เกาะติดผลผลิตหอมแดงในแหล่งผลิตใหญ่ จ.ศรีสะเกษ สศข.11 มั่นใจ ปีนี้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มหลายเท่าตัว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 27, 2014 13:13 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สศข.11 ติดตามสถานการณ์การผลิตหอมแดง จังหวัดศรีสะเกษ แหล่งผลิตอันดับหนึ่งของภาคอีสาน เผย ปีนี้พื้นที่ปลูกลดลง จากสภาพอากาศแปรปรวนในปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ผลผลิตไม่มีคุณภาพ มั่นใจปีนี้ สภาพอากาศเอื้ออำนวย ดันผลผลิตต่อไร่เพิ่มมากขึ้นกว่าปีแล้วที่เฉลี่ย 2,800 - 3,200 กิโลกรัมต่อไร่

นายไพฑูรย์ สีลาพัฒน์ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 11 (สศข.11) อุบลราชธานี สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า อาชีพการปลูกหอมแดง เป็นอาชีพหนึ่งในภาคการเกษตรที่มีความสำคัญต่อเกษตรกรชาวจังหวัดศรีสะเกษ เพราะมีพื้นที่ปลูกหอมแดงมากเป็นอันดับ 1 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และถือว่าเป็นพืชเศรษฐกิจที่ทำรายได้ให้เกษตรกรมากตัวหนึ่ง ซึ่งหอมแดงเป็นพืชล้มลุก มีลำต้นใต้ดิน เรียกว่า หัว ไว้สะสมอาหาร โดยเป็นพืชที่ให้ผลตอบแทนในระยะเวลาอันสั้น แต่มีราคาส่งขายที่แตกต่างกันไปเมื่อเทียบกับพืชผักชนิดอื่น อย่างไรก็ตาม หอมแดงค่อนข้างมีราคาสูงกว่าและมีต้นทุนที่สูงมากกว่าการปลูกพืชชนิด อื่นด้วย

ปัจจุบัน หอมแดงนับวันจะมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยเพิ่มขึ้น โดยในส่วนของจังหวัด ศรีสะเกษ มีพื้นที่เหมาะสมต่อการปลูกหอมแดง ซึ่งพื้นที่ปลูกส่วนใหญ่เป็นดินร่วนที่มีความเป็นกรดเป็นด่าง (pH) ประมาณ 5.0-6.5 และความชื้นในดินสูง (เกษตรกรใช้ดินจอมปลวกซึ่งมีธาตุอาหารในดินสูง) โดยปีนี้ จังหวัดศรีสะเกษมีเนื้อที่ปลูกหอมแดงโดยประมาณ 21,000 ไร่ ลดลงจากปีที่แล้ว เนื่องจากปีที่ผ่านมาเกษตรกรส่วนใหญ่ขาดทุน เพราะสภาพอากาศแปรปรวน อากาศร้อนจัด เกิดโรคและแมลงระบาด ทำให้ผลผลิตลดลง จึงส่งผลให้ผลผลิตที่ได้ไม่มีคุณภาพ หรือบางรายไม่ได้เก็บเกี่ยวผลผลิตเพราะไม่คุ้มค่าแรงงาน

อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ สภาพอากาศนั้นเอื้ออำนวย จึงคาดว่าผลผลิตต่อไร่จะเพิ่มมากขึ้นกว่าปีที่แล้วเฉลี่ย 2,800-3,200 กิโลกรัมต่อไร่ โดยส่วนใหญ่ผลผลิตหอมแดงจำหน่ายภายในประเทศ คิดเป็นร้อยละ 65 ส่วนที่เหลือร้อยละ 35 จะส่งไปจำหน่ายยังต่างประเทศ ซึ่งประเทศส่งออกรายใหญ่ คือ อินโดนีเชีย มาเลเชีย โดยพ่อค้าชาวศรีสะเกษ จะมีการคัดเกรดสินค้าตามที่ตลาดต่างประเทศต้องการ ทั้งนี้ ราคาหอมแดงที่เกษตรกรขายได้ (หอมปึ่ง = หอมแดงตากแห้งยังไม่ทำการมัดจุก) ณ ไร่นา ปัจจุบันอยู่ที่กิโลกรัมละ 15 บาท โดยช่วงต้นฤดูการเก็บเกี่ยว ราคาจะพุ่งสูงถึงกิโลกรัมละ 35 บาท และปัจจุบันเก็บเกี่ยวได้ ร้อยละ 60 ของพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมด ซึ่งคาดว่าราคาจะไม่ลดต่ำมากกว่านี้ นอกจากนี้ เกษตรกรจะมีรายได้จากการเก็บดอกหอมแดงจำหน่าย โดยเฉลี่ยกิโลกรัมละ 25 บาท ซึ่งสามารถทำรายได้ให้กับครัวเรือนมากกว่าทุกปี

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ