1.1 การตลาด
โครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/56
ผลการดำเนินงาน
จำนวนเกษตรกรที่รับเงินกับ ธ.ก.ส. (ตั้งแต่ วันที่ 1 ตุลาคม 2555 – 31 มีนาคม 2557)
- จำนวนสัญญา 2,913,053 สัญญา
- จำนวนตัน 22,501,053 ตัน
- จำนวนเงิน 352,277.295 ล้านบาท
โครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2556/57
1) มติ ครม. วันที่ 3 กันยายน 2556 รับทราบราคา ปริมาณ วงเงินการรับจำนำข้าวเปลือกของเกษตรกร และระยะเวลาการรับจำนำโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2556/57
2) ชนิดและราคารับจำนำข้าวเปลือก ปี 2556/57 ให้กำหนดชนิดและราคารับจำนำข้าวเปลือก ปี 2556/57 ณ ความชื้นไม่เกิน 15 % ดังนี้
- ครั้งที่ 1
(1) ข้าวเปลือกหอมมะลิ (42 กรัม) ตันละ 20,000 บาท
(2) ข้าวเปลือกหอมจังหวัด (40 กรัม) ตันละ 18,000 บาท
(ข้าวหอมมะลินอกพื้นที่ 23 จังหวัด)
(3) ข้าวเปลือกปทุมธานี 1 (42 กรัม) ตันละ 16,000 บาท
(4) ข้าวเปลือกเจ้า :-
ข้าวเปลือกเจ้า 100% ตันละ 15,000 บาท
ข้าวเปลือกเจ้า 5% ตันละ 14,800 บาท
ข้าวเปลือกเจ้า 10% ตันละ 14,600 บาท
ข้าวเปลือกเจ้า 15% ตันละ 14,200 บาท
ข้าวเปลือกเจ้า 25% ตันละ 13,800 บาท
(5) ข้าวเปลือกเหนียว :-
ข้าวเปลือกเหนียว 10% เมล็ดยาว (42 กรัม) ตันละ 16,000 บาท
ข้าวเปลือกเหนียว 10% เมล็ดสั้น (40 กรัม) ตันละ 15,000 บาท
ทั้งนี้ ราคารับจำนำข้าวเปลือกหอมมะลิและข้าวเปลือกปทุมธานี 1 ให้ปรับเพิ่ม – ลดตามจำนวนกรัมในอัตรากรัมละ 200 บาท และราคารับจำนำข้าวเปลือกเหนียว ให้ปรับเพิ่ม – ลดตามจำนวนกรัม โดยเมล็ดยาว ในอัตรากรัมละ 160 บาท และเมล็ดสั้นในอัตรากรัมละ 150 บาท
- ครั้งที่ 2
(1) ข้าวเปลือกปทุมธานี 1 (42 กรัม) ตันละ 16,000 บาท
(2) ข้าวเปลือกเจ้า :-
ข้าวเปลือกเจ้า 100% ตันละ 13,000 บาท
ข้าวเปลือกเจ้า 5% ตันละ 12,800 บาท
ข้าวเปลือกเจ้า 10% ตันละ 12,600 บาท
ข้าวเปลือกเจ้า 15% ตันละ 12,200 บาท
ข้าวเปลือกเจ้า 25% ตันละ 11,800 บาท
(3) ข้าวเปลือกเหนียว :-
ข้าวเปลือกเหนียว 10% เมล็ดยาว (42 กรัม) ตันละ 16,000 บาท
ข้าวเปลือกเหนียว 10% เมล็ดสั้น (40 กรัม) ตันละ 15,000 บาท
ทั้งนี้ ราคารับจำนำข้าวเปลือกปทุมธานี 1 ให้ปรับเพิ่ม – ลดตามจำนวนกรัมในอัตรากรัมละ 200 บาท และราคารับจำนำข้าวเปลือกเหนียว ให้ปรับเพิ่ม – ลดตามจำนวนกรัม โดยเมล็ดยาว ในอัตรากรัมละ 160 บาท และเมล็ดสั้นในอัตรากรัมละ 150 บาท
3) เป้าหมายการรับจำนำ จะรับจำนำข้าวเปลือกคุณภาพดี โดยจะไม่รับจำนำข้าวเปลือกที่มีอายุน้อยกว่า 110 วัน ที่มีคุณภาพต่ำ จำนวน 18 พันธุ์ ตามที่กรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประกาศ โดยจะไม่ให้เข้าร่วมโครงการฯ ทั้ง 2 ครั้ง
4) วงเงินการรับจำนำ
- ครั้งที่ 1 ไม่เกินรายละ 350,000 บาท
- ครั้งที่ 2 ไม่เกินรายละ 300,000 บาท
5) เป้าหมายการรับจำนำ รวมจำนวน 16.5 ล้านตัน
6) ระยะเวลารับจำนำ
- ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2556 – 28 กุมภาพันธ์ 2557 ยกเว้น ภาคใต้จะสิ้นสุดวันที่ 31 กรกฎาคม 2557
- ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 1 มีนาคม – 30 กันยายน 2557 ยกเว้น ภาคใต้ระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม – 30 พฤศจิกายน 2557
7) ผลการดำเนินงาน ครั้งที่ 1
จำนวนเกษตรกรที่รับเงินกับ ธ.ก.ส. (ตั้งแต่ วันที่ 1 ตุลาคม 2556 – 31 มีนาคม 2557)
- จำนวนสัญญา 672,295 สัญญา
- จำนวนตัน 4,430,685 ตัน
- จำนวนเงิน 72,385.259 ล้านบาท
ภาวการณ์ซื้อขายข้าวสัปดาห์นี้ ราคาข้าวเปลือกที่เกษตรกรขายได้ลดลงเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากผลผลิตข้าวนาปรังเริ่มทยอยออกสู่ตลาดมากขึ้น และผู้ประกอบการบางรายชะลอการสั่งซื้อข้าว เพราะรัฐบาลมีการระบายข้าวในสต๊อกจากโครงการรับจำนำ
1.2 ราคา
1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ
ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลินาปี ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 14,051 บาท ราคาลดลงจากตันละ 14,090 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.28
ราคาข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 7,042 บาท ราคาลดลงจากตันละ 7,434 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 5.26
2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ
ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 11,260 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 11,120 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 1.26
3) ราคาส่งออก เอฟ.โอ.บี.
ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 1,026 ดอลลาร์สหรัฐฯ (33,047 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 989 ดอลลาร์สหรัฐฯ (31,908 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 3.74 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 1,139 บาท
ราคาข้าวปทุมธานี ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 614 ดอลลาร์สหรัฐฯ (19,776 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 642 ดอลลาร์สหรัฐฯ (20,713 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 4.36 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 937 บาท
ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 394 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,690 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 391 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,615 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.77 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 75 บาท
ราคาข้าวสารเจ้า 25% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 352 ดอลลาร์สหรัฐฯ (11,338 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 350 ดอลลาร์สหรัฐฯ (11,292 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.57 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 46 บาท
ราคาข้าวนึ่ง 5% ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 406 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,077 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 397 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,808 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.27 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 269 บาท
หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 32.2091 บาท
สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ
เวียดนาม
สมาคมอาหารของเวียดนาม (The Vietnam Food Association; VFA) รายงานการส่งออกข้าวช่วงวันที่ 1-27 มีนาคม 2557 มีจำนวน 371,373 ตัน มูลค่า 162.722 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยทั้งปริมาณและมูลค่าลดลงร้อยละ 47.4 และร้อยละ 47.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2556 ที่ส่งออกได้ 706,483 ตัน มูลค่า 310.446 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับการส่งออกตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-27 มีนาคม 2557 มีจำนวน 1.007 ล้านตัน มูลค่า 473.315 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยปริมาณและมูลค่าลดลงร้อยละ 30.6 และร้อยละ 26.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2556 ที่ส่งออกได้ 1.451 ล้านตัน มูลค่า 641.361 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
สำหรับชนิดข้าวที่เวียดนามส่งออกในเดือนมีนาคมประกอบด้วย ข้าวขาว 15% จำนวน 115,561 ตัน ข้าวขาว 4-10% จำนวน 114,528 ตัน ข้าวหอม จำนวน 83,193 ตัน ข้าวเหนียว จำนวน 32,701 ตัน ข้าวขาว 25% จำนวน 14,800 ตัน ตลาดเอเชียยังคงเป็นตลาดส่งออกข้าวที่สำคัญของเวียดนาม ซึ่งส่งออกจำนวน 259,532 ตัน รองลงมาเป็น ตลาดอเมริกา จำนวน 62,971 ตัน แอฟริกา จำนวน 35,746 ตัน ยุโรป จำนวน 8,169 ตัน ตะวันออกกลาง จำนวน 4,557 ตัน และออสเตรเลีย จำนวน 398 ตัน
ที่มา Oryza.com, สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย
ฟิลิปปินส์
สำนักงานอาหารแห่งชาติ (National Food Authority; NFA) ระบุว่าทางการฟิลิปปินส์ได้ประกาศเปิดประมูลนำเข้าข้าวขาว 15% (long grain white rice, 15% of which is broken and well milled) จำนวน 800,000 ตัน ในวันที่ 15 เมษายนนี้ โดยเปิดโอกาสให้บริษัทเอกชนเข้าร่วมการประมูลได้และไม่ได้จำกัดเฉพาะหน่วยงานของรัฐบาลต่างประเทศที่ฟิลิปปินส์เคยมีข้อตกลงไว้ ซึ่งกำหนดให้ส่งมอบเดือนละ 200,000 ตัน ในเดือนพฤษภาคม มิถุนายน กรกฎาคม และสิงหาคม 2557
ก่อนหน้านี้มีรายงานว่า ฟิลิปปินส์กำลังอยู่ระหว่างการหารือกรอบการนำเข้าข้าว ปี 2557 ซึ่งคาดว่ากระทรวงเกษตรและสำนักงานอาหารแห่งชาติของฟิลิปปินส์จะต้องหารือเสร็จสิ้นภายในเดือนมีนาคม โดยรายละเอียดระบุว่า รัฐบาลน่าจะนำเข้าข้าวตามปริมาณที่คาดการณ์ไว้เบื้องต้น 800,000 ตัน และอาจจะต้องนำเข้าข้าวทันที เพื่อลดอัตราเงินเฟ้อและให้ทันกับฤดูเก็บเกี่ยวของเกษตรกรในประเทศ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร กล่าวว่า รัฐบาลจะออกแผนการประมูลการนำเข้าข้าวในเร็วๆ นี้ และหวังว่าจะสามารถเร่งรัดกระบวนการตัดสินใจนำเข้าข้าวให้เสร็จสิ้นภายในเดือนมีนาคม ทั้งนี้รัฐควรใช้โอกาสนี้เร่งรัดสั่งนำเข้าข้าว เนื่องจากเป็นช่วงที่ข้าวทั่วเขตภูมิภาคเอเซียมีราคาตก ซึ่งคาดว่าประเทศที่ได้ลงนามในกรอบความตกลง (MOA) การนำเข้าข้าวระหว่างรัฐต่อรัฐกับฟิลิปปินส์จะมีการแข่งขันเสนอราคาข้าวกันอย่างดุเดือดในการประมูลข้าวครั้งนี้ โดยมีรายงานข่าวล่าสุดว่าเวียดนามได้เริ่มเตรียมความพร้อมในการเข้าร่วมเสนอราคาประมูลของรัฐบาลฟิลิปปินส์แล้ว
ปัจจุบันมีเพียงเวียดนามและกัมพูชาที่ได้ลงนาม MOA นำเข้าข้าวระหว่างรัฐต่อรัฐ (G to G) กับฟิลิปปินส์ ส่วน MOA ระหว่างไทยกับฟิลิปปินส์ได้หมดอายุไปเมื่อปลายปี 2556 ประกอบกับสภาพทางการเมืองที่ยังไม่สงบเรียบร้อยและสถานภาพของรัฐบาลชุดปัจจุบันของไทย อาจทำให้ไทยไม่สามารถต่ออายุ MOA ได้ทันเวลาที่จะเสนอราคาขายข้าวให้ฟิลิปปินส์ในเร็ววันนี้ เนื่องจากขั้นตอนของไทยก่อนที่จะมีการต่ออายุลงนามใน MOA ระหว่างรัฐต่อรัฐจะต้องผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาเสียก่อน
ทั้งนี้ ตามสถิติล่าสุดในเดือนกุมภาพันธ์ ฟิลิปปินส์มีการสำรองข้าวต่ำกว่า 15 วัน ซึ่งถือว่าต่ำกว่าระดับมาตรฐานการสำรองข้าวของรัฐ
ที่มา Oryza.com และหนังสือพิมพ์ Business World และ Manila Times, สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย
อินเดีย
ปีการผลิต 2557/58 (ก.ค. - มิ.ย.) คณะกรรมการด้านต้นทุนและราคาสินค้าเกษตร (Commission on Agricultural Costs and Prices; CACP) อาจมีการแนะนำให้รัฐบาลเพิ่มราคารับซื้อข้าวขั้นต่ำ (minimum support price) สำหรับข้าวเปลือกเกรดธรรมดา (common grade paddy) จากเดิมที่กำหนดไว้ 1,310 รูปีต่อ 100 ก.ก. (ประมาณ 220 เหรียญสหรัฐต่อตัน หรือ 7,086 บาทต่อตัน) เป็น 1,360 รูปีต่อ 100 ก.ก. (ประมาณ 227 เหรียญสหรัฐต่อตัน หรือ 7,311 บาทต่อตัน) เพิ่มขึ้นร้อยละ 4 ซึ่งตามปกติแล้วรัฐบาลมักจะเห็นชอบตามที่คณะกรรมการด้านต้นทุนและราคาสินค้าเกษตรแนะนำ
กระทรวงกิจการผู้บริโภคและอาหาร (The Ministry of Consumer Affairs, Food and Distribution) รายงานว่าการจัดหาข้าวในโครงการของรัฐบาลในปีการผลิต 2556/57 (2013-14 Kharif Marketing Season) ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2556 มาจนถึงวันที่ 7 มีนาคม 2557 รัฐบาลสามารถจัดหาข้าวได้ประมาณ 27.48 ล้านตัน ลดลง 9% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
ขณะเดียวกันรัฐบาลได้รายงานผลการประมาณการผลผลิตข้าวในปีการผลิต 2556/57 (ต.ค. - ก.ย.) ครั้งที่ 2 โดยคาดว่าในปีการผลิต 2556/57 จะมีผลผลิตข้าวประมาณ 106.2 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1 จากจำนวน 105.24 ล้านตัน ในปีการผลิตที่ผ่านมา และนับเป็นผลผลิตที่สูงสุดของอินเดีย ซึ่งตัวเลขนี้ขัดแย้งกับรายงานของบางหน่วยงานที่คาดว่าอินเดียจะมีผลผลิตข้าวเพียง 103 ล้านตันเท่านั้น
ทางการรายงานว่า ในช่วงเดือน เมษายน – ธันวาคม 2556 (ปีงบประมาณ (Fiscal year) ของอินเดีย เริ่ม เม.ย. - มี.ค.) อินเดียส่งออกข้าวมูลค่า 5.6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยส่วนใหญ่ส่งไปยังประเทศอิหร่านและซาอุดิอาระเบีย โดยคาดว่าในปีงบประมาณ 2556/57 อินเดียจะส่งออกข้าวคิดเป็นมูลค่า 7.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 21 จากปีงบประมาณ 2555/56 ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2556/57 ตลาดตะวันออกกลางยังคงเป็นตลาดส่งออกใหญ่ที่สุดของอินเดีย เช่น อิหร่าน ซาอุดิอาระเบีย ส่วนตลาดอื่นๆ ประกอบด้วย เบนิน สหรัฐอาหรับ
อิมิเรตส์ อิรัก คูเวต เซเนกัล เยเมน แอฟริกาใต้
ที่มา Oryza.com, สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย
--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 31 มี.ค.- 6 เม.ย. 2557--