นายอนันต์ ลิลา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลการศึกษาศักยภาพสินค้าเกษตรเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน กรณีศึกษาถั่วเหลืองในกัมพูชา ว่า เนื้อที่ปลูกถั่วเหลืองของกัมพูชามีแนวโน้มลดลง ในขณะที่ผลผลิตถั่วเหลืองมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยปลูกมากที่แขวงกำปงจาม พระตะบอง และกำปงธม ซึ่งการผลิตส่วนใหญ่ยังใช้เทคโนโลยีการผลิตแบบดั้งเดิม โดยผลผลิตถั่วเหลืองทั้งหมดใช้เพื่อการบริโภคภายในประเทศ ร้อยละ 20 และส่งออกร้อยละ 80 และตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ ไทย เวียดนาม ส่วนการส่งออกจะผ่านจังหวัดชายแดนที่ติดกับประเทศไทย เช่น พระตะบอง ไพลิน และติดกับเวียดนาม เช่น กำปงจาม กำปงธม ไปรเวง ด้านราคาที่เกษตรกรกัมพูชาขายได้ คิดเป็นเงินบาทไทย จะเฉลี่ยกิโลกรัมละ 11.10 - 27.74 บาท ขึ้นอยู่กับคุณภาพของเมล็ดถั่วเหลือง ซึ่งแบ่งเป็น 3 ชั้นคุณภาพ โดยถั่วเหลืองคุณภาพชั้น 1 ส่วนใหญ่ส่งออกไปเวียดนาม ในราคาเฉลี่ยตันละ 600-800 ดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนคุณภาพชั้น 2 และ 3 ส่วนใหญ่ส่งออกไป ไทย ในราคาตันละ 550 ดอลลาร์สหรัฐฯ
สำหรับการวิเคราะห์ศักยภาพการส่งออกถั่วเหลืองในตลาดโลก โดยใช้ดัชนีความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบ และการวิเคราะห์ตำแหน่งทางการตลาด พบว่า ไทยและกัมพูชาไม่มีความได้เปรียบในการส่งออกเมล็ดถั่วเหลืองไปยังตลาดโลก เนื่องจากผู้ส่งออกหลัก ได้แก่ บราซิล อาร์เจนตินา สหรัฐอเมริกา แต่สำหรับตลาดอาเซียน กัมพูชายังมีความได้เปรียบในการส่งออกเมล็ดถั่วเหลือง และตำแหน่งทางการตลาดเคลื่อนไหวจากตำแหน่งสินค้าดาวร่วง (Dogs) ไปสู่ตำแหน่งสินค้าดาวรุ่ง (Star) เนื่องจากอัตราการขยายตัวของมูลค่าส่งออกถั่วเหลือง และส่วนแบ่งตลาดถั่วเหลืองในอาเซียนสูงขึ้น จากการที่รัฐบาลกัมพูชาส่งเสริมการผลิตเพื่อการส่งออก
อย่างไรก็ตาม ไทยไม่มีความได้เปรียบในการส่งออกเมล็ดถั่วเหลือง ทั้งในตลาดโลกและตลาดอาเซียน เนื่องจากพื้นที่ปลูกถั่วเหลืองของไทยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันไทยสามารถผลิตเมล็ดถั่วเหลืองได้เพียงร้อยละ 2-3 ของปริมาณความต้องการใช้ทั้งหมด และต้องพึ่งพาการนำเข้าเมล็ดถั่วเหลืองจากต่างประเทศเป็นหลัก แต่ทั้งนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้ถั่วเหลืองดัดแปรพันธุกรรม (GMOs) เข้ามาสู่ตลาดภายในประเทศเพื่อการบริโภคในครัวเรือน และเป็นหลักประกันสำหรับสินค้าถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์ส่งออกของไทยว่าปราศจากการใช้ถั่วเหลืองดัดแปรพันธุกรรมเป็นวัตถุดิบในการผลิต จึงยังต้องมีมาตรการบริหารการนำเข้า ซึ่งการรวมเป็นประชาคมอาเซียน จะเป็นโอกาสดีที่จะนำเข้าจากกัมพูชาที่มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าไทยและลดค่าใช้จ่ายการขนส่งลงได้
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--