เกาะติดสถานการณ์กุ้งจากปัญหาตายด่วน สศก. มั่นใจไตรมาส 3-4 ฟื้นตัวแน่

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 22, 2014 13:16 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เกาะติดสถานการณ์การผลิตและการตลาดกุ้งทะเลภาคใต้ เผย เกษตรกรยังกังวลปัญหาโรคกุ้งตายด่วน ส่งผลลดจำนวนเลี้ยงลง ระบุ ด้านการตลาดยังซบเซา คาดไตรมาส 3 และ 4 ปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงฤดูที่สามารถผลิตกุ้งได้ดี และจะเริ่มมีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นในไตรมาสที่ 3 เพื่อใช้บริโภคในเทศกาลต่างๆ ช่วงปลายปี

นายอนันต์ ลิลา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลการติดตามสถานการณ์การผลิตและการตลาดกุ้งทะเลภาคใต้ ระหว่างวันที่ 27 เมษายน– 2 พฤษภาคมที่ผ่านมา พบว่า การผลิตกุ้งยังมีปัญหาจากการตายด่วน (EMS) ในกุ้งขาวแวนนาไม ซึ่งพบมาตั้งแต่ปลายปี 2555 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เร่งดำเนินแก้ไขปัญหาดังกล่าว มุ่งเน้นการให้ความรู้แก่เกษตรกร โดยเฉพาะขั้นตอนในการเตรียมบ่อเลี้ยงโดยใช้จุลินทรีย์ ปม.1 และมีการผลิตจุลินทรีย์ ปม.1 ทั้งชนิดน้ำและชนิดผงเพื่อแจกจ่ายให้แก่เกษตรกรมากขึ้น ซึ่งผลการดำเนินงานประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม พบว่า เกษตรกรยังมีความกังวล จึงลดความเสี่ยงโดยการลดจำนวนบ่อเพาะเลี้ยงลง และเกษตรกรส่วนหนึ่งโดยเฉพาะในพื้นที่เลี้ยงแถบชายฝั่งอันดามันได้ปรับเปลี่ยนไปเลี้ยงกุ้งกุลาดำมากขึ้น

สำหรับต้นทุนการผลิตกุ้งขาวแวนนาไม สศก. พบว่า ต้นทุนต่อหน่วยของเกษตรกรสูงขึ้น แม้ว่าราคาปัจจัยการผลิต โดยเฉพาะค่าอาหารและค่าพันธุ์ไม่เพิ่มขึ้นก็ตาม แต่ต้นทุนการเลี้ยงสูงขึ้นจากอัตรารอดต่ำที่เกิดจากอาการตายด่วนของกุ้ง (EMS) รวมถึงโรคตามฤดูกาลอื่นๆ ประกอบกับมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอุปกรณ์ในการดูแลรักษาเพื่อป้องกันและเฝ้าระวังโรค จึงทำให้ปัจจุบันเกษตรกรมีต้นทุนการเลี้ยงประมาณ 150 บาทต่อกิโลกรัม

ด้านนายสุรศักดิ์ พันธ์นพ รองเลขาธิการและโฆษก สศก. กล่าวเพิ่มเติมว่า ด้านตลาดการค้ากุ้งในประเทศ พบว่ายังคงซบเซาต่อเนื่องจาก ปี 2556 เพราะแม้ว่าราคากุ้งจะยังคงสูง เมื่อเทียบกับภาวะการผลิตกุ้งในสถานการณ์ปกติ แต่ราคากุ้งเกือบทุกขนาดในช่วงไตรมาสแรกจนถึงไตรมาสที่ 2 ของปี 2557 มีแนวโน้มต่ำลง ซึ่งแม้ว่าจะมีปริมาณกุ้งเข้าซื้อขายในตลาดน้อยก็ตาม เนื่องจากคำสั่งซื้อจากต่างประเทศมีปริมาณน้อยและประเทศผู้นำเข้าส่วนหนึ่งหันไปซื้อกุ้งจากประเทศผู้ผลิตอื่นที่ไม่ประสบปัญหา EMS และมีราคาถูกกว่ากุ้งของไทย เช่น เวียดนาม อินเดีย เอกวาดอร์ เป็นต้น ประกอบกับผู้ประกอบการแปรรูปกุ้งของไทยมีการนำเข้ากุ้งจากต่างประเทศมาแปรรูปเพื่อส่งออกด้วยส่วนหนึ่ง จึงทำให้ความต้องการกุ้งในประเทศลดลงไป

อย่างไรก็ตาม คาดว่าสถานการณ์การผลิตและการตลาดกุ้งในไตรมาสที่ 3 และไตรมาสที่ 4 ของปี 2557 จะเริ่มปรับตัวดีขึ้นกว่าสองไตรมาสแรก เนื่องจากเป็นช่วงฤดูที่สามารถผลิตกุ้งได้ดี มีปริมาณน้ำเพียงพอและสภาพภูมิอากาศที่เหมาะสมต่อการเจริญโตของกุ้ง และตามปกติจะเริ่มมีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นในไตรมาสที่ 3 เพื่อใช้บริโภคในเทศกาลต่างๆ ช่วงปลายปี ทำให้มีความต้องการกุ้งจากผู้ประกอบการแปรรูปกุ้งเพื่อส่งออกมากขึ้น และคาดว่าราคากุ้งที่เกษตรกรขายได้จะปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับสองไตรมาสแรกของปี 2557 เลขาธิการ กล่าวในที่สุด

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ