นายอนุสรณ์ พรชัย ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเขต 1 (สศข.1) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ปัญหาหมอกควันและไฟป่าเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงหน้าแล้งของทุกปีในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการเผาในพื้นที่เกษตรและการเผาวัชพืชริมทาง ประกอบกับลักษณะภูมิประเทศที่เป็นแอ่งกระทะ สภาวะอากาศที่แห้งและนิ่ง ทำให้ฝุ่นละอองแขวนลอยอยู่ในอากาศ ส่งผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัยของประชาชน บดบังทัศนวิสัย และยังส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวอีกด้วย
ในการนี้ จากการประชุมเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน ปี 2557 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา จังหวัดเชียงใหม่นั้น นายกรัฐมนตรีได้ให้ทางจังหวัดบริหารจัดการแบบเบ็ดเสร็จ โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดจัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 นอกจากนี้ ยังดำเนินการป้องกันเชิงรุก โดยให้จังหวัดทำประชาคมระดมความคิดเห็น เพื่อกำหนดช่วงเวลาห้ามเผาในช่วงวิกฤตหมอกควันตามความเหมาะสม และจัดการพื้นที่เสี่ยงอย่างเข้มข้น โดยให้จังหวัดกำหนดพื้นที่เสี่ยงต่อการเผา และดำเนินมาตรการป้องกันเชิงรุกไม่ให้เกิดการเผาในพื้นที่เสี่ยง ให้ประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ข้อมูล ซึ่งใช้ระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารและแจ้งเตือนสถานการณ์หมอกควันผ่านสื่อต่าง ๆ ทั้งนี้ จะมีการประเมินผลความสำเร็จและปัญหาอุปสรรคของการดำเนินงาน
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทั้ง 9 จังหวัด (เชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน พะเยา แม่ฮ่องสอน ตาก) ได้เร่งรณรงค์ให้มีการการทำปุ๋ยหมักจากเศษวัชพืชต่างๆ รวมถึงประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือเกษตรกรในการหยุดเผาตอซังข้าว เพราะนอกจากจะก่อให้เกิดมลภาวะด้านหมอกควันแล้ว ยังส่งผลเสียต่อการเพาะปลูกของตัวเกษตรกรเอง โดยจากการวิจัยพบว่า การเผาตอซังข้าวทำให้เกิดการสูญเสียปุ๋ยที่ควรจะได้จากการย่อยสลายของฟางข้าวและตอซัง ซึ่งการงดเผาตอซังข้าวจะช่วยให้สามารถลดปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีที่จะใช้ในฤดูกาลต่อไปได้ อีกทั้งในด้านเศรษฐกิจยังพบว่า เฉพาะการเผาทิ้งเศษเหลือจากตอซังและฟางข้าวเพียงอย่างเดียว ทำให้ต้องสูญเสียธาตุอาหารหลักต่อปีที่เป็นไนโตรเจนถึง 90 ล้านกิโลกรัม ฟอสฟอรัส 20 ล้านกิโลกรัม และโพแทสเซี่ยม 260 ล้านกิโลกรัม และยังไม่นับการสูญเสียธาตุอาหารรอง เช่น แคลเซียม แมกนีเซี่ยม และซัลเฟอร์ อีกกว่า 150 ล้านกิโลกรัมต่อปี ที่คิดเป็นมูลค่ากว่าห้าพันล้านบาท ยิ่งไปกว่านั้น การเผาตอซังข้าวยังทำให้เกิดการเสื่อมสภาพของดินและทำลายโครงสร้างของดิน เนื่องจากความร้อนจากการเผาจะทำให้โครงสร้างดินเปลี่ยนแปลงไป เนื้อดินจับตัวแน่น สูญเสียอินทรีย์วัตถุในดิน ทำลายจุลินทรีย์ สัตว์ และแมลงที่เป็นประโยชน์อีกด้วย
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--