นายสมมาตร ยิ่งยวด ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 5 นครราชสีมา (สศข.5) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยภายหลังการลงพื้นที่ เพื่อออกพื้นที่สำรวจสินค้าเกษตรต่างๆ โดยจากการประชุมชี้แจงคณะทำงานภัยแล้งระดับจังหวัด ประเมินได้ว่า ปี 2557 พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างของไทย (โคราช ชัยภูมิ บุรีรัมย์ สุรินทร์) ภาคการเกษตรไม่น่าจะได้รับผลกระทบจากภัยแล้งมากนัก เนื่องจากในปี 2557 มีน้ำต้นทุนมากกว่าปีที่ผ่านมา เช่น เขื่อนลำตะคลอง มีปริมาณน้ำในเขื่อน ร้อยละ 57 เขื่อนลำพระเพลิง มีปริมาณน้ำในเขื่อน ร้อยละ 49 เขื่อนลำเชียงไกร มีปริมาณน้ำในเขื่อน ร้อยละ 60 เขื่อนลำแซะ มีปริมาณน้ำในเขื่อน 75 โดยภาพรวม ของจังหวัดนครราชสีมามีปริมาณน้ำในเขื่อน อยู่ร้อยละ 63 มากกว่าปีที่ผ่านมาในช่วงเวลาเดียวกันที่มีอยู่ร้อยละ 36 นอกจากนี้ เกษตรกร ผู้ปลูกข้าวทั้งในเขตชลประทานและนอกเขตชลประทานมีการปลูกข้าวลดลง เนื่องจากทางจังหวัดรณรงค์ให้เกษตรกรชะลอการปลูกข้าวในช่วงเดือนพฤษภาคมออกไปเป็นเดือนกรกฎาคม อีกทั้งเกษตรกรส่วนใหญ่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะปลูกพืชทนแล้ง เช่น อ้อย และ มันสำปะหลัง เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม สำหรับสถานการณ์ฝนทิ้งช่วง ซึ่งคาดว่าอาจเกิดในเดือนมิถุนายน ถึง กลางเดือนกรกฎาคมที่มักจะเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี หากเกษตรกรมีการลงมือไถหว่านช่วงเดือนพฤษภาคม อาจเกิดความเสียหายต่อสินค้าเกษตรได้ ดังนั้น ควรเพาะปลูกในช่วงเดือนกรกฎาคมแทน เพื่อลดโอกาสความสูญเสียต่อรายได้ โดยกลุ่มสินค้าปศุสัตว์ เช่น โค กระบือ สัตว์ปีก ไก่เนื้อ ไก่ไข่ และกลุ่มสินค้าประมง เช่น ปลาในกระชัง ยังไม่มีรายงานได้รับผลกระทบจากภัยแล้งแต่อย่างใด จึงคาดว่า แนวโน้มความสูญเสียภาคเกษตรของภาคอีสานตอนล่างปี 2557 นี้ จะไม่มากนัก ทั้งนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 5 จะติดตามผลกระทบกับสินค้าเกษตรเพื่อให้ทันกับสถานการณ์ต่อไป
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--