สำหรับครัวเรือนเกษตรที่มีพื้นที่อยู่ในโครงการฯ มีรายได้เงินสดสุทธิทางการเกษตร รวมเฉลี่ยครัวเรือนละ 150,537.76 บาทต่อครัวเรือน โดยมีรายได้สุทธิจากพืชมากที่สุดโดยมีมูลค่า 114,146.66 บาทต่อครัวเรือน ส่วนรายได้เงินสดทางการเกษตรรวมของครัวเรือน เฉลี่ยครัวเรือนละ 246,676.38 บาท เป็นรายได้เงินสดทางพืช เฉลี่ยครัวเรือนละ 196,113.02 บาท
ส่วนรายจ่ายเงินสดทางการเกษตรรวมของครัวเรือน เฉลี่ยครัวเรือนละ 96,138.62 บาท เป็นรายจ่ายเงินสดทางพืช เฉลี่ยครัวเรือนละ 81,966.36 บาท และมีหนี้สินที่ยังค้างชำระในช่วงปลายปีเพาะปลูก 2555/56 เฉลี่ยครัวเรือนละ 112,465.81 บาท ซึ่งเป็นหนี้สินเงินกู้จาก ธ.ก.ส. ด้านการรับทราบข้อมูลข่าวสาร และสมัครเข้าร่วมโครงการฯ ของเกษตรกร ส่วนใหญ่ทราบ และสมัครจาก ผู้นำชุมชน (ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน อบต.) ซึ่งเหตุผลที่เข้าร่วมโครงการฯ พบว่า ต้องการลดรายจ่าย/ลดต้นทุน สามารถแก้ไขปัญหาทางด้านการเกษตรได้ และคาดหวังรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการเข้าร่วมโครงการฯ
ด้านความพึงพอใจของเกษตรกรต่อการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ ส่วนใหญ่มีความพึงพอใจในระดับมาก ทั้งด้านความกระตือรือร้นเอาใจใส่ในการให้บริการของเจ้าหน้าที่ ความรวดเร็วในการให้ความช่วยเหลือ มารยาทการพูดจาของเจ้าหน้าที่ และการได้รับความรู้คำแนะนำจากการอบรมที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้
อย่างไรก็ตาม เกษตรกรในโครงการฯ ยังประสบปัญหาในพื้นที่ เช่น ราคาพืชผลที่ตกต่ำ วัชพืช ศัตรูพืช โรคแมลงระบาดในนาข้าว โดยเฉพาะศัตรูพืช เช่น หนูที่ระบาดและกัดกินข้าวของชาวนา และการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่ไม่แน่นอน ทั้งภัยแล้ง และน้ำท่วม การคาดคะเนช่วงฤดูปลูกเปลี่ยนไป ส่งผลต่อการเพาะปลูก และผลผลิตข้าวของเกษตรกร อีกทั้งเกษตรกรที่ไม่มั่นใจในปัญหาเรื่องน้ำ แหล่งน้ำ อาจทำให้เกิดปัญหาการทำการเกษตรในอนาคต และต้องการให้ภาครัฐช่วยในการบริหารจัดการน้ำพื้นที่อย่างเป็นระบบ รวมทั้งเพิ่มหลักสูตรการอบรมความรู้ในเรื่องการกำจัดศัตรูพืช โรคพืช โรคแมลง เป็นต้น
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--