นายอนันต์ ลิลา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงการประมาณการอัตราการเติบโตของ ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรไตรมาส 1 ปี 2557 พบว่า ขยายตัวประมาณร้อยละ 0.5 โดยปัจจัยสนับสนุนการขยายตัว ส่วนหนึ่งมาจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวขึ้นและค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง ส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ และส่งผลต่อเนื่องมายังราคาสินค้าเกษตรภายในประเทศให้ปรับตัวสูงขึ้น จูงใจให้เกษตรกรขยายการผลิตสินค้าเกษตร เพื่อรองรับความต้องการของตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้นสาขาพืช ขยายตัวร้อยละ 0.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2556 โดยพืชสำคัญที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ อ้อยโรงงาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพารา และผลไม้ (ลำไยและทุเรียน) ซึ่งผลผลิตอ้อยโรงงานเพิ่มขึ้น เนื่องจากเกษตรกรปรับเปลี่ยนมาปลูกอ้อยโรงงานทดแทนพืชที่ให้ผลตอบแทนน้อยกว่า สำหรับยางพารา ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีเนื้อที่เปิดกรีดหน้ายางใหม่เพิ่มขึ้น สาขาปศุสัตว์ ขยายตัวร้อยละ 0.9 โดยสินค้าปศุสัตว์ที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ไก่เนื้อ ไข่ไก่ สุกร และน้ำนมดิบ เนื่องจากสถานการณ์การผลิตโดยรวมอยู่ในภาวะปกติ มีระบบการผลิตที่ได้มาตรฐาน มีการดูแลและเฝ้าระวังการระบาดของโรคอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ สภาพอากาศเย็นในช่วงต้นปี ทำให้สัตว์เจริญเติบโตได้ดี ประกอบกับความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สาขาประมง ลดลงร้อยละ 1.3 โดยผลผลิตกุ้งทะเลเพาะเลี้ยงออกสู่ตลาดน้อยลง เนื่องจากแหล่งผลิตที่สำคัญของไทยประสบปัญหาโรคตายด่วน (Early Mortality Syndrome: EMS) ต่อเนื่องมาจากปี 2556 สาขาบริการทางการเกษตร ลดลงร้อยละ 0.5 เนื่องจากน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ คือเขื่อนภูมิพล และ เขื่อนสิริกิติ์ น้อยกว่าช่วงเดียวกันของปี 2556 ก่อให้เกิดปัญหาภัยแล้งในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังในภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบน และสาขาป่าไม้ ลดลงประมาณร้อยละ 3.3 เนื่องจากปริมาณและมูลค่าการส่งออกสินค้าและผลิตภัณฑ์สำคัญหลายชนิดของหมวดป่าไม้ลดลง ได้แก่ น้ำผึ้ง ครั่ง ไม้ยูคาลิปตัส ไม้ซุง และรังนก ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการชะลอการนำเข้าของประเทศคู่ค้าสำคัญ เช่น เยอรมนี อินเดีย และจีน ที่มีการนำเข้าน้ำผึ้ง ครั่ง และไม้ยูคาลิปตัสลดลง เพราะการเพิ่มมาตรการการนำเข้าที่เข้มงวดมากขึ้น รวมถึงผลผลิตภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น
สำหรับแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจการเกษตรปี 2557 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 2.3 - 3.3 เนื่องจากผลผลิตพืชที่สำคัญ เช่น ข้าวนาปี อ้อยโรงงาน ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และผลไม้ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ขณะที่ผลผลิตปศุสัตว์ เช่น ไก่เนื้อ สุกร ไข่ไก่ และน้ำนมดิบ ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นกัน ส่วนการผลิตกุ้งทะเลเพาะเลี้ยง คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นจากการดำเนินมาตรการในการแก้ไขปัญหาของกรมประมงร่วมกับภาคเอกชน นอกจากนี้ การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักอย่างต่อเนื่อง จะทำให้การส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์มีทิศทางที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม การผลิตทางการเกษตรในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2557 ยังคงมีความเสี่ยงอย่างมากจากภาวะภัยแล้ง รวมถึงปัญหาฝนทิ้งช่วงที่อาจยาวนานไปจนถึงต้นฤดูเพาะปลูกในเดือนพฤษภาคม 2557 ซึ่งจะสร้างความเสียหายให้กับผลผลิตสินค้าเกษตรมากยิ่งขึ้น โดยคาดว่าในปี 2557 สาขาพืชจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 2.5 - 3.5 สาขาปศุสัตว์จะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 1.5 - 2.5 สาขาประมงจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 0.5 - 1.5 สาขาบริการทางการเกษตรจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 0.8 - 1.8 และสาขาป่าไม้จะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 2.2 - 3.2
ด้านนายสุรศักดิ์ พันธ์นพ รองเลขาธิการและโฆษก สศก. กล่าวเสริมในส่วนของการคาดการณ์สินค้าเกษตรว่า สศก. ได้วิเคราะห์สถานการณ์สินค้ากลุ่มพืช ปศุสัตว์ และประมง ซึ่งพบว่า สามารถจำแนกเป็นกลุ่มสินค้าที่น่าจับตาได้ 3 กลุ่ม รวม 9 สินค้า ซึ่งประกอบด้วย 1.กลุ่มสินค้าสดใส ได้แก่ ไก่เนื้อ และ ทุเรียน 2.กลุ่มสินค้าเฝ้าระวัง ได้แก่ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อยโรงงาน ปาล์มน้ำมัน สุกร และ กุ้งแวนนาไม และ 3.กลุ่มสินค้าน่าเป็นห่วง ได้แก่ ยางพารา โดยเมื่อพิจารณาในแต่ละสินค้า พบว่า
กลุ่มสินค้าอนาคตสดใส ไก่เนื้อ คาดว่าการผลิต ปี 2557 จะมีปริมาณการผลิตไก่เนื้อ 1,141.03 ล้านตัว เพิ่มขึ้นจากปริมาณ 1,104.05 ล้านตัว ของปี 2556 ร้อยละ 3.35 ซึ่งยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้นตามจำนวนประชากรและความต้องการบริโภคทั้งตลาดภายในประเทศและตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะการส่งออกไก่สดแช่เย็นแช่แข็งไปยังญี่ปุ่นที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ขณะที่ความต้องการบริโภคยังชะลอตัว ปริมาณไก่เนื้อออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ทำให้ราคาไก่เนื้อที่เกษตรกรขายได้ เดือนเมษายน 2557 เฉลี่ยกิโลกรัมละ 41.96 บาท ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนมีนาคมที่กิโลกรัมละ 42.14 บาท หรือ ร้อยละ 0.43
ทุเรียน คาดว่า การผลิตปี 2557 มีเนื้อที่ให้ผล 0.574 ล้านไร่ ลดลงจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 0.47 ให้ผลผลิต 0.606 ล้านตัน และผลผลิตต่อไร่ 1,055 กิโลกรัม เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 6.49 และร้อยละ 7.00 ตามลำดับ โดยผลผลิตออกสู่ตลาดมากในช่วงเดือน พ.ค. – มิ.ย. 57 ประมาณ 272,114 ตัน คิดเป็นร้อยละ 44.89 ของผลผลิตทั้งหมด ด้านการส่งออก ปี 2557 (ม.ค. – มี.ค. ) มีการส่งออกทุเรียนสดและผลิตภัณฑ์รวม 39,000 ตัน มูลค่า 1,431 ล้านบาท ปริมาณลดลงจาก 58,332 ตัน ในช่วงเดียวกันของปี 2556 ร้อยละ 33.14 ขณะที่มูลค่าเพิ่มขึ้นจาก 1,125 ล้านบาท ในช่วงเดียวกันของปี 2556 ร้อยละ 27.20 โดยราคาที่เกษตรกรขายได้ เฉลี่ยเดือนมกราคม-เมษายน 2557 ทุเรียนหมอนทองเกรดคละ ราคากิโลกรัมละ 43.30 บาท เพิ่มขึ้นจากกิโลกรัมละ 29.06 บาท ในช่วงเดียวกันของปี 2556 ร้อยละ 49.02
สินค้าเฝ้าระวัง 6 ชนิด ซึ่งประกอบด้วย ข้าวนาปรัง ที่คาดว่า ปี 2557 มีเนื้อที่เพาะปลูกและผลผลิตลดลง เนื่องจากปริมาณน้ำที่ใช้การได้ในเขื่อนขนาดใหญ่ ได้แก่ เขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ มีน้อยกว่าในปี 2556 ทำให้ภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบนบางแหล่งผลิตไม่สามารถปลูกข้าวนาปรังได้หรือปลูกได้เพียงรอบเดียว สำหรับผลผลิตต่อไร่คาดว่าลดลงจากปีที่แล้ว เนื่องจากสภาพอากาศที่หนาวยาวนาน กระทบต้นข้าวในช่วงตั้งท้องถึงออกรวง ต้นข้าวชะงักการเจริญเติบโต รวมทั้งเกษตรกรขยายเนื้อที่เพาะปลูกเกินกว่าแผนการจัดสรรน้ำ ทั้งนี้ ปี 2557 คาดว่าจะส่งออกข้าวปริมาณ 8.00 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ร้อยละ 20.30 เนื่องจากตลาดต่างประเทศยังมีความต้องการนำเข้าข้าวอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งราคาข้าวไทยมีราคาต่ำลงทำให้มีโอกาสส่งออกได้มากขึ้น สำหรับราคาที่เกษตรกรขายได้คาดว่าจะมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากผลผลิตข้าวนาปรังทยอยออกสู่ตลาดมากขึ้น โดยเดือนพฤษภาคม 2557 เก็บเกี่ยวผลผลิตปริมาณ 2.60 ล้านตันข้าวเปลือก คิดเป็นร้อยละ 25.45 ของผลผลิตข้าวนาปรังปี 2557
ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ พื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2557/58 คาดว่าลดลงเนื่องจากปีที่ผ่านมาราคาอ่อนตัว เกษตรกรจึงปรับเปลี่ยนพื้นที่ไปปลูกพืชที่ให้ผลตอบแทนดีกว่า สำหรับผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่เพิ่มขึ้น เนื่องจากสภาพอากาศเอื้ออำนวย ปริมาณน้ำเพียงพอ ส่งผลให้ผลผลิตรวมเพิ่มขึ้น และคาดว่าจะเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2557/58 ในเดือนมิถุนายน ส่วนการส่งออก ปี 2557 คาดว่าจะลดลงเนื่องจากในปี 2556 มีการผลักดันการส่งออกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตามมาตรการแทรกแซงตลาด และคาดว่าราคาเกษตรกรขายได้ จะปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากการผลิตลดลงและผู้ประกอบการยังคงมีความต้องการใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
อ้อยโรงงาน ปี 2556/57 มีเนื้อที่เพาะปลูก 8.37 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นจาก 8.26 ล้านไร่ในปี 2555/56 หรือร้อยละ 1.33 ให้ผลผลิต 102.98 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 100.10 ล้านตันในปี 2555/56 ร้อยละ 2.88 เนื่องจากมีการส่งเสริมให้เกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูก ประกอบกับพืชอื่นได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมันสำปะหลัง ให้ผลตอบแทนที่ต่ำกว่า ด้านการส่งออก คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายได้กำหนดปริมาณน้ำตาลสำหรับบริโภคภายในประเทศ ปี 2557 จำนวน 2.50 ล้านตัน ซึ่งใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมาที่มีการบริโภคภายในประเทศ 2.46 ล้านตัน สำหรับการส่งออกน้ำตาล ปี 2557 คาดว่ามีปริมาณ 8.80 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 5.99 ล้านตันในปี 2556 ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2556 เห็นชอบการกำหนดราคาอ้อยขั้นต้น ฤดูการผลิตปี 2556/57 ในอัตรา 900 บาทต่อตันอ้อย
ณ ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส และกำหนดอัตราขึ้น/ลงของราคาอ้อยเท่ากับ 54.00 บาทต่อ 1 หน่วย ซี.ซี.เอส ต่อเมตริกตัน และผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น ฤดูการผลิต ปี 2556/57 เท่ากับ 385.71 บาทต่อตันอ้อย
ปาล์มน้ำมัน ปี 2557 คาดว่า เนื้อที่ให้ผลเพิ่มขึ้น เนื่องจากปาล์มน้ำมันที่ปลูกใหม่ในปี 2554 เริ่มให้ผลผลิต ส่วนผลผลิตต่อไร่ในภาพรวมลดลง ในขณะที่แหล่งผลิตภาคใต้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากต้นปาล์มที่ช่วงอายุให้ผลผลิตสูงยังคงให้ผลผลิตสม่ำเสมอ สำหรับเดือนพฤษภาคม ผลผลิตปาล์มน้ำมันจะมีประมาณ 1.247 ล้านตัน คิดเป็นน้ำมันปาล์มดิบ 0.212 ล้านตัน และคาดว่าปี 2557 การใช้ B7 จะทำให้ใช้น้ำมันปาล์มเพื่อพลังงานทดแทนมากขึ้น และเหลือส่งออกน้อยลง ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจโลกยังชะลอตัว ทำให้ปริมาณและมูลค่าการส่งออกน้ำมันปาล์มลดลง โดยราคาที่เกษตรกรขายได้คาดว่าราคาจะอ่อนตัวลง เนื่องจากช่วงเดือนมีนาคม – ตุลาคม เป็นช่วงผลผลิตปาล์มน้ำมันออกสู่ตลาดมาก
สุกร ปี 2557 คาดว่าจะมีปริมาณการผลิตสุกร 13.28 ล้านตัว เพิ่มขึ้นจาก 13.07 ล้านตัว ในปี 2556 ร้อยละ 1.61 เนื่องจากราคาสุกรที่เกษตรกรขายได้ในปี 2556 ปรับตัวสูงขึ้นและราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ลดลงเมื่อเทียบกับปี 2555 ทำให้ผู้เลี้ยงสุกรที่มีศักยภาพขยายการผลิตเพิ่มขึ้น แต่ฟาร์มสุกรประสบปัญหาสุขภาพของสัตว์ไม่ค่อยสมบูรณ์ ทำให้ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นไม่มากนัก และคาดว่าการส่งออกเนื้อสุกรชำแหละจะไม่เพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาสุกรแพง ไม่เอื้ออำนวยต่อการส่งออก ส่วนเนื้อสุกรแปรรูปคาดว่ายังคงส่งออกได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากตลาดมีความต้องการเพิ่ม สำหรับสุกรมีชีวิตที่ส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะกัมพูชา คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเช่นกัน เพราะผลผลิตสุกรของประเทศเพื่อนบ้านก็ได้รับความเสียหายจากภาวะโรคระบาดจึงต้องการนำเข้าเพิ่มขึ้น โดยราคาสุกรที่เกษตรกรขายได้ เดือนเมษายน 2557 เฉลี่ยกิโลกรัมละ 77.72 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 74.69 บาท ของเดือนมีนาคม 2557 ร้อยละ 4.06 จากการบริโภคเพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ทั้งนี้ แนวโน้มในช่วงไตรมาสที่สอง ปี 2557 คาดว่าราคาสุกรจะใกล้เคียงกับไตรมาสแรก เนื่องจากปริมาณสุกรที่ออกสู่ตลาดยังเพิ่มขึ้นไม่มาก
กุ้งขาวแวนนาไม ผลผลิตกุ้งปี 2557 คาดว่าจะมีปริมาณ 0.30 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปริมาณ 0.25 ล้านตัน ของปี 2556 ร้อยละ 20 เนื่องจากราคาจูงใจให้เกษตรกรลงกุ้งเพิ่มขึ้น แต่การเลี้ยงยังคงประสบปัญหาภาวะกุ้งตายด่วน (EMS) โดยคาดว่าการส่งออกของไทยจะมีปริมาณ 250,000 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ร้อยละ 18.48 เนื่องจากผลผลิตกุ้งเพิ่มขึ้น แต่การส่งออกกุ้งของไทยจะยังคงต้องเผชิญกับปัญหาและการแข่งขันที่รุนแรง โดยผู้ส่งออกกุ้งยังมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับระยะเวลาสิ้นสุดการใช้สิทธิ GSP ของไทยในสหภาพยุโรป สำหรับราคาที่เกษตรกรขายได้ ปี 2557 คาดว่าราคามีแนวโน้มลดลง เนื่องจากผู้ประกอบการแปรรูปไม่กล้ารับคำสั่งซื้อล่วงหน้าระยะยาว จึงไม่สต็อกกุ้งในปริมาณมาก และหันไปนำเข้ากุ้งบางส่วนจากต่างประเทศที่มีราคาถูกกว่ามาเป็นวัตถุดิบทดแทน
อย่างไรก็ตาม มีสินค้าน่าเป็นห่วง 1 สินค้า ได้แก่ ยางพารา ซึ่ง สศก. คาดว่า ผลผลิตยางพาราปี 2557 จะมีปริมาณ 3.95 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปริมาณ 3.78 ล้านตัน ของปี 2556 ร้อยละ 4.50 เนื่องจากเนื้อที่กรีดยางส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุที่ให้ผลผลิตสูง ประกอบกับมีเนื้อที่เปิดกรีดหน้ายางใหม่เพิ่มขึ้น แต่ผลผลิตต่อไร่ที่ลดลง สาเหตุจากเกษตรกรปลูกในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมและส่งผลให้ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยสูงด้วย โดยการส่งออก ปี 2557 คาดว่าจะมีการส่งออกปริมาณ 3.7 ล้านตัน ลดลงจากปี 2556 เล็กน้อย เนื่องจากภาครัฐส่งเสริมให้มีการใช้ภายในประเทศเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ราคายางพาราของไทยแพงกว่าคู่แข่ง ทำให้ผู้ซื้อหันไปซื้อจากประเทศคู่แข่ง เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนามแทน และยังแพงกว่าราคายางสังเคราะห์ ทำให้ผู้ใช้หันไปใช้ยางสังเคราะห์แทนเพื่อลดต้นทุนการผลิต โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางแบบจุ่ม เช่น ถุงมือยาง ถุงยางอนามัย ส่วนมูลค่าคาดว่าจะลดลง เนื่องจากแนวโน้มราคาส่งออกปรับตัวลดลง ประกอบกับผู้ประกอบการภายในประเทศมีสต๊อกยางเพื่อรอส่งมอบและรอขายในปริมาณมาก ส่งผลให้ราคาที่เกษตรกรขายได้มีแนวโน้มลดลงด้วย
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--