นายพลเชษฐ์ ตราโช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 6 ชลบุรี (สศข.6) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงความร่วมมือของคณะทำงานสำรวจข้อมูลไม้ผลเศรษฐกิจภาคตะวันออก ในการบูรณาการเพื่อจัดทำข้อมูลปริมาณการผลิตไม้ผลเอกภาพ ปี 2557 จำนวน 4 ชนิด คือ ทุเรียน มังคุด เงาะ และลองกอง ในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคตะวันออก ของจังหวัดระยอง จันทบุรี และตราด ซึ่งเป็นแหล่งผลิตสำคัญของประเทศ สำหรับเป็นข้อมูลใช้ในการวางแผนบริหารจัดการผลไม้
ผลการสำรวจในปี 2557 พบว่า เนื้อที่ยืนต้นของไม้ผลทั้ง 4 ชนิด มีจำนวน 736,575 ไร่ ลดลงจากปี 2556 ที่มีจำนวน 750,642 ไร่ (ลดลง 14,067 ไร่ หรือร้อยละ 1.87) ซึ่งเนื้อที่ยืนต้นลดลง 3 ชนิด ได้แก่ เงาะ ลองกอง และมังคุด โดยลดลงประมาณร้อยละ 5.68 5.33 และ 1.31 ตามลำดับ ส่วนเนื้อที่ยืนต้นทุเรียนเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.19
สำหรับเนื้อที่ให้ผลของไม้ผลทั้ง 4 ชนิด มีจำนวน 660,796 ไร่ ลดลงจากปี 2556 ที่มีจำนวน 672,376 ไร่ (ลดลง 11,580 ไร่ หรือร้อยละ 1.72) โดยเนื้อที่ให้ผลลดลง 3 ชนิดคือ เงาะ ลองกอง และทุเรียน ลดลงร้อยละ 6.50 2.88 และ 1.09 ตามลำดับ ส่วนมังคุด มีเนื้อที่ให้ผลเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 1.98
อย่างไรก็ตาม พบว่า ในปีนี้ผลผลิตต่อไร่ทุเรียน และเงาะ คาดว่าจะเพิ่มขึ้น ส่วนผลผลิตต่อไร่มังคุดและลองกอง คาดว่าจะลดลง โดยคาดว่าจะมีผลผลิตรวมทั้ง 4 สินค้า ประมาณ 777,532 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2556 จำนวน 14,120 ตัน (ร้อยละ 1.85) โดยเฉพาะผลผลิตรวมทุเรียน และเงาะ เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 7.97 และ 1.70 ตามลำดับ ส่วนที่ผลผลิตรวมคาดว่าจะลดลง คือ ลองกอง และมังคุด ซึ่งคาดว่าจะลดลงประมาณร้อยละ 11.30 และ 5.43 ตามลำดับ
ด้านสถานการณ์การผลิตผลไม้ในขณะนี้ พบว่า ทุเรียนส่วนใหญ่อยู่ในระยะเติบโตทางผล จะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้มากในช่วงเดือนพฤษภาคม ถึง ต้นมิถุนายน ส่วนเงาะอยู่ในระยะขึ้นลูกกำลังสร้างเนื้อและเป็นผลเล็กจะเก็บเกี่ยวได้มากในช่วงเดือนมิถุนายน มังคุดอยู่ในระยะติดผลเล็กจะเก็บเกี่ยวได้มากในช่วงเดือนมิถุนายน สำหรับลองกองการติดดอกออกผลปีนี้ล่าช้ากว่าปีที่ผ่านมามากเนื่องจากสภาพอากาศที่หนาวเย็นนานในปีนี้ไม่เหมาะสมกับการติดดอกของลองกอง จะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้มากในช่วงเดือนสิงหาคม ถึง กันยายน ทั้งนี้ ผลการสำรวจดังกล่าว เป็นข้อมูลเบื้องต้นจากการสัมภาษณ์เกษตรกรที่เป็นครัวเรือนตัวอย่างจำนวน 2,580 ครัวเรือน โดยสัมภาษณ์ข้อมูลช่วงที่ผลไม้เริ่มติดดอก ออกผลในระยะแรก ซึ่งคณะทำงานสำรวจข้อมูลไม้ผลเศรษฐกิจภาคตะวันออก จะมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อปรับค่าประมาณการผลผลิตให้สอดคล้องตามสถานการณ์ที่อาจเปลี่ยนไปซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--