นายอนันต์ ลิลา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์ราคากระเทียมที่เกษตรกรขายได้ที่ไร่นาว่า ปีนี้ราคาเพิ่มขึ้นทุกเกรด เมื่อเทียบกับปีที่แล้วในช่วงเวลาเดียวกัน ถึงร้อยละ 74 กล่าวคือ ในเดือนมีนาคม 2557 ราคาที่เกษตรกรขายได้ที่ไร่นากระเทียมมัดจุก แห้ง 7-15 วัน ขนาดใหญ่ มีราคาเฉลี่ย กก.ละ 85.00 บาท ขนาดกลาง ราคากก.ละ 75.00 บาท และขนาดเล็ก ราคา กก.ละ 65.00 บาท โดยเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 74 - 91 ซึ่งถ้าเป็นกระเทียมแห้งใหญ่คละ ราคาเฉลี่ยที่ กก.ละ 89.43 บาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 98 หรือแม้แต่กระเทียมสดคละก็มีราคาเพิ่มขึ้น คือ มีราคาเฉลี่ย กก.ละ 16.33 บาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 15 ทั้งนี้ เป็นเพราะผลผลิต ในปี 2556 ที่ผ่านมา มีผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยลง คือ ประมาณ 77,886 ตัน ลดลงจากปี 2555 ร้อยละ 9 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภาวะอากาศที่แปรปรวนและมีปัญหาจากหนอนกินใบทำให้กระเทียมหัวลีบไม่ได้คุณภาพ รวมทั้งในช่วงที่ผ่านมากระเทียมจีนที่นำเข้ามาขายในประเทศมีปริมาณลดลงและราคาอยู่ในระดับสูง ทำให้ผู้บริโภคหันมาใช้กระเทียมภายในประเทศมากขึ้น แต่เนื่องจากผลผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการ ส่งผลให้ในช่วงต้นฤดูการผลิตกระเทียมจึงมีราคาเพิ่มมากขึ้นดังกล่าว อย่างไรก็ตาม สำหรับการผลิตในปี 2557 คาดว่าจะมีการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 90,000 ตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 16
สำหรับการผลิตกระเทียม ปี 2557 คาดว่าจะมีผลผลิตกระจุกตัว ในช่วงเดือนมีนาคม ประมาณร้อยละ 76 ดังนั้น เกษตรกรต้องบริหารจัดการผลผลิตด้วยความระมัดระวัง และเกษตรกรควรเก็บกระเทียมแขวนไว้รอราคาจะทำให้สามารถรักษาระดับราคาให้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องได้
เลขาธิการ สศก. กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของราคาหอมแดงที่เกษตรกรขายได้ที่ไร่นา ปีนี้พบว่า ลดลงทุกเกรดเมื่อเทียบกับปีที่แล้วในช่วงเวลาเดียวกัน โดยลดลงสูงสุดถึงร้อยละ 30 ซึ่งในเดือนมีนาคม 2557 ราคาที่เกษตรกรขายได้ (สัปดาห์แรก) หอมแดงมัดจุก แห้ง 7-15 วัน ขนาดใหญ่ มีราคาเฉลี่ย กก.ละ 11.00 บาท ขนาดกลาง ราคา กก.ละ 10.00 บาท และขนาดเล็ก ราคา กก.ละ 8.00 บาท ลดลงร้อยละ 20-30 หากเป็นหอมแดงแห้งใหญ่คละราคาเฉลี่ย กก.ละ 13.02 บาท ลดลงร้อยละ 22 หรือแม้แต่หอมแดงสดคละ ก็มีราคาลดลงเช่นกัน แต่ไม่มากนัก คือมีราคาเฉลี่ย กก.ละ 5.50 บาท หรือลดลงร้อยละ 3 ทั้งนี้ เป็นเพราะผลผลิตที่ออกสู่ตลาดในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2557 มีมากกว่าปีที่แล้วในช่วงเวลาเดียวกันถึงร้อยละ 7 และคาดว่าราคาจะมีแนวโน้มทรงตัวถึงเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากผลผลิตที่ออกสู่ตลาดในช่วงนี้มากที่สุดที่ร้อยละ 27 ซึ่งคาดว่าราคาคงไม่ต่ำกว่านี้
นอกจากนี้ สาเหตุอีกประการหนึ่งที่ทำให้ราคาหอมแดงตกต่ำ คือ การส่งออกหอมแดงไปยังอินโดนีเซีย ซึ่งประสบปัญหาจากการออกกฎระเบียบการนำเข้าสินค้าหอมแดงฉบับใหม่ ที่ให้ผู้นำเข้าจะต้องยื่นคำขอใบอนุญาตการนำเข้าจากกระทรวงเกษตรของอินโดนีเซีย ซึ่งสามารถยื่นคำขอได้ทั้งปี โดยมีเงื่อนไขว่า ผู้นำเข้าสินค้าหอมแดงเมื่อได้รับการอนุญาตแล้ว ต้องนำเข้าสินค้าดังกล่าวอย่างน้อย 80% ของปริมาณที่ได้รับการอนุญาตการนำเข้าไว้ และการตั้งราคากลาง (ราคาอ้างอิง) โดยมีทีมตรวจสอบราคาสินค้าที่ตั้งโดยกระทรวงการค้าของอินโดนีเซีย โดยเงื่อนไขคือ หากราคาหอมแดงในตลาดต่ำกว่าราคากลางที่ตั้งไว้การนำเข้าสินค้าดังกล่าวจะเลื่อนออกไปจนกว่าราคาสินค้าจะกลับมาเท่ากับราคากลางที่ตั้งไว้ จึงจะอนุญาตให้นำเข้าได้ จึงคาดว่า น่าจะยังเป็นปัญหาและอุปสรรคในการส่งออกหอมแดงของไทย อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไทยจะเจรจากับรัฐบาลอินโดนีเซียเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ต่อไป
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--