นายคนิต ลิขิตวิทยาวุฒิ รองเลขาธิการและรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สศก. ในฐานะหน่วยงานหลักร่วมในคณะผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งนำโดย นางจิราวรรณ แย้มประยูร รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ร่วมหารือกับคณะเจ้าหน้าที่บริหารระดับสูงขององค์การบริหารธัญพืชแห่งรัฐ (State Administration of Grain:SAG) จากสาธารณรัฐประชาชนจีน พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมการข้าว กรมวิชาการเกษตร สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคมที่ผ่านมา ในการนี้ นาง Zeng Liying รัฐมนตรีช่วยว่าการของ SAG ได้หยิบยกปัญหาข้าวหอมมะลิไทยมาหารือ พร้อมแจ้งว่า ที่ผ่านมาจีนได้นำเข้าข้าวหอมมะลิไทยเป็นจำนวนมาก เนื่องจากมีกลิ่นหอมและรสชาติอร่อย แต่ในระยะหลังผู้บริโภคของจีนได้ท้วงติงถึงรสชาติข้าวไทยที่มีความหอมน้อยลง
ในเรื่องดังกล่าว ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ชี้แจงยืนยันว่า กรมการข้าวได้มีการตรวจสอบพันธุกรรมข้าวหอมมะลิแล้ว ซึ่งสามารถยืนยันได้ว่า เป็นพันธุ์ข้าวหอมมะลิดั้งเดิมที่มีกลิ่นหอมเช่นเดิม ทั้งนี้ การส่งออกข้าวไทยไปตลาดจีน ในปัจจุบันมี 2 รูปแบบ คือ การส่งออกข้าวขาวหอมมะลิที่บรรจุสำเร็จจากประเทศไทย แต่เนื่องจากข้าวขาวฯ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมามีราคาที่แพงขึ้น ในขณะที่ข้าวขาวของประเทศอื่นๆ มีราคาต่ำกว่า จึงทำให้จีนมีการนำเข้าข้าวไทยน้อยลง โดยได้นำเข้าข้าวจากประเทศเหล่านั้นทดแทน อย่างไรก็ตาม ในส่วนที่ไทยยังขยายการส่งออกเพิ่มขึ้น คือ ข้าวหอมมะลิคุณภาพสูงซึ่งบรรจุสำเร็จมาจากไทย โดยมีตราสัญลักษณ์ C.C.I.C. ซึ่งเป็นการรับรองคุณภาพมาตรฐานข้าวและการปลอมปนที่เชื่อถือได้
ส่วนอีกรูปแบบ คือ การส่งออกข้าวขาวหอมมะลิในลักษณะถุงขนาดใหญ่ และผู้ประกอบการของจีนนำไปบรรจุใหม่ในจีน ซึ่งอาจเกิดการปลอมปนได้ อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการเร่งดำเนินมาตรการแก้ไขปัญหาดังกล่าวควบคู่กับตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานพันธุ์ข้าวไทยอย่างต่อเนื่องแล้ว
สำหรับด้านการส่งเสริมความร่วมมือภายใต้กลไกของหุ้นส่วนนโยบายว่าด้วยความมั่นคงอาหารเอเปคนั้น ไทยมีความประสงค์ที่จะส่งผู้เชี่ยวชาญและแลกเปลี่ยนความรู้ร่วมกัน ซึ่งให้ความสำคัญในเรื่องการส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมการปฏิรูปเศรษฐกิจและการเติบโตในปีนี้ พร้อมทั้งส่งเสริมความร่วมมือร่วมกันกับสมาชิกเอเปคอื่นๆ ตามขอบเขตที่ตกลงกันไว้
ทั้งนี้ สศก.ได้สนับสนุนให้ทางการจีนสร้างความร่วมมือในการนำเข้าสินค้าเกษตรคุณภาพดีจากองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่คัดสรรสินค้าเกษตรคุณภาพดีจากเกษตรกรมาจำหน่ายแก่ผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยให้จีนสามารถเชื่อมั่นในคุณภาพของสินค้าเกษตรจากไทยได้หากมีความร่วมมืออย่างเป็นทางการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของจีนและไทยในเรื่องนี้
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--