยายพิเศษ จะเป็นประโชน์ต่อนักวิชาการของ สศก. และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ สามารถนำไปวิเคราะห์และเสนอแนวทางพัฒนาขีดความสามารถด้านการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมเกษตร และสามารถเชื่อมโยงภารกิจต่างๆ ของกระทรวงเกษตรฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต่อไป
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--