นายอนันต์ ลิลา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการร่วมเตรียมการประชุมคณะกรรมการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค(Regional Comprehensive Economic Partnership Trade Negotiating Committee: RCEP-TNC) ครั้งที่ 5 ณ สาธารณรัฐสิงคโปร์ ในช่วงปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาว่า การประชุม RCEP นับเป็นการพัฒนาจากแนวความคิดเดิม คือ อาเซียน+3 และอาเซียน+6 เพื่อส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ อันจะเป็นการรักษาบทบาทของอาเซียนในการเป็นศูนย์กลางขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ใหญ่ขึ้น ครอบคลุมทุกมิติทางการค้า มีการเปิดเสรีทั้งในเชิงกว้างและลึกต่อยอดจากความตกลงการค้าเสรีที่อาเซียนมีอยู่เดิม
จากการประชุมเตรียมการฯ ดังกล่าว ได้รับทราบเป้าหมายในเรื่องการเปิดตลาดสินค้าของการประชุม RCEP-TNC ครั้งที่ 5 ว่า จะมุ่งเน้นการหารือองค์ประกอบของข้อบทและรูปแบบการเปิดตลาด เพื่อรายงานความคืบหน้าการเจรจา RCEP ในการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 2 ที่คาดว่าจะมีขึ้นในช่วงเดือนสิงหาคม 2557 ทั้งนี้ ฝ่ายของอาเซียนได้จัดการประชุม ASEAN Caucus ด้านการค้าสินค้า เมื่อวันที่ 27-29 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ณ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย โดยได้ตกลงรูปแบบร่วมกันของสมาชิกอาเซียนในเรื่องต่างๆ เช่น รูปแบบการเปิดตลาดสินค้า ช่วงเวลาของข้อมูลการค้าที่จะใช้แลกเปลี่ยนกัน และการเยียวยาทางการค้า เป็นต้น
สำหรับมูลค่าการค้าสินค้าเกษตร (ไม่รวมยางพารา) ระหว่างไทยกับสมาชิก RCEP (ได้แก่ อาเซียน 9 ประเทศ และ อินเดีย จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ และออสเตรเลีย) ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา พบว่า มีมูลค่าการค้าระหว่างกันเฉลี่ย 6.53 แสนล้านบาทต่อปี โดยมีอัตราการเพิ่มเฉลี่ยร้อยละ 7 ต่อปี ซึ่งไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้าเฉลี่ย 3.38 แสนล้านบาทต่อปี และในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2557 มีมูลค่าการค้ารวม 2.38 แสนล้านบาท (เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 7) โดยไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้า 1.1 แสน ล้านบาท ทั้งนี้ สินค้าเกษตรส่งออกที่สำคัญคือ น้ำตาล อาหารปรุงแต่ง มันสำปะหลัง กุ้ง ข้าว และสินค้าเกษตรนำเข้าที่สำคัญคือ ปลา นมและผลิตภัณฑ์ ธัญพืชและผลิตภัณฑ์ ผลไม้ ซึ่งการเจรจาเปิดเสรีทางการค้ากับกลุ่ม RCEP ถือว่าจะเป็นเป็นช่องทางหนึ่งในการลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาตลาดส่งออกหลักอื่นเช่น สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป นายอนันต์ กล่าวทิ้งท้าย
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--