ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 5, 2014 11:11 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การตลาด

โครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/56

ผลการดำเนินงาน

จำนวนเกษตรกรที่รับเงินกับ ธ.ก.ส. (ตั้งแต่ วันที่ 1 ตุลาคม – 23 กุมภาพันธ์ 2557)

  • จำนวนสัญญา 2,909,414 สัญญา
  • จำนวนตัน 22,459,054 ตัน
  • จำนวนเงิน 351,655.245 ล้านบาท

โครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2556/57

1) มติ ครม. วันที่ 3 กันยายน 2556 รับทราบราคา ปริมาณ วงเงินการรับจำนำข้าวเปลือกของเกษตรกร และระยะเวลาการรับจำนำโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2556/57

2) ชนิดและราคารับจำนำข้าวเปลือก ปี 2556/57 ให้กำหนดชนิดและราคารับจำนำข้าวเปลือก ปี 2556/57 ณ ความชื้นไม่เกิน 15 % ดังนี้

  • ครั้งที่ 1

(1) ข้าวเปลือกหอมมะลิ (42 กรัม) ตันละ 20,000 บาท

(2) ข้าวเปลือกหอมจังหวัด (40 กรัม) ตันละ 18,000 บาท

(ข้าวหอมมะลินอกพื้นที่ 23 จังหวัด)

(3) ข้าวเปลือกปทุมธานี 1 (42 กรัม) ตันละ 16,000 บาท

(4) ข้าวเปลือกเจ้า :-

ข้าวเปลือกเจ้า 100% ตันละ 15,000 บาท

ข้าวเปลือกเจ้า 5% ตันละ 14,800 บาท

ข้าวเปลือกเจ้า 10% ตันละ 14,600 บาท

ข้าวเปลือกเจ้า 15% ตันละ 14,200 บาท

ข้าวเปลือกเจ้า 25% ตันละ 13,800 บาท

(5) ข้าวเปลือกเหนียว :-

ข้าวเปลือกเหนียว 10% เมล็ดยาว (42 กรัม) ตันละ 16,000 บาท

ข้าวเปลือกเหนียว 10% เมล็ดสั้น (40 กรัม) ตันละ 15,000 บาท

ทั้งนี้ ราคารับจำนำข้าวเปลือกหอมมะลิและข้าวเปลือกปทุมธานี 1 ให้ปรับเพิ่ม – ลดตามจำนวนกรัมในอัตรากรัมละ 200 บาท และราคารับจำนำข้าวเปลือกเหนียว ให้ปรับเพิ่ม – ลดตามจำนวนกรัม

โดยเมล็ดยาว ในอัตรากรัมละ 160 บาท และเมล็ดสั้นในอัตรากรัมละ 150 บาท

  • ครั้งที่ 2

(1) ข้าวเปลือกปทุมธานี 1 (42 กรัม) ตันละ 16,000 บาท

(2) ข้าวเปลือกเจ้า :-

ข้าวเปลือกเจ้า 100% ตันละ 13,000 บาท

ข้าวเปลือกเจ้า 5% ตันละ 12,800 บาท

ข้าวเปลือกเจ้า 10% ตันละ 12,600 บาท

ข้าวเปลือกเจ้า 15% ตันละ 12,200 บาท

ข้าวเปลือกเจ้า 25% ตันละ 11,800 บาท

(3) ข้าวเปลือกเหนียว :-

ข้าวเปลือกเหนียว 10% เมล็ดยาว (42 กรัม) ตันละ 16,000 บาท

ข้าวเปลือกเหนียว 10% เมล็ดสั้น (40 กรัม) ตันละ 15,000 บาท

ทั้งนี้ ราคารับจำนำข้าวเปลือกปทุมธานี 1 ให้ปรับเพิ่ม – ลดตามจำนวนกรัมในอัตรากรัมละ 200 บาท และราคารับจำนำข้าวเปลือกเหนียว ให้ปรับเพิ่ม – ลดตามจำนวนกรัม โดยเมล็ดยาว ในอัตรากรัมละ

160 บาท และเมล็ดสั้นในอัตรากรัมละ 150 บาท

3) เป้าหมายการรับจำนำ จะรับจำนำข้าวเปลือกคุณภาพดี โดยจะไม่รับจำนำข้าวเปลือกที่มีอายุน้อยกว่า 110 วัน ที่มีคุณภาพต่ำ จำนวน 18 พันธุ์ ตามที่กรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประกาศ โดยจะไม่ให้เข้าร่วมโครงการฯ ทั้ง 2 ครั้ง

4) วงเงินการรับจำนำ

  • ครั้งที่ 1 ไม่เกินรายละ 350,000 บาท
  • ครั้งที่ 2 ไม่เกินรายละ 300,000 บาท

5) เป้าหมายการรับจำนำ รวมจำนวน 16.5 ล้านตัน

6) ระยะเวลารับจำนำ

  • ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2556 – 28 กุมภาพันธ์ 2557 ยกเว้น ภาคใต้จะสิ้นสุดวันที่ 31 กรกฎาคม 2557
  • ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 1 มีนาคม – 30 กันยายน 2557 ยกเว้น ภาคใต้ระว่างวันที่ 1 สิงหาคม – 30 พฤศจิกายน 2557

7) ผลการดำเนินงาน ครั้งที่ 1

จำนวนเกษตรกรที่รับเงินกับ ธ.ก.ส. (ตั้งแต่ วันที่ 1 ตุลาคม 2556 – 23 กุมภาพันธ์ 2557)

  • จำนวนสัญญา 610,797 สัญญา
  • จำนวนตัน 4,095,161 ตัน
  • จำนวนเงิน 66,203.154 ล้านบาท

ภาวการณ์ซื้อขายข้าวสัปดาห์นี้ ราคาข้าวเปลือกที่เกษตรกรขายได้เมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา มีราคาลดลง เนื่องจากอยู่ในช่วงต้นฤดูเก็บเกี่ยวข้าวนาปรัง คุณภาพข้าวไม่ดีเท่าที่ควร ประกอบกับความต้องการของตลาดไม่เพิ่มขึ้น

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลินาปี ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 14,135 บาท ราคาลดลงจากตันละ 14,343 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 1.45

ราคาข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 7,814 บาท ราคาลดลงจากตันละ 7,840 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.34

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 13,350 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

3) ราคาส่งออก เอฟ.โอ.บี.

ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 1,021 ดอลลาร์สหรัฐฯ (33,008 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 1,020 ดอลลาร์สหรัฐฯ (32,893 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.10 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 115 บาท

ราคาข้าวปทุมธานี ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 737 ดอลลาร์สหรัฐฯ (23,827 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 736 ดอลลาร์สหรัฐฯ (23,735 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.14 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 92 บาท

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 458 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,807 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 463 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,931 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.08 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 124 บาท

ราคาข้าวสารเจ้า 25% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 381 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,317 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 385 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,416 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.04 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 99 บาท

ราคาข้าวนึ่ง 5% ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 467 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,098 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 466 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,028 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.21 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 70 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 32.3291 บาท

2. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในต่างประเทศ

สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

ปากีสถาน

สำนักงานสถิติปากีสถาน (Pakistan Bureau of Statistics: PBS) เปิดเผยว่า ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2556/57 (กรกฎาคม 2556 – มิถุนายน 2557) ปากีสถานส่งออกข้าวประมาณ 1.76 ล้านตัน ลดลงจาก 1.79 ล้านตัน หรือลดลงร้อยละ 1.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2555/56 ทั้งนี้ คิดเป็นมูลค่าส่งออก 129,700 ล้านรูปี (หรือประมาณ 1,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 38,795 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นจาก 95,700 ล้านรูปี (หรือประมาณ 998 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 32,264 ล้านบาท) หรือเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 36 ในรูปเงินรูปี และเพิ่มขึ้นร้อยละ 2 ในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2555/56

ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2556/57 ปากีสถานส่งออกข้าวบาสมาติ 324,238 ตัน ลดลงจาก 345,863 ตัน หรือลดลงประมาณร้อยละ 6.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2555/56 ทั้งนี้ คิดเป็นมูลค่าส่งออก 35,270 ล้านรูปี (หรือประมาณ 336.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 10,879 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นจาก 31,920 ล้านรูปี (หรือประมาณ 334 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 10,798 ล้านบาท) หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.5 ในรูปเงินรูปี และเพิ่มขึ้นในรูปเงินดอลลาร์ร้อยละ 0.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2555/56 โดยในช่วงเดือนกรกฎาคม 2556 – มกราคม 2557 ราคาข้าวบาสมาติเฉลี่ยตันละ 1,060 ดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือประมาณตันละ 34,269 บาท) เพิ่มขึ้นจากตันละ 971 ดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือประมาณตันละ 31,392 บาท) หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.2 เมื่อเทียบกับ ช่วงเดียวกันของปี 2555/56

สำหรับข้าวที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติ ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2556/57 ปากีสถานส่งออกได้ 205,403 ตัน เพิ่มขึ้นจาก 201,150 ตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2555/56 ทั้งนี้ คิดเป็นมูลค่าส่งออก 94,500 ล้านรูปี (หรือประมาณ 898 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 29,031 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นจาก 63,900 ล้านรูปี (หรือประมาณ 664 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 21,466 ล้านบาท) หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 48 ในรูปเงินรูปี และเพิ่มขึ้นร้อยละ 35 ในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐฯ โดยในช่วงเดือนกรกฎาคม 2556 – มกราคม 2557 ราคาข้าว ที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติเฉลี่ยตันละ 616 ดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือประมาณตันละ 19,915 บาท) เพิ่มขึ้นจากตันละ 468 ดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือประมาณตันละ 15,130 บาท) หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 32

ในเดือนมกราคม 2557 ปากีสถานส่งออกข้าว 349,267 ตัน ลดลงจาก 353,267 ตัน หรือลดลงร้อยละ 1.1 เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคมของปีที่ผ่านมา โดยส่งออกข้าวบาสมาติ 52,240 ตัน เพิ่มขึ้นจาก 45,291 ตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.3 ราคาข้าวบาสมาติเฉลี่ยตันละ 1,186 ดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือประมาณตันละ 38,342 บาท) ลดลงจากตันละ 1,214 ดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือประมาณตันละ 39,247 บาท) หรือลดลงร้อยละ 2.3 เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคมปี 2556 และส่งออกข้าวที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติ 297,027 ตัน ลดลงจาก 307,722 ตัน หรือลดลงร้อยละ 3.5 เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคมของปีที่ผ่านมา ราคาข้าวที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติเฉลี่ยตันละ 693 ดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือประมาณตันละ 22,404 บาท) เพิ่มขึ้นจากตันละ 673 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคมปี 2556

ที่มา Oryza.com

มาเลเซีย

กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ คาดการณ์ว่า ในปี 2557/58 มาเลเซียจะนำเข้าข้าวประมาณ 1.1 ล้านตัน คงที่เนื่องจากความต้องการใช้ในประเทศและการผลิตมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงไม่มากนัก โดยระบุว่า ในปี 2556/57 มาเลเซียผลิตข้าวได้ 1.75 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 1.69 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 เมื่อเทียบกับปี 2555/56 เนื่องจากการปรับปรุงเทคโนโลยีการผลิต การขยายพื้นที่ปลูกในมาเลเซียตะวันออก การพัฒนาระบบชลประทาน และการใช้พันธุ์ข้าวที่ให้ผลผลิตสูง อย่างไรก็ตาม การผลิตข้าวในมาเลเซียยังคงมีข้อจำกัด เนื่องจากขาดแคลนเนื้อที่เพาะปลูก ทั้งนี้ ในปี 2557/58 คาดการณ์ว่า มาเลเซียจะผลิตข้าวได้เพิ่มขึ้นเล็กน้อย เป็น 1.8 ล้านตัน

สำหรับปริมาณนำเข้า ในปี 2557/58 มีแนวโน้มคงที่ เนื่องจากความต้องการใช้ในประเทศไม่เปลี่ยนแปลง โดยคาดการณ์ว่า ในปี 2557/58 มาเลเซียมีความต้องการใช้ในประเทศ 2.8 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 2.77 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 เมื่อเทียบกับปี 2556/57 ทั้งนี้ ในปัจจุบัน เวียดนามเป็นผู้ส่งออกข้าวไปยังมาเลเซียรายใหญ่ที่สุด รองลงมาได้แก่ ปากีสถาน และไทย ตามลำดับ กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ระบุว่า ถึงแม้ว่ารัฐบาลมาเลเซียจะยุติเป้าหมายการพึ่งพาตนเองด้านการผลิตข้าวอย่างเต็มรูปแบบ แต่รัฐบาลยังสนับสนุนการผลิตภายในประเทศเพื่อลดปริมาณการนำเข้าจากต่างประเทศ โดยเมื่อเดือนที่ผ่านมา รัฐบาลกำหนดราคาขั้นต่ำ (support price) สำหรับข้าวเปลือก ตันละ 1,200 ริงกิต (หรือประมาณตันละ 364 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณตันละ 11,768 บาท) เพื่อกระตุ้นการผลิตในปีนี้ นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีมาตรการควบคุมราคาขายปลีกข้าว ST15-grade Rice (ข้าว 15%) กิโลกรัมละ 1.65 – 1.80 ริงกิต (หรือประมาณตันละ 500 – 545 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณตันละ 16,165 – 17,619 บาท) เพื่อเอื้อประโยชน์กับกลุ่มผู้มีรายได้ต่ำ

ที่มา Oryza.com

ไอวอรี่โคสต์

สื่อท้องถิ่นรายงานว่า ไอวอรี่โคสต์วางแผนเพิ่มผลผลิตภายในประเทศ จากปัจจุบัน 520,000 ตัน เป็น 1.9 ล้านตัน ภายในปี 2559 หรือเพิ่มขึ้น 2.7 เท่า เพื่อตอบสนองต่ออุปสงค์ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรไอวอรี่โคสต์ เปิดเผยว่า รัฐบาลกำหนดเป้าหมายพึ่งพาตนเองด้านการผลิตข้าวภายใน 3 ปี โดยอาศัยการลงทุนจากต่างชาติ ทั้งนี้ นโยบายดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการลงทุนมูลค่า 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือประมาณ 129,316 ล้านบาท) เพื่อยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรของประเทศภายในปี 2559

ล่าสุด กลุ่มบริษัทของฝรั่งเศสตัดสินใจลงทุนมูลค่า 62 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือประมาณ 2,004 ล้านบาท) ในภาคเกษตรของไอวอรี่โคสต์ และคาดการณ์ว่า ข้อตกลงดังกล่าวจะสร้างงานให้แก่เกษตรกรราว 2.4 ล้านราย และช่วยเพิ่มความหลากหลายให้ภาคเกษตร นอกเหนือจากการผลิตโกโก้ นอกจากนี้ รัฐบาลยังลงนามในข้อตกลง การลงทุนกับบริษัทอื่นๆ จากประเทศ แอลจีเรีย แทนซาเนีย และเยอรมนี ทั้งนี้ บริษัทของฝรั่งเศสจะควบคุมดูแลการผลิตข้าว พัฒนาศักยภาพการสีข้าว และทำงานประสานด้านการตลาดในเขตเพาะปลูกข้าว 10 เขตของประเทศ โดยตระหนักว่า การลงทุนในภาคกสิกรรมเป็นสิ่งสำคัญเนื่องจากความต้องการใช้ในประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจุบันประชากรไอวอรี่โคสต์มีอัตราการบริโภคข้าว 63 กิโลกรัมต่อคนต่อปี

รัฐมนตรีฯ คาดการณ์ว่า ในปี 2559 ความต้องการใช้ในประเทศจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.9 ล้านตัน และการเพิ่มผลผลิตจะส่งผลให้ไอวอรี่โคสต์หันมาส่งออกข้าวได้ โดยในปี 2556 ไอวอรี่โคสต์ผลิตข้าวได้มากกว่า 1 ล้านตัน และนำเข้าข้าวประมาณ 800,000 ตัน อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ในปี 2556/57 ไอวอรี่โคสต์ผลิตข้าว 520,000 ตัน เพิ่มขึ้นจาก 500,000 ตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 4 เมื่อเทียบกับปี 2555/56 หน่วยงานของสหรัฐฯ ประมาณการว่า ในปี 2557 ไอวอรี่โคสต์นำเข้าข้าว 1.25 ล้านตัน ลดลงจาก 1.3 ล้านตัน หรือลดลงร้อยละ 3.8 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ขณะที่ ในปี 2556/57 ไอวอรี่โคสต์มีความต้องการใช้ในประเทศ 1.85 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 50,000 ตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

ที่มา Oryza.com

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 24 ก.พ. - 2 มี.ค. 2557--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ