นายอนันต์ ลิลา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการลงพื้นที่เพื่อติดตามสถานการณ์การผลิตสับปะรดจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 10ราชบุรี (สศข.10) ว่า จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นแหล่งปลูกสับปะรดที่สำคัญของประเทศ โดยผลผลิตส่วนใหญ่จะส่งเข้าโรงงานแปรรูปเป็นสับปะรดกระป๋อง น้ำสับปะรด และผลิตภัณฑ์อื่นๆ เพื่อส่งออก ปีละกว่า 2,300 ล้านบาท อีกทั้งเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ปลูกสับปะรดมากที่สุดในประเทศ ปลูกมากในท้องที่ อ.หัวหิน อ.สามร้อยยอด อ.เมืองประจวบคีรีขันธ์ และ อ.ปราณบุรี ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ในการนี้ จากการติดตามสถานการณ์ของ สศข.10 พบว่า จังหวัดประจวบคีรีขันธ์มีเนื้อที่เพาะปลูก ปี 2557 ประมาณ 427,156 ไร่ ลดลงจากปีที่ผ่านมา 51,094 ไร่ (ร้อยละ 11) มีเนื้อที่เก็บเกี่ยว 246,521 ไร่ ลดลงจากปีที่ ผ่านมา 5,843 ไร่ (ร้อยละ 2) ให้ผลผลิต 819,682 ตัน ลดลงจากปีที่ผ่านมา 10,653 ตัน (ร้อยละ 1) โดยคิดเป็นผลผลิตต่อไร่ 3,325 กิโลกรัมต่อไร่ เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 35 กิโลกรัมต่อไร่ (ร้อยละ 1)
ด้านนายธวัชชัย ประยูรสิน ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 10กล่าวเสริมว่า สำหรับเนื้อที่เพาะปลูก เนื้อที่เก็บเกี่ยว ลดลงจากปีที่ผ่านมาเนื่องจากปัจจุบันต้นยางพาราโตขึ้น ต้องรื้อต้นสับปะรดที่แซมออก ส่วนผลผลิตต่อไร่ เพิ่มขึ้นเนื่องจากในปีที่ผ่านมาประสบภาวะแห้งแล้ง และอากาศร้อนจัดผลสับปะรดไม่สมบูรณ์ ลูกแกร็นไม่มีน้ำหนัก แต่ในปีนี้ คาดว่าสภาพอากาศเอื้ออำนวย และมีปริมาณน้ำฝนเพียงพอต่อการเจริญเติบโต ซึ่งจากผลผลิตสับปะรดที่คาดว่าจะลดลงนั้น ส่งผลให้ราคาสับปะรดที่เกษตรกรขายได้ ณ ไร่นา เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือนมีนาคม 2557 ราคาเฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัมละ 7.80 บาท เมื่อเปรียบเทียบกับ ช่วงเดียวกันของปี ที่ผ่านมาพบว่า ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ กิโลกรัมละ 4.27 บาท หรือเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 83
อย่างไรก็ตาม แม้ภาวะราคาสับปะรดในตลาดขณะนี้จะอยู่ในเกณฑ์ดีก็ตาม แต่ควรหาแนวทางส่งเสริมและพัฒนาสับปะรดอย่างยั่งยืน เพื่อรับประกันราคาในระดับที่เหมาะสม และสนับสนุนให้เกษตรกรเพิ่มพื้นที่ปลูกสับปะรดผลสดมากขึ้น เพราะจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ แม้จะมีพื้นที่ปลูกสับปะรดมากที่สุดในประเทศก็จริง แต่ร้อยละ 90 ของผลผลิตนั้นถูกส่งเข้าโรงงานแปรรูป นอกจากนี้ ควรมีมาตรการหาตลาดที่จะรองรับผลผลิตทั้งแปรรูปและผลสดเพื่อแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นด้วย อีกทั้งควรส่งเสริมเกษตรกรใช้ปุ๋ยชีวภาพแทนปุ๋ยเคมีที่มีราคาแพง เพื่อลดต้นทุนการผลิต และเพื่อส่งเสริมการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--