นางราตรี พูนพิริยะทรัพย์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 4 ขอนแก่น (สศข.4) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันชาวนาต้องประสบกับปัญหาในหลากหลายด้าน เช่น ค่าครองชีพที่สูงขึ้น ความเสี่ยงด้านราคา ผลผลิตที่แปรปรวน ความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ และความแปรปรวนของสภาพดินฟ้าอากาศ ซึ่งจากปัญหาดังกล่าว คณะทำงานขับเคลื่อนการบริหารจัดการสินค้าข้าวของจังหวัดร้อยเอ็ด ตามนโยบายการบริหารจัดการเขตเกษตรเศรษฐกิจสำหรับสินค้าเกษตรที่สำคัญ (Zoning)จึงได้จัดประชุมหารือถึงแนวทางการบริหารจัดการสินค้าข้าวของจังหวัด โดยมี ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด (นายสมศักดิ์ ขำทวีพรหม) เป็นประธานการประชุม
สำหรับผลการประชุมคณะทำงานฯ ได้มีแนวทางในการดำเนินการบริหารจัดการสินค้าข้าวของจังหวัดให้เหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่ รวมทั้งอุปสงค์ของตลาด และการรักษาเสถียรภาพของราคาข้าวในระยะยาว เพื่อให้เป็นไปตามกลไกของตลาด โดยมีเป้าหมายการดำเนินการของจังหวัดร้อยเอ็ด 2 ระยะ ดังนี้
ระยะสั้น จะมีการจัดทำโรดโชว์ และตลาดนัดภายในจังหวัด เพื่อให้ผู้ประกอบการพบกับผู้ผลิต รวมทั้งเชิญผู้ประกอบการจากพื้นที่อื่นมาร่วมงานด้วย ซึ่งจังหวัดร้อยเอ็ดจะมีแผนการเพาะปลูกข้าว (รายแปลง) ปีการผลิต 2557 ที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด รวมทั้งจัดการผลผลิตสินค้าข้าวนาปรัง ปีการผลิต 2556/57 โดยปัจจุบันจังหวัดร้อยเอ็ดมีพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปรังปี 56/57 จำนวน 251,303 ไร่ และคาดว่าจะมีปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดประมาณ 198,527 ตัน ต้นทุนการผลิต 5,200บาท /ไร่ จำนวนเกษตรกร 19,245 ราย ส่วนชนิดพันธุ์ข้าวที่ปลูก ได้แก่ ชัยนาท 1 กข 41, 47 พิษณุโลก 1,2
ระยะยาว ทางจังหวัดมีแนวทางการจัดการผลิตข้าวที่สอดคล้องกับความเหมาะสมของพื้นที่ สายพันธุ์ และความต้องการของตลาด ให้มีปริมาณเพียงพอและคุณภาพดีมีมาตรฐาน สามารถผลิตให้เพียงพอต่อการบริโภคภายในจังหวัด และส่งออกภายนอกจังหวัดทั้งในและต่างประเทศ เน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในพื้นที่ที่เหมาะสม และปรับเปลี่ยนชนิดสินค้าและรูปแบบการผลิตในเขตพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม โดยมีแผนจัดทำตลาดนัดข้าวเปลือก ที่สามารถขยายผลจากระยะสั้นให้ไปทำในระยะยาวได้ นอกจากนี้ จะจัดให้มีตลาดนัดข้าวประจำปี เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิคุณภาพดี (SEED) เพื่อจำหน่าย เน้นลดต้นทุนการผลิตเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ และสนับสนุนให้เกษตรกรผลิตข้าวสำหรับตลาดเฉพาะ เช่น ข้าวหอมมะลิ อินทรีย์ GAP, GI ข้าวเมล็ดสีต่างๆ เช่นข้าวไรท์เบอรี่ ข้าวหอมนิล ข้าวก่ำ รวมทั้งสนับสนุนให้แปรรูปผลิตภัณฑ์จากข้าวหอมมะลิ เช่น แป้ง ผลิตภัณฑ์ขนมต่างๆ และเครื่องสำอางค์ ตลอดจนสนับสนุนการปลูกพืชหลังนา ทั้งนี้ ในส่วนการส่งเสริมให้องค์ความรู้กับเกษตรกรก็เป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งทางสหกรณ์การเกษตรเกษตรวิสัย จำกัด ได้เสนอว่า ควรร่วมกันประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรมีองค์ความรู้ในการผลิตข้าวอย่างมีคุณภาพ อีกทั้งเป็นการเตรียมพร้อมกับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนด้วย นางราตรี กล่าวทิ้งท้าย
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--