สศข.6 แจงสถานการณ์อ้อยภาคตะวันออกปี 56/57 แนะเกษตรกรตัดอ้อยสด รักษาความหวาน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 25, 2013 13:24 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 6 ระบุ อ้อยภาคตะวันออกฤดูกาลผลิต 56/57 มีพื้นที่เก็บเกี่ยวลดลง เนื่องจากเกาตรกรหันปลูกไม้ยืนต้น เผย ขณะนี้โรงงานเริ่มทยอยเปิดหีบอ้อยแล้วตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา โดยปริมาณอ้อยที่เก็บเกี่ยวส่วนใหญ่ เป็นอ้อยไฟไหม่ส่งผลค่าความหวานลดลง แนะเกษตรกรตัดอ้อยสดส่งโรงงานเพื่อคงความหวานและปริมาณน้ำตาลต่อตันอ้อยเพิ่มขึ้น

นายพลเชษฐ์ ตราโช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 6 ชลบุรี (สศข.6) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงผลผลิตอ้อยภาคตะวันออก ฤดูการผลิตปี 2556/57 ซึ่งคาดว่ามีพื้นที่เก็บเกี่ยว 382,924 ไร่ ลดลงจากปี 2555/56 จำนวน 13,510 ไร่ หรือลดลงร้อยละ 3 ส่วนผลผลิต 4,149,798 ตัน ลดลงจำนวน 89,049 ตัน หรือลดลงร้อยละ 2 โดยพื้นที่เก็บเกี่ยวของจังหวัดสระแก้วลดลงมากที่สุดประมาณ 5,000 ไร่ รองลงมา คือ จังหวัดชลบุรี ฉะเชิงเทรา ระยอง จันทบุรี และปราจีนบุรี ตามลำดับ สาเหตุจากเกษตรกรหันไปปลูกไม้ผลไม้ยืนต้นที่ให้ผลตอบแทนดีกว่าเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม พบว่า ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นร้อยละ 1 เนื่องจากเกษตรกรดูแลรักษาดีและปริมาณน้ำฝนเพียงพอ

ในการนี้ จากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิต 2556/57 ตันละ 900 บาท ณ ค่าความหวาน 10 ซี.ซี.เอส. และกำหนดราคาขึ้นลง 54 บาทต่อ 1 ซี.ซี.เอส.ต่อตัน ซึ่งขณะนี้โรงงานน้ำตาลภาคตะวันออกทั้ง 4 แห่ง ได้ทยอยเปิดหีบอ้อยแล้วตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา โดยบริษัทน้ำตาลนิวกว้างซุนหลี จำกัด จังหวัดชลบุรี เปิดหีบวันที่ 2 ธันวาคม 2556 บริษัทน้ำตาลและอ้อยตะวันออก จังหวัดสระแก้ว เปิดหีบวันที่ 4 ธันวาคม 2556 บริษัทน้ำตาลระยอง จำกัด จังหวัดชลบุรี เปิดหีบวันที่ 11 ธันวาคม 2556 และบริษัท สหการน้ำตาลชลบุรี จำกัด จังหวัดชลบุรี เปิดหีบวันที่ 13 ธันวาคม 2556 ซึ่งขณะนี้ (ข้อมูล ณ วันที่ 17 ธ.ค. 56) มีปริมาณอ้อยเข้าหีบแล้วรวม 194,567 ตัน แบ่งเป็นอ้อยสด 64,070 ตัน คิดเป็นร้อยละ 33 และอ้อยไฟไหม้ 130,497 ตัน คิดเป็นร้อยละ 67 ของปริมาณอ้อยที่เข้าหีบทั้งหมด

นายพลเชษฐ์ กล่าวต่อไปว่า ปริมาณอ้อยที่เก็บเกี่ยวช่วงนี้ ส่วนใหญ่เป็นอ้อยไฟไหม้ คือ เป็นอ้อยที่เกษตรทำการเผาก่อนตัดส่งโรงงานถึงร้อยละ 67 นั้น เนื่องจากมีอุปสรรคหลายประการ เช่น ขาดแคลนแรงงานตัดอ้อยสด เครื่องจักรกลไม่เพียงพอใช้งานในช่วงเก็บเกี่ยวพร้อมกัน เป็นต้น โดยการตัดอ้อยไฟไหม้ส่งผลให้ค่าความหวานลดลง ซึ่งค่าความหวานของอ้อยช่วงเปิดฤดูกาลปี 2556/57 นี้ โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 10.22 ซี.ซี.เอส ต่ำกว่าความหวานเฉลี่ยของภาคตะวันออกเมื่อปิดหีบในฤดูการผลิต ปี 2555/56 ที่มีความหวานเฉลี่ย 10.92 ซี.ซี.เอส และต่ำกว่าค่าความหวานเฉลี่ยทั้งประเทศที่ 11.64 ซี.ซี.เอส ทั้งนี้ พบว่า มีปริมาณน้ำตาลต่อตันอ้อย 66.19 กิโลกรัมต่อตันอ้อย ซึ่งยังต่ำกว่าฤดูการผลิตปีที่ผ่านมาของภาคตะวันออกที่มีปริมาณน้ำตาลต่อตันอ้อย 92.14 กิโลกรัมต่อตันอ้อย และต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั้งประเทศ 100.24 กิโลกรัมต่อตันอ้อย

ทั้งนี้ ควรเร่งรณรงค์ให้เกษตรกรตัดอ้อยสดส่งโรงงานมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อเกษตรกรชาวไร่จะทำให้ความหวานและปริมาณน้ำตาลต่อตันอ้อยเพิ่มขึ้น และราคาที่เกษตรกรได้รับเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งขณะนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เร่งดำเนินการกำหนดเขตพื้นที่เหมาะสมสำหรับการปลูกอ้อย (Zoning) รวมทั้งการลดพื้นที่ทำนาที่ไม่เหมาะสมแต่มีความเหมาะสมต่อการปลูกอ้อยแล้ว ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของโรงงาน และส่งผลดีต่อทั้งเกษตรกรและโรงงานน้ำตาลอีกด้วย

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ