นายอนันต์ ลิลา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยรายงาน OVERVIEW OF DEVELOPMENTS IN THE INTERNATIONAL TRADING ENVIRONMENT ของ WTO ฉบับล่าสุด ซึ่งคาดการณ์ว่า การเติบโตทางการค้าของโลกในปี 2557 นี้ จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 4 - 4.5 แต่ขณะเดียวกัน พบว่า มีมาตรการที่เป็นข้อจำกัดทางการค้าใหม่ๆ เพิ่มขึ้นถึง 407 มาตรการ ซึ่งนับเป็นอุปสรรคต่อการค้าระหว่างประเทศอย่างมาก อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อการนำเข้าของโลกร้อยละ 1.3 หรือคิดเป็นมูลค่า 240 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
ในเรื่องดังกล่าว ทางผู้อำนวยการองค์การการค้าโลก ยังได้มีการรายงานให้ประเทศสมาชิกทราบข้อมูลด้วยเช่นกัน ที่มีการใช้มาตรการที่เป็นข้อจำกัดทางการค้าใหม่ๆ เพิ่มขึ้นถึง 407 มาตรการ สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ในขณะที่มาตรการทางการค้าที่ถูกยกเลิกมีจำนวนน้อยกว่ามาก ทำให้ปริมาณการใช้ข้อจำกัดทางการค้าและการบิดเบือนทางการค้ายังคงเพิ่มจำนวนขึ้น โดยมาตรการที่ถูกนำมาใช้มากที่สุด ได้แก่ มาตรการเยียวยาทางการค้า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นมาตรการต่อต้านการอุดหนุน (Anti-dumping) และมาตรการปกป้อง (Safeguard) รวมถึงการเพิ่มภาษีนำเข้า และพิธีการทางศุลกากร เป็นต้น โดยจะเห็นว่าประเทศสมาชิกจะต้องร่วมกันรับความเสี่ยงจากผลกระทบที่สะสมต่อเนื่องจากมาตรการจำกัดทางการค้าที่มีอยู่แล้วและที่เกิดขึ้นใหม่ อย่างไรก็ตาม หวังว่าผลจากความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกทางการค้าจากการประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลกครั้งที่ 9 หรือ Bali Package ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา จะมีส่วนสำคัญที่จะสนับสนุนการปฏิบัติด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้าของประเทศสมาชิกได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ ประกอบกับการจัดทำความตกลงทางการค้าในภูมิภาค (Regional Trade Agreements: RTAs) ใหม่ๆ ที่เพิ่มขึ้น ทำให้การเปิดเสรีและการสร้างกฏกติกาทางการค้ามีความก้าวหน้ายิ่งขึ้น ทั้งนี้ ปัจจุบันมี RTAs รวมทั้งสิ้น 250 ฉบับ และยังมีการเจรจาต่อรองเพื่อจัดทำ RTAs ใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง
สำหรับปี 2557 จะเป็นปีที่มีความสำคัญอย่างมากต่อองค์การการค้าโลก เพราะเป็นปีที่การเจรจารอบโดฮาจะกลับเข้าสู่การเจรจาอีกครั้ง ท่ามกลางความท้าทายสำคัญ คือ มาตรการจำกัดทางการค้า และความตกลงทางการค้าในภูมิภาคที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และความโปร่งใสในมาตรการทางการค้าและมาตรการที่เกี่ยวข้อง ส่งผลต่อการปฏิรูประบบการค้าแบบพหุภาคีและการปฏิบัติตามภารกิจหลักขององค์การการค้าโลกในทุกด้านอย่างมีนัยสำคัญ
ดังนั้น ประเทศไทยจะต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนากลไกความโปร่งใสจากการใช้มาตรการ
ทางการค้า และมาตรการที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสนับสนุนกฏระเบียบภายใต้ WTO ที่มีอยู่ ให้สามารถใช้ได้อย่างมีประสิทธิผลมากที่สุด เลขาธิการ สศก. กล่าวในที่สุด
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--