ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 20, 2014 14:58 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การตลาด

โครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/56

ผลการดำเนินงาน จำนวนเกษตรกรที่รับเงินกับ ธ.ก.ส. (ตั้งแต่ วันที่ 1 ตุลาคม 2555 – 11 กุมภาพันธ์ 2557)

  • จำนวนสัญญา 2,909,414 สัญญา
  • จำนวนตัน 22,459,049 ตัน
  • จำนวนเงิน 351,655.181 ล้านบาท
โครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2556/57

1) มติ ครม. วันที่ 3 กันยายน 2556 รับทราบราคา ปริมาณ วงเงินการรับจำนำข้าวเปลือกของเกษตรกร และระยะเวลาการรับจำนำโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2556/57

2) ชนิดและราคารับจำนำข้าวเปลือก ปี 2556/57 ให้กำหนดชนิดและราคารับจำนำข้าวเปลือก ปี 2556/57 ณ ความชื้นไม่เกิน 15 % ดังนี้

  • ครั้งที่ 1

(1) ข้าวเปลือกหอมมะลิ (42 กรัม) ตันละ 20,000 บาท

(2) ข้าวเปลือกหอมจังหวัด (40 กรัม) ตันละ 18,000 บาท

(ข้าวหอมมะลินอกพื้นที่ 23 จังหวัด)

(3) ข้าวเปลือกปทุมธานี 1 (42 กรัม) ตันละ 16,000 บาท

(4) ข้าวเปลือกเจ้า :-

ข้าวเปลือกเจ้า 100% ตันละ 15,000 บาท

ข้าวเปลือกเจ้า 5% ตันละ 14,800 บาท

ข้าวเปลือกเจ้า 10% ตันละ 14,600 บาท

ข้าวเปลือกเจ้า 15% ตันละ 14,200 บาท

ข้าวเปลือกเจ้า 25% ตันละ 13,800 บาท

(5) ข้าวเปลือกเหนียว :-

ข้าวเปลือกเหนียว 10% เมล็ดยาว (42 กรัม) ตันละ 16,000 บาท

ข้าวเปลือกเหนียว 10% เมล็ดสั้น (40 กรัม) ตันละ 15,000 บาท

ทั้งนี้ ราคารับจำนำข้าวเปลือกหอมมะลิและข้าวเปลือกปทุมธานี 1 ให้ปรับเพิ่ม – ลดตามจำนวนกรัมในอัตรากรัมละ 200 บาท และราคารับจำนำข้าวเปลือกเหนียว ให้ปรับเพิ่ม – ลดตามจำนวนกรัม โดยเมล็ดยาว ในอัตรากรัมละ 160 บาท และเมล็ดสั้นในอัตรากรัมละ 150 บาท

  • ครั้งที่ 2

(1) ข้าวเปลือกปทุมธานี 1 (42 กรัม) ตันละ 16,000 บาท

(2) ข้าวเปลือกเจ้า :-

ข้าวเปลือกเจ้า 100% ตันละ 13,000 บาท

ข้าวเปลือกเจ้า 5% ตันละ 12,800 บาท

ข้าวเปลือกเจ้า 10% ตันละ 12,600 บาท

ข้าวเปลือกเจ้า 15% ตันละ 12,200 บาท

ข้าวเปลือกเจ้า 25% ตันละ 11,800 บาท

(3) ข้าวเปลือกเหนียว :-

ข้าวเปลือกเหนียว 10% เมล็ดยาว (42 กรัม) ตันละ 16,000 บาท

ข้าวเปลือกเหนียว 10% เมล็ดสั้น (40 กรัม) ตันละ 15,000 บาท

ทั้งนี้ ราคารับจำนำข้าวเปลือกปทุมธานี 1 ให้ปรับเพิ่ม – ลดตามจำนวนกรัมในอัตรากรัมละ 200 บาท และราคารับจำนำข้าวเปลือกเหนียว ให้ปรับเพิ่ม – ลดตามจำนวนกรัม โดยเมล็ดยาว ในอัตรากรัมละ 160 บาท และเมล็ดสั้นในอัตรากรัมละ 150 บาท 3) เป้าหมายการรับจำนำ จะรับจำนำข้าวเปลือกคุณภาพดี โดยจะไม่รับจำนำข้าวเปลือกที่มีอายุน้อยกว่า 110 วัน ที่มีคุณภาพต่ำ จำนวน 18 พันธุ์ ตามที่กรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประกาศ โดยจะไม่ให้เข้าร่วมโครงการฯ ทั้ง 2 ครั้ง 4) วงเงินการรับจำนำ

  • ครั้งที่ 1 ไม่เกินรายละ 350,000 บาท
  • ครั้งที่ 2 ไม่เกินรายละ 300,000 บาท
5) เป้าหมายการรับจำนำ รวมจำนวน 16.5 ล้านตัน
6) ระยะเวลารับจำนำ
  • ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2556 – 28 กุมภาพันธ์ 2557

ยกเว้น ภาคใต้จะสิ้นสุดวันที่ 31 กรกฎาคม 2557

  • ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 1 มีนาคม – 30 กันยายน 2557

ยกเว้น ภาคใต้ระว่างวันที่ 1 สิงหาคม – 30 พฤศจิกายน 2557 7) ผลการดำเนินงาน ครั้งที่ 1 จำนวนเกษตรกรที่รับเงินกับ ธ.ก.ส. (ตั้งแต่ วันที่ 1 ตุลาคม 2556 – 11 กุมภาพันธ์ 2557)

  • จำนวนสัญญา 573,477 สัญญา
  • จำนวนตัน 3,859,716 ตัน
  • จำนวนเงิน 62,242.453 ล้านบาท

ภาวการณ์ซื้อขายข้าวสัปดาห์นี้ ราคาข้าวเปลือกที่เกษตรกรขายได้เมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาทรงตัว เนื่องจากบางพื้นที่ผลผลิตประสบภัยแล้ง ส่งผลให้ข้าวมีคุณภาพไม่ดีเท่าที่ควร และผู้ประกอบการบางรายชะลอการสั่งซื้อข้าว เพื่อรอดูผลการระบายข้าวของรัฐบาล

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลินาปี ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 11,774 บาท ราคาทรงตัวเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ราคาข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 7,827 บาท ราคาทรงตัวเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 13,450 บาท ราคาลดลงจากตันละ 13,550 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.74

3) ราคาส่งออก เอฟ.โอ.บี.

ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 1,014 ดอลลาร์สหรัฐฯ (33,093 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 1,011 ดอลลาร์สหรัฐฯ (32,995 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.30 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 98 บาท

ราคาข้าวปทุมธานี ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 716 ดอลลาร์สหรัฐฯ (23,368 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 714 ดอลลาร์สหรัฐฯ (23,302 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.28 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 66 บาท

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 460 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,013 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 456 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,882 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.88 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 131 บาท

ราคาข้าวสารเจ้า 25% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 383 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,500 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 380 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,402 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.79 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 98 บาท

ราคาข้าวนึ่ง 5% ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 464 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,143 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 462 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,078 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.43 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 65 บาท หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 32.5329 บาท

2. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในต่างประเทศ

สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

อินเดีย

องค์กรพัฒนาการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารแปรรูป (Agricultural and Processed Food Products Export Development Authority: APEDA) เปิดเผยว่า ในช่วงเดือนเมษายน – พฤศจิกายน ของปีงบประมาณ 2556/57 (เมษายน 2556 – มีนาคม 2557) อินเดียส่งออกข้าวบาสมาติและข้าวที่ไม่ใช่บาสมาติได้ราว 7 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 6.39 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2555/56 และคาดการณ์ว่า ในปี 2556/57 อินเดียจะส่งออกข้าวได้รวม 10.5 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 10.15 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับ ปี 2555/56

โดยมูลค่าการส่งออกในช่วงเดือนเมษายน – พฤศจิกายน 2556 อินเดียส่งออกข้าวคิดเป็นมูลค่า 2,912,430 ล้านรูปี (หรือประมาณ 4,884 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 158,891 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นจาก 2,028,460 ล้านรูปี (หรือประมาณ 3,716 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 120,892 ล้านบาท) หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 44 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2555/56 ทั้งนี้ ในช่วง 8 เดือน มูลค่าส่งออกขยายตัวในรูปของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ร้อยละ 31

ในช่วงเดือนเมษายน – พฤศจิกายน 2556 อินเดียส่งออกข้าวบาสมาติประมาณ 2.37 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 2.13 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 11 คิดเป็นมูลค่า 175,290 ล้านรูปี (หรือประมาณ 2,962 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 96,362 ล้านบาท) โดยเพิ่มขึ้นจากมูลค่า 112,190 ล้านรูปี (หรือประมาณ 2,055 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 66,855 ล้านบาท) หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 56 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2555/56 ทั้งนี้ ในช่วง 8 เดือน มูลค่าส่งออกข้าวบาสมาติขยายตัวในรูปของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ร้อยละ 44

ขณะที่ ในช่วงเดียวกัน อินเดียส่งออกข้าวที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติประมาณ 4.65 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 4.26 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 9 คิดเป็นมูลค่า 115,950 ล้านรูปี (หรือประมาณ 1,921 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 64,296 ล้านบาท) โดยเพิ่มขึ้นจากมูลค่า 90,660 ล้านรูปี (หรือประมาณ 1,661 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 54,037 ล้านบาท) หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 28 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ 2555/56 ทั้งนี้ ในช่วง 8 เดือน มูลค่าส่งออกข้าวที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติขยายตัวในรูปของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ร้อยละ 16

ที่มา Oryza.com

เวียดนาม

สมาคมอาหารแห่งเวียดนาม (Vietnam Food Association: VFA) เปิดเผยว่า ในเดือนมกราคม 2557 เวียดนามส่งออกข้าวได้ 307,000 ตัน ลดลงร้อยละ 24 คิดเป็นมูลค่าส่งออก 127.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือประมาณ 4,148 ล้านบาท) หรือลดลงร้อยละ 31 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ ราคาส่งออกข้าว เฉลี่ยตันละ 415 ดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือประมาณตันละ 13,501 บาท) สมาคมฯ รายงานว่า ข้าวที่ส่งออกในเดือนมกราคมส่วนใหญ่ส่งออกไปยังประเทศฟิลิปปินส์ ส่วนข้าวที่ส่งออกไปยังประเทศจีนและประเทศในทวีปแอฟริกามีการชะลอตัวในช่วงที่ผ่านมา ทั้งนี้ ในเดือนกุมภาพันธ์ เวียดนามตั้งเป้าส่งออกข้าวไว้ที่ 300,000 – 350,000 ตัน และหากเวียดนามต้องการบรรลุเป้าหมายการส่งออกปี 2557 ที่ตั้งไว้ที่ 7 ล้านตัน เวียดนามจะต้องส่งออกข้าวให้ได้เดือนละ 583,000 ตัน

ที่มา Oryza.com

จีน

สื่อท้องถิ่นรายงานว่า จีนปรับราคารับซื้อขั้นต่ำข้าวเปลือก (purchasing price) เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 2.2 – 3.3 โดยคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ (National Development and Reform Commission: NDRC) เปิดเผยว่า ในปี 2557 ราคาขั้นต่ำ (support price) สำหรับข้าวเปลือกต้นฤดูพันธุ์อินดิกา กิโลกรัมละ 2.70 หยวน เพิ่มขึ้นจากกิโลกรัมละ 2.64 หยวน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3 ราคาขั้นต่ำสำหรับข้าวเปลือกกลาง-ปลายฤดู พันธุ์อินดิกา กิโลกรัมละ 2.76 หยวน เพิ่มขึ้นจากกิโลกรัมละ 2.70 หยวน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 ขณะที่ ราคาขั้นต่ำสำหรับข้าวเปลือกพันธุ์จาปอนิกา กิโลกรัมละ 3.10 หยวน เพิ่มขึ้นจากกิโลกรัมละ 3.0 หยวน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3 เมื่อเทียบกับปี 2556

ทั้งนี้ ในปี 2557 เมื่อคิดในรูปของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ราคาขั้นต่ำสำหรับข้าวเปลือกต้นฤดูพันธุ์อินดิกา ตันละ 442 ดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือประมาณตันละ 14,379 บาท) เพิ่มขึ้นจากตันละ 420 ดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือประมาณ ตันละ 13,664 บาท) หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 ราคาขั้นต่ำสำหรับข้าวเปลือกกลาง-ปลายฤดูพันธุ์อินดิกา ตันละ 452 ดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือประมาณตันละ 14,705 บาท) เพิ่มขึ้นจากตันละ 430 ดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือประมาณตันละ 13,989 บาท) หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 ขณะที่ ราคาขั้นต่ำสำหรับข้าวเปลือกพันธุ์จาปอนิกา ตันละ 508 ดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือประมาณตันละ 16,507 บาท) เพิ่มขึ้นจากตันละ 478 ดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือประมาณตันละ 15,551 บาท) หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 6 เมื่อเทียบกับปี 2556

คณะกรรมการฯ เปิดเผยเพิ่มเติมว่า การปรับเพิ่มราคาขั้นต่ำจะช่วยเพิ่มผลผลิตข้าวในประเทศ โดยรัฐบาลจีนกล่าวในเอกสารด้านนโยบายว่า การพึ่งพาตนเองด้านการผลิตข้าวเป็นเป้าหมายสำคัญของประเทศ และรัฐบาล จะยังคงดำเนินการกำหนดราคาขั้นต่ำและสนับสนุนเกษตรกรต่อไป

อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ รายงานว่า การปรับเพิ่มราคาขั้นต่ำจะทำให้ราคาข้าวในประเทศปรับตัวสูงขึ้น และส่งผลให้จีนต้องนำเข้าข้าวจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ในปี 2553/54 จีนนำเข้าข้าวประมาณ 540,000 ตัน และเพิ่มขึ้นเป็น 3.1 ล้านตัน ในปี 2555/56 โดยรัฐบาลจีนให้เหตุผลว่า จีนนำเข้าข้าวเพิ่มขึ้นเนื่องจากราคาข้าวในตลาดโลกลดลง

ที่มา Oryza.com

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 10 - 16 กุมภาพันธ์ 2557--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ